คปภ. เผยผลตอบรับงาน TIF 2022 เกินคาด ยอดซื้อประกัน เบี้ยทะลุพันล้านบาท

คปภ. เผยผลตอบรับงาน TIF 2022 เกินคาด ยอดซื้อประกัน เบี้ยทะลุพันล้านบาท

คปภ. เผยผลตอบรับงาน TIF 2022 เกินคาดมียอดซื้อประกันสูงกว่า 1,063 ล้านบาท จำนวน 19,365 กรมธรรม์ ทุนประกันภัยรวมมากกว่า 9,200 ล้านบาท และมี tech startup ต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่ยอดซื้อประกันภัยในงานทะลุเป้า เตรียมจัด TIF ปีหน้ายิ่งใหญ่กว่าเดิม

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2022”เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 และทางออนไลน์ www.TIF2022.com

ผลตอบรับดีเกินคาดโดยมียอดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภายในงาน มีเบี้ยประกันภัยสูงถึงกว่า 1,063 ล้านบาท จำนวนกรมธรรม์รวมมากกว่า 19,365 กรมธรรม์ มีทุนประกันภัยรวมมากกว่า 9,200 ล้านบาท

แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัย 905 ล้านบาท 7,544 กรมธรรม์ ผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัย 158 ล้านบาท 11,821 กรมธรรม์

อีกทั้งยังมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังสัมมนาจำนวน 35,161 ราย มี Seminar Sessions ในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจกว่า 17 หัวข้อ จากวิทยากร 27 คน จากหลายประเทศ Exhibition Hall มีบริษัทประกันภัย และหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และธนาคาร รวมทั้งมีบริษัท Tech firm และ InsurTech Start up ทั้งจากใน และต่างประเทศ รวมผู้เข้าร่วมจัดงานมากกว่า 80 แห่ง

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 202,389 คน แบ่งเป็น On ground  จำนวน 43,821 คน Online จำนวน 158,568 คน Business Matching การจับคู่ทางธุรกิจผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และสานสัมพันธ์ทางธุรกิจเพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทในวงการประกันภัย มีผู้สนใจเข้าร่วมพูดคุยธุรกิจจำนวนกว่า 300 ราย

นายสุทธิพล กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลทำให้การจัดงานประสบความสำเร็จมาจากกิจกรรมต่างๆ ภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วยการที่เป็นงาน InsurTech ที่ครบวงจรงานเดียวของประเทศ ที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการประกันภัย และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย มีการจัดงานในรูปแบบ Hybrid ผสมผสานรูปแบบ online event และ onsite event ควบคู่กัน  

นอกจากนี้ ด้าน Start up ของไทย ก็มีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุปกรณ์จับคลื่นเสียง ตรวจการล้มของผู้สูงอายุภายในบ้านอัตโนมัติ เพื่อเรียกกู้ภัย และรถพยาบาล ให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ด้าน Tech Start up ของต่างประเทศ ที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ทำ platform กลางเพื่อรับส่งข้อมูลกลางระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยทุกบริษัท รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ OIC Gateway + IBS ของสำนักงาน คปภ.

ทางด้าน metaverse เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยมี startup ผู้ให้บริการบน metaverse หลายเจ้า ซึ่งสามารถสร้างสิ่งที่อยู่ในไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นการขาย หรือการให้บริการต่างๆ แบบ เสมือนจริง แบบล้ำสมัยให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยฝีมือคนไทยเอง

เช่น Digital Marketing Platform แนวใหม่ ที่ผสานความสนุกของเกมการท่องเที่ยว และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในยุค Web 3.0 ให้เกิดสะพานเชื่อมต่อคุณค่าจากโลกดิจิทัล มาสู่ธุรกิจในโลกจริง และนวัตกรรมประกันภัยอื่นๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น Artificial Intelligence (AI) ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันภัยได้อย่างเหมาะสม Blockchain ที่ช่วยลดต้นทุน และขั้นตอนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการประกันภัย และ Machine Learning (ML) ที่ช่วยในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง 

"ในปีนี้ไม่ได้ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ที่ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเท่านั้น แต่สำนักงาน คปภ. อยากเห็นการยกระดับการประกันภัยเข้าสู่มาตรฐานสากล และมุ่งสู่ Digital Insurance Ecosystem ผมขอขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่บูรณาการร่วมกันจัดงาน TIF ปีนี้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเริ่มเตรียมการให้ดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าในปีหน้าการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2023” จะยิ่งใหญ่กว่าปีนี้”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์