ต่างชาติขาย‘บอนด์’หนัก ส่วนต่างดอกเบี้ยพ่นพิษ

ต่างชาติขาย‘บอนด์’หนัก ส่วนต่างดอกเบี้ยพ่นพิษ

 “เงินบาท” ผันผวนหนักหลังอ่อนค่าแตะระดับ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์เชื่อ “แบงก์ชาติ” เข้าดูแล ขณะเงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลออกต่อเนื่อง เผย 8 วันทำการต่างชาติขายสุทธิ“หุ้น-บอนด์”กว่า 3.23 หมื่นล้าน กูรูชี้ส่วนต่างดบ.เริ่มมีผล

สถานการณ์เงินบาทไทยในวานนี้(20 ต.ค.) เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยช่วงเช้าของวันเงินบาทเริ่มกลับมาเผชิญแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่าอีกครั้งจนแตะระดับ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดครั้งใหม่ในรอบ 16 ปี นับจากปี 2549 แต่หลังจากนั้นไม่นาน เงินบาท เริ่มกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับต่ำสุดของวันที่ 38.08 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะมาปิดตลาด ณ สิ้นวันที่ 38.14 บาทต่อดอลลาร์

การอ่อนค่าของเงินบาทถือว่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะค่าเงินเยน ซึ่งวานนี้ทำสถิตอ่อนค่าสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปี หลังจากอ่อนค่าลงแตะระดับ 150.09 เยนต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ส่วนหนึ่งยังอาจเป็นผลจากเงินทุนที่เริ่มไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร (บอนด์) ด้วย โดยในช่วง 8 วันทำการที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์รวมกันกว่า 32,344 ล้านบาท แบ่งเป็น การไหลออกในฝั่งตลาดหุ้น 7,347 ล้านบาท แม้ว่าเมื่อวานนี้จะเริ่มกลับมาซื้อสุทธิราว 2,546 ล้านบาท ส่วนฝั่งตลาดบอนด์ขายสุทธิรวม 24,997 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเทขายต่อเนื่องตลอดทั้ง 8 วันทำการที่ผ่านมา

 

เชื่อ ธปท. เข้าดูแลค่าเงินบาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าจนใกล้แตะระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจจะเข้ามาดูแลบ้าง เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป ส่งผลให้เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย

เธอกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ตลาดเงินโลกช่วงนี้ค่อนข้างอึมครึม โดยถ้าดูอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) รัฐบาลสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปี ปรับขึ้นทะลุ 4% ทำนิวไฮครั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2551 กดดันสกุลเงินเอเชีย อย่างเงินรูปี อินเดีย ปรับตัวอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าแตะระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปีครั้งใหม่ จึงมองว่าธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาคเอเชีย น่าจะเข้ามาดูแลค่าเงินของตัวเองไม่มากก็น้อย ซึ่งรวมถึงเงินบาทด้วย 

ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายของวานนี้ มาจากกระแสข่าวทางการจีนอาจพิจารณาลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศจากเดิม 10 วัน เหลือ 7 วัน แม้จะยังไม่ได้มีการยืนยันข่าวดังกล่าวอย่างชัดเจนก็ตาม แต่

 

‘เงินบาท’อาจแตะ 39 ต่อดอลลาร์

สำหรับธนาคารกรุงศรี มองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ เชื่อว่าจะอยู่ในกรอบ 37.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างวันเงินบาทผันผวนมาก บางวันระดับ 0.40 บาท หรือบางสัปดาห์ระดับ 1 บาทดังนั้นช่วงนี้จนถึงสิ้นปีนี้ ยังเห็นเงินบาทผันผวนอ่อนค่า ถึง 39 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยตลาดยังคงรอติดตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) 

“เชื่อว่าเงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าจนถึงระดับ 40 บาทต่อลลาร์ เพราะการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียตอนนี้ค่อนข้างมาไกลมาก แต่ถึงจุดหนึ่งแม้เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไปเฉียดระดับ 5% มองว่าตลาดพันธบัตรและตลาดที่เกี่ยวข้องกับเครดิต ขาดเสถียรภาพอย่างน่ากังวล หากถึงตรงนี้มีความปั่นป่วนหรือตื่นตระหนกในตลาดพันธบัตรขึ้นมาเชื่อว่าเฟดอาจกลับท่าทีขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลง เพื่อไม่ให้ตลาดการเงินตึงตัวมากจนเกินไป”

สำหรับแรงขายในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขายสุทธิมาต่อเนื่อง 8 วันทำการ เชื่อว่าเป็นเพียงการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติ หลังส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยิลด์ระหว่างไทยสหรัฐเริ่มกว้างมากขึ้น

 

ต่างชาติปิดสถานะชอร์ตบาท

นายพูน พานิชพิบูลย์นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงจนใกล้ระดับแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากเงินหยวนที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าจนใกล้ระดับ 7.23 หยวนต่อดอลลาร์ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีตาม เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าในช่วงบ่ายของวานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับสถานะของผู้ลงทุน โดยเริ่มมีการขายทำกำไรโดยปิดสถานะชอร์ตค่าเงินบาท ด้วยการหันมาซื้อเงินบาททำให้เริ่มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการที่เงินเยนเริ่มกลับมาแข็งค่าหลังอ่อนค่าแตะระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ มีผลทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งส่งผลดีต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยด้วย

นายพูน กล่าวว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ ตราบใดที่ตลาดยังคงอยู่ในสถานะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดมองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นจนแตะระดับ 5.25% ในต้นปีหน้า 

ส่วนแนวต้านสำคัญของเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับจะอยู่ที่บริเวณ 37.90-38.00 บาทต่อดอลลาร์ 

 

ต่างชาติขายบอนด์ไทย 5.4 หมื่นล.

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติยังขายสุทธิในตลาดบอนด์ไทยที่ 54,000 ล้านบาท เป็นการขายทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาวในระดับใกล้เคียงกัน

หากเทียบแรงขายต่างชาติ ในเดือนต.ค.นี้ ยังพบว่า ต่างชาติ ขายสุทธิ ราว 22,000 ล้านบาท ในระดับเดียวกับเดือน ก.ย.ขายสุทธิระดับ 22,000 ล้านบาท เป็นแรงขายตามทิศทางส่วนต่างบอนด์ยิลด์และดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐที่กว้างมากขึ้น แนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้ คาดว่า มีทิศทางไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยได้อยู่

อย่างไรก็ตาม แรงขายในตลาดบอนด์ไทยถือว่าสอดคล้องกับตลาดบอนด์ประเทศอื่นในภูมิภาค และพบว่า บอนด์ไทยถูกขายน้อยกว่า สะท้อนยังมีเสถียรภาพและในบางช่วงต่างชาติยังมองตลาดบอนด์ไทย เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แค่อาจจะไม่ใช่ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากช่วงนี้เท่านั้น ซึ่งยังต้องติดตามนโยบายการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างใกล้ชิด