เอสเอ็มอีแบงก์ขอคลังเพิ่มทุน6พันล้านหนุนสภาพคล่องเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีแบงก์ขอคลังเพิ่มทุน6พันล้านหนุนสภาพคล่องเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีแบงก์ขอคลังเพิ่มทุน 6 พันล้านบาท พร้อมลดเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้า หวังเติมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีและลดภาระหนี้เสีย ขณะที่ 8 เดือนแรกช่วยปรับโครงสร้างหนี้ตามเกณฑ์ธปท.แล้ว 1.4 หมื่นราย วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท คาดหนี้เสียปีนี้อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้าน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.)เปิดเผยว่า ธพว.เตรียมเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาเพิ่มทุนอีก 6 พันล้านบาท  เพื่อนำมาใช้ปล่อยกู้ช่วยเหลือเติมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังโควิด และความผันผวนจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

หลังจากตลอด 2-3 ปีทีผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยกู้ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง รองรับการใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่สถาบันการเงินของรัฐจะเริ่มใช้พร้อมกันในปี 68

“ที่ผ่านมา ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ปี 47-63 ส่งผลให้ธนาคารมีทุนเรือนหุ้นทั้งสิ้น 3.6 หมื่นล้านบาท และหากเพิ่มทุนอีก 6 พันล้านบาท จะทำให้ธนาคารมีทุนเพิ่มเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท เพียงพอสำหรับนำไปใช้ขยายภารกิจช่วยเติมสภาพคล่อง และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหน้าใหม่ได้เพิ่มขึ้น และมาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่จะเริ่มใช้ในอนาคต”

นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนขอให้คลังพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อ สำหรับปล่อยช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่ละรายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท เป็นรายละ 100-200 ล้านบาท เพราะมองว่าวงเงินปัจจุบันไม่เพียงพอ รองรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่ต้องการวงเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจ รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  ขณะเดียวกัน ยังต้องการเดินหน้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร ที่ต้องยกระดับผู้ประกอบการจากกลุ่มขนาดเล็ก ก้าวสู่กลุ่มขนาดกลาง และเติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

สำหรับผลดำเนินงาน 8 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน เสริมสภาพคล่อง วงเงินรวมกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับยอดเบิกจ่าย ณ ส.ค. 64 อยู่ที่  2.9 หมื่นล้านบาท

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายสิ้นปี 65 จะสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1.66 หมื่นล้านบาท  เมื่อเทียบปี 64

ขณะที่  ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ ส.ค. 65  อยู่ที่ 111,385 ล้านบาท และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการพาเข้ามาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ปี 65 (ม.ค.-ส.ค.65) 1.47 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนเดินหน้าบทบาท ธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมอบรม สัมมนา เพิ่มศักยภาพ ยกระดับธุรกิจ พร้อมบริการด้าน การพัฒนา ควบคู่ให้ด้วย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมแล้วประมาณ 1 หมื่นราย

เธอกล่าวด้วยว่า ธนาคารยังพร้อมลดเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไป และ ลดปัญหาในการเป็นหนี้เสียต่อธนาคาร

เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องลดต่ำลง เช่น ในกลุ่มที่มีภาระเงินกู้อยู่ที่ 10 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ก็ยังสามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ตามปกติ เนื่องจาก มีรายได้หรือมียอดขาย ประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ยอดขายลดลงเหลือเดือนละ 1 แสนบาท ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ ลดลง  หากธนาคารไม่เข้าไปช่วยลดต้น และดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ที่เคยเป็นลูกค้าที่ดีชำระหนี้ได้ตามปกติ ก็จะทำให้ลูกค้ารายนี้กลายเป็นหนี้เสียทันที

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในขณะนี้นั้น เธอกล่าวว่า ทางธนาคารจะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุดเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ปัจจุบัน ดอกเบี้ย MLR ของธนาคารอยู่ที่ 6.75%   แต่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับลูกค้าบางรายในระดับที่ต่ำกว่า MLR  ซึ่งในภาพรวมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ 5%

ในกรณีที่ลูกค้าเงินกู้ มีภาระหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย เช่น บางรายเป็นลูกหนี้ของธนาคารแล้ว ยังมีภาระหนี้บัตรเครดิตหรือ เป็นหนี้กับบริษัทลีสซิ่งด้วย จำเป็นที่เจ้าหนี้รายอื่นๆจะต้องให้ความร่วมมือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม บางธุรกิจที่เป็นหนี้ธนาคาร จำเป็นต้องปรับตัวเอง หากธุรกิจเดิมที่ตัวเองทำอยู่ ไม่สามารถเดินหน้าได้ต่อไป จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจ บางคนเคยทำธุรกิจขายที่นอน ต้องปรับตัวเองมาขายน้ำพริก เป็นต้น

เธอกล่าวด้วยว่า ในอนาคตเมื่อระบบ Core banking ของธนาคารแล้วเสร็จในปี 2567 ธนาคารจะยื่นขออนุมัติจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในการรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินในการปล่อยกู้แก่เอสเอ็มอีที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ธปท.จะอนุมัติให้ธนาคารสามารถรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปได้ จำเป็นที่ ธปท.จะต้องมั่นใจก่อนว่า ธนาคารมีความมั่นคงเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหนี้เสียที่จะต้องไม่สูงเกินไป และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ ธปท.ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 8.5%

ปัจจุบัน ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 14% และมีหนี้เสียอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของสินเชื่อคงค้างของธนาคาร ซึ่งภายในสิ้นปีนี้ ธนาคารคาดว่าระดับหนี้เสียจะลดลงเหลือ 1.3 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลการกันสำรองของธนาคาร ณ ปัจจุบัน ณ ส.ค.นี้ ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรอง ประมาณ 1.14 หมื่นล้านบาท คิดเป็น Coverage Ratio อยู่ที่ 82.51% ของหนี้เสีย ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 40.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ที่ 41.91%

เธอยังกล่าวถึงกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ( SFI) จะต้องนำมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ ( Thai Financial Reporting Standards 9 : TFRS9 ) มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคารลดลง หากภาครัฐไม่เข้ามาเพิ่มทุนให้กับธนาคาร โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลงเหลือ 9%

ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าธนาคารจะมีหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญเพียง 1.14 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามมาตรฐานบัญชีปัจจุบัน จะต้องสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญให้เต็ม 100% แต่หากนำมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่มาใช้ในปีดังกล่าว ระดับการกันสำรองจะเพิ่มขึ้นเป็น 120% ของหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ

TFRS9 เป็นเครื่องมือทางบัญชี สำหรับกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสาธารณะ เช่น สถาบันการเงิน โดยเปลี่ยนแนวคิด จากเดิม ที่ให้กันสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) มาเป็นการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ( Expected Loss)เพื่อให้เงินสำรองสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุการกู้ของลูกค้า ทั้งนี้มาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าว ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. ปี 2563 แต่แบงก์รัฐขอเลื่อนการใช้มาในปี 2568