ธปท.พร้อมผ่อนกฎเปิดกว้างรับนวัตกรรมการเงินใหม่

ธปท.พร้อมผ่อนกฎเปิดกว้างรับนวัตกรรมการเงินใหม่

ธปท.พร้อมผ่อนกฎเปิดกว้างรับนวัตกรรมการเงินใหม่ ชี้เพื่อระบบเศรษฐกิจ และระบบชำระที่ดีขึ้น แต่ต้องไม่เป็นบ่อเกิดความเสี่ยงของวิกฤติ เผยอยู่ระหว่างพัฒนาระบบชำระเงินเอสเอ็มอีที่เรียกว่า "พร้อมบิส" และเปิดใบอนุญาต virtual bank เพื่อให้บริการการเงินผ่านระบบดิจิทัล

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านการบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวบรรยายในหัวข้อเปิดโลกนวัตกรรมทางการเงินในหลักสูตรการสอน Wealth of Wisdom:WOW จัดโดยหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ ว่า สิ่งที่ ธปท.คาดหวังในนวัตกรรมทางการเงินในระยะต่อไปคือ สถาบันการเงินจะต้องสามารถส่งผ่านจากผู้ออมไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงสุดในระบบเศรษฐกิจ ไม่เป็นบ่อเกิดความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปี 2540  และมีระบบการเงินที่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ แนวนโยบายของ ธปท. คือ โครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินจะต้องเปิดกว้างขึ้น โดยนำระบบ digital มาใช้ มีความยั่งยืน หรือ sustainable กล่าวคือ ระบบข้อมูลต้องลื่นไหล แข่งขันได้มากขึ้น และ resilient คือ ทนทาน ซึ่งกติกาของเราคือ เราจะยืดหยุ่นได้มากขึ้น หมายความว่า สถาบันการเงินจะเซได้ ล้มได้ แต่ระบบเศรษฐกิจต้องลุกได้ 

เธอกล่าวว่า ในแง่โครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องเปิดกว้างมากขึ้นนั้น สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นคือ อยากให้นอนแบงก์เข้ามาเชื่อมระบบการโอนชำระเงินกับสถาบันการเงินได้ อยากเห็นเอสเอ็มอีสามารถใช้ระบบการโอนชำระเงินดิจิทัลได้ดีมากขึ้น และอยากเห็นการเชื่อมโยงระบบดาต้าระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับสถาบันการเงิน และรวมถึง การเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็คือ Virtual Bank

สำหรับนโยบายที่ต้องการให้นอนแบงก์เข้ามาเชื่อมโยงระบบกับสถาบันการเงินนั้น เนื่องจากโครงสร้างเดิมสถาบันการเงิน เขาเป็นคนสร้างระบบหรือเรียกง่ายๆ ว่า สร้างถนน และในระยะที่ผ่านมา ได้สร้างถนนสายรองขึ้นมาเพื่อให้ระบบการโอนชำระเงินมีความสะดวก ตัวที่จุดประกายคือ ระบบพร้อมเพย์ ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้ถึง 121 ล้านบัญชี มียอดใช้งานต่อคนต่อรายการกว่า 300 รายการต่อปี แต่ขณะนี้ เราอยากให้นอนแบงก์เข้ามาใช้ถนนเส้นนี้ด้วย

“เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเดิม เราให้สถาบันการเงินเป็นคนสร้าง เขาก็เป็นคนลงทุน ฉะนั้น เขาก็ต้องคืนทุนแต่ทุกวันนี้ เราอยากเห็นระบบการโอนเงิน โดยให้มีนอนแบงก์มาเกาะเกี่ยวได้มากขึ้น ด้วยราคาที่ลดลงแต่เนื่องจาก ระบบเพย์เมนท์กำหนดโดยแบงก์ ทำให้ต้องมีการเจรจา พูดคุย หรืออาจบังคับให้เปิดกว้างแต่ก็มีประเด็นที่แบงก์กังวลคือ นอนแบงก์ไม่มีระบบมาจอยไม่ได้ เราก็บอกว่า ถ้าใครจะมาจอยต้องมีมาตรฐานด้านซิเคียวริตี้ด้วย ฉะนั้น อีกหน่อย ถ้ามีถนน ถ้าอยากข้ามถนนเปิดกว้าง ค่าทางด่วนต้องลดลงแต่ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพด้วย”

กรณีอยากเห็นเอสเอ็มอีเข้ามาใช้ดิจิทัลมากขึ้นนั้น ตอนนี้ยอดการใช้ดิจิทัลของเอสเอ็มอีต่ำมาก ฉะนั้นเป็นอีกมุมหนึ่งที่เราอยากเห็นว่า ภายใน 3-5 ปี เราต้องทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของเอสเอ็มอีที่ดีขึ้นหรือเราจะใช้คำว่า "พร้อมบิส" ซึ่งจะมาในเร็วๆ นี้ หรือภายในปี 2567

“ในระยะแรกเราอยากเห็นเอสเอ็มอีราว 3 พันแห่ง เข้ามาใช้พร้อมบิส แต่เราไม่หยุดแค่นั้น เราต้องทำให้เห็นและดึงราคาลงให้ได้ มีราคาที่ถูก แต่ไม่ฟรี ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และสิ่งที่เราปรารถนาคือ ดิจิทัลฟุตพริ้นท์หมายความว่า เอสเอ็มอีเขาจะขอสินเชื่อได้ดีขึ้น แต่อันนั้น ยังยาวไกล”

สำหรับในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอื่น กับสถาบันการเงินนั้น เธอกล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ มีระบบนิเวศน์ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคประชาชน และภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ และช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ไม่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว

“เราอยากจะเห็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอื่นกับแบงก์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือ เช่น เครือข่ายมือถือเชื่อมกับระบบแบงก์ ส่วน virtual bank นั้น เราคาดว่า จะออกเกณฑ์ได้ในปีนี้ และประกาศรับสมัครในปีหน้า ทั้งนี้ virtual bank คือ การให้บริการการเงินออนไลน์ โดยไม่ต้องมีสาขา และใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และความเชี่ยวชาญในการบริการดิจิทัล นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่มีราคาดีขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม คาดว่า จะเปิดให้บริการได้จริงราวปี 67-68”

เธอกล่าวด้วยว่า นโยบายของ ธปท.จะทำให้สถาบันการเงินสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เพื่อให้เขาช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการ แต่สิ่งที่เห็นคือ สถาบันการเงินอาจจะทำอะไรได้น้อย เพราะ ธปท.ยังมีความเป็นห่วง ดังนั้น จึงขอให้ทำได้ในวงแคบก่อน หรือที่เราเรียกว่า ทำในแซนบล็อก เพื่อให้เรารู้ว่า สิ่งที่ทำคืออะไร และน่ากลัวไหม ถ้าไม่น่ากลัว เราก็จะให้เขาทำได้มากขึ้น  

“การที่มีกฎระเบียบ ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทย แต่กฎที่เข้มขึ้น เกิดขึ้นหลังปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้เกิดปรับปรุงเกณฑ์ที่เข้มขึ้นทั่วโลก แต่การปรับเกณฑ์ทำให้ครั้งนี้ ทำให้เมื่อเจอวิกฤติโควิด สถาบันการเงินมีความมั่นคงทั่วโลก ทำให้วิกฤติโควิดไม่ระเบิด เพราะระบบสถาบันการเงินรองรับอยู่”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์