แบงก์ชาติ เดินหน้ากด“หนี้ครัวเรือน”สู่ระดับ80%

แบงก์ชาติ เดินหน้ากด“หนี้ครัวเรือน”สู่ระดับ80%

แบงก์ชาติเปิดภารกิจปี 2566 ปูรากฐานสู่ความยั่งยืน ชู 5หางเสือ สู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในระบบการเงิน ต้องทำให้เศรษฐกิจไม่สะดุด ดูหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงเกินไปในระยะยาว จนเกินระดับความยั่งยืนที่80% เดินหน้าช่วยภาคธุรกิจปรับตัวรับ “กระแสกรีน”

แบงก์ชาติ เดินหน้ากด“หนี้ครัวเรือน”สู่ระดับ80%       “ภาคการเงิน”ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความ “มั่นคงยั่งยืน”ต่อระบบเศรษฐกิจไทย  แต่อีกด้านหากภาคการเงิน “อ่อนแอ” เหล่านี้ก็อาจนำมาสู่ “วิกฤติ” นำมาสู่ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

      “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญ ที่เป็นฟันเฟืองหลักในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผ่านการวางรากฐาน การสร้างความแข็งแกร่งในระบบการเงิน เพื่อเป็น “กันชน”สำคัญให้ภาคการเงินของไทยเข้มแข็ง ให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอน หรือวิกฤติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต

    “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภารกิจของธปท. หรือเรียกว่า “งานหางเสือ” ที่สำคัญ ในปี 2566 หลายเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้วและต้องทำต่อเนื่อง 

     งานหางเสือที่ว่า มี 5 หางเสือที่สำคัญ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้ต่อระบบภาคการเงิน และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

    “หางเสือแรก” คือการทำอย่างให้ ที่ภาคการเงินจะช่วยให้เศรษฐกิจไทย เกิด Smooth take off ซึ่งถือเป็น Priority หลักเมื่อเริ่มเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัว 

     แล้วอะไรที่ทำให้ Smooth take off ไม่เกิด หรือสะดุด “เงินเฟ้อ” หากสูงเกินไป หรือภาวะการเงินตึงตัวเกินไปจนระบบการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้ นั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมธปท.จึงต้องปรับการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ “Normalization” แต่ยังต้องดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป Gradual and Measured เพื่อให้เหมาะกับบริบทที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ ​

      “หางเสือที่สอง” หนี้ครัวเรือน การที่จะให้มั่นใจว่า Smooth take off ไปต่อได้ และเกิดการฟื้นตัวยั่งยืนได้ สิ่งที่สำคัญ คือต้องดูแล “หนี้ครัวเรือน”ให้อยู่ในระดับยั่งยืน

     จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ระดับสูงที่ 90% จากก่อนวิกฤติที่อยู่ระดับ 80%  ซึ่งถือว่าสูงเกินไปไม่เหมาะกับความยั่งยืน เพราะหากดูจาก ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่วัดระดับความยั่งยืนหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี ดังนั้นการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูงอาจส่งผลให้การฟื้นตัว “สะดุด”ได้ 

     จึงเป็นเหตุผลที่ผ่านมา ในการออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยลดหนี้ในระบบ เช่น “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” และการส่งเสริมให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ Responsible Lending 

    “ทุกอย่างนี้ อยากจะย้ำว่า ไม่เร็ว และต้องใช้เวลา ไม่มีอะไรที่เป็นยาวิเศษที่จะเห็นผลได้ทันที แต่เราต้องทำให้ถูกต้อง อย่าสร้างวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard การแก้ตรงจุด อย่าทอดแห และผลักภาระหนี้ไปในอนาคต”

     “หางเสือที่สาม” กระแส Green ความยั่งยืน ซึ่งบทบาทของธปท.คือ สนับสนุนภาคการเงินให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้ จึงนำมาสู่การ “Direction Paper” เรื่อง Green ในช่วงที่ผ่านมา และอนาคตจะเห็นการกำหนดหลักการ มาตรฐานต่างๆที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้การไปสู่กระแสนี้มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น  

     “หางเสือที่สี่” คือ “ดิจิทัล” ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นตัวที่ทำให้เกิดการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต เช่นที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยทำเรื่องพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด หรือการเชื่อมต่อเพื่อนบ้านผ่าน Paynow ที่ทำกับสิงคโปร์คู่แรกในโลก และอนาคต จะเห็นการพัฒนาระบบการชำระเงินใหม่ๆ เห็นการเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆมากขึ้น หรือ ระบบการชำระเงิน สำหรับภาคธุรกิจ หรือเอสเอ็มอี อย่าง PromtBiz ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้านี้ เหล่านี้ก็สะท้อนว่าไทยไม่ได้ล้าหลัง     

​     และสุดท้าย “หางเสือที่ห้า” คือ HROD เป็นเรื่องของภายในธปท.เอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรที่อยู่มา 80 ปี แต่องค์กรจะต้องพร้อมเพื่อที่จะขับเคลื่อนภารกิจ 4 หางเสือให้เดินต่อไปได้  

     ท้ายที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะไปทางไหน  แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการปูพื้นฐาน เพื่อให้เกิดของใหม่เกิดขึ้น สร้างโอกาสของใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้​

     “ที่เป็นคำมั่นสัญญา คือ เราเน้นเรื่องของ execution การดำเนินการ และ implement การทำให้เกิดขึ้นจริง เราจะไม่เน้นการยิงพลุมากกว่าทำอะไรที่ประกาศเป็นสีสัน ไม่มีการติดตามไม่ใช่ สังเกตว่าสิ่งที่เราคุย ตลอดเวลา เราพยายามมีเป้า เพราะเราต้องการให้ทุกเรื่องชัดเจน” 

     “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ในภาคการเงิน มี 3 หางเสือที่สำคัญ ทั้งหนี้ครัวเรือน กระแสของ Green โจทย์ของภาคการเงินในยุคการเงินดิจิทัลที่จะต้องตอบโจทย์ในระยะข้างหน้า

      ​ซึ่งหลายเรื่องที่ธปท.จะทำ ต้องคำนึงถึงหลายบริบทด้วยกัน หากจะทำเร็วเกินไปในบ้างเรื่อง ก็จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในด้านความสามารถการแข่งขันหรือมีผลต่อลูกหนี้เองที่อาจได้รับการบริการทางการเงินไม่ทั่วถึง แต่หากทำช้าเกินไป อาจมีผลต่อ “เสถียรภาพ”ของระบบการเงินในจะตอบโจทย์ในระยะยาว

      ดังนั้นสิ่งที่จะออกมา ต้องอยู่บนบริบทของ การออกมาอย่างถูกจังหวะ ถูกเวลา และตอบโจทย์ได้ หลายเรื่องไม่สามารถแก้เบ็ดเสร็จได้ภายในปี 1-2ปี แต่สิ่งที่สำคัญคือการแก้ให้ถูกจุด แก้ให้ถูกเวลา และทำให้โครงสร้างพื้นฐานแหล่นี้ไปสู่ความยั่งยืนได้ 

​     หางเสือแรก “หนี้ครัวเรือน”ที่ต้องแก้ คือการลดหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ทำมาตั้งแต่ก่อนโควิดด้วยซ้ำ แต่วันนี้ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังมีกลุ่มเปราะบาง บางภาคธุรกิจ เช่นกลุ่มท่องเที่ยว ที่ยังไม่ฟื้นตัว และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บางผลิตภัณฑ์ก็ยังไม่ตอบโจทย์ลูกหนี้ได้อย่างครบถ้วน 

      จึงนำมาสู่ การแก้หนี้ ผ่าน เรื่องมหกรรมแก้หนี้ในช่วงที่ผ่านมา และเรื่องที่เพิ่มเติม คือคลินิกแก้หนี้ ที่มุ่งแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ภายใต้การแก้หนี้สมการแก้หนี้ เพียงด้านเดียว แต่ปัจจุบันเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้มีหลายทางเลือกได้มากขึ้น 

      ดังนั้นหางเสือแรก คือการแก้หนี้ปัจจุบัน ให้สามารถลดหนี้ได้ ไม่เป็นภาระกับลูกหนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจเช่นนี้

     ทั้งนี้ หากดูหนี้ครัวเรือนปัจจุบันพบว่า หนี้ราว65% เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ หนี้ที่จำเป็น อย่างสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ  แต่อีก35% เป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นำไปใช้อุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และอื่นๆ

     "หนี้ 35% ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าเป็นหนี้ไม่ดีทั้งหมด ดังนั้นการแยกตรงนี้ว่าดีไม่ดี และลดหนี้ครัวเรือนให้ลดลงสู่ระดับยั่งยืนที่ 80% ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่เห็นผลเร็วนัก การทำต้องระมัดระวัง เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต"

     อีกด้านที่สำคัญมาก คือการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้บริบทนี้เกิดขึ้น ก็อยู่ที่ สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบ ต่อลูกหนี้ หรือ Responsible Lending ซึ่งมีหลายมิติดัวยกันในเรื่องนี้ 

     ด้านแรก ที่สำคัญ คือ ต้องไม่ให้สถาบันการเงิน “กระตุก”พฤติกรรม ของผู้กู้ ให้ก่อสร้าง เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวลูกหนี้เอง ซึ่งจะออกมาในไตรมาสแรกปีหน้า 

    ด้านที่สองคือ การให้สินเชื่อ ที่สถาบันการเงิน ไม่เพียงแต่พิจารณาเฉพาะความสามารถจ่ายหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น ว่าจ่ายได้หรือไม่ แต่ต้องดูไปถึงว่า ลูกหนี้มีเงินเหลือในการดำรงชีพหรือไม่  แต่เรื่องนี้ ต้องทำอย่างระมัดระวังในการออกหลักเกณฑ์ หรือการออกแนวปฏิบัติต่างๆ เพราะหากทำเร็วเกินไป อาจทำให้ลูกหนี้ได้รับผลกระทบได้ ดังนั้นต้องดูไทม์มิ่งในการออกว่าจะออกอย่างไร คงต้องรับฟัง และดูเรื่องจังหวะเวลาตรงนี้ 

      ฉะนั้น เฟสแรก ที่จะออกมา คือ ให้สถาบันการเงิน ไม่ออกผลิตภัณฑ์อะไรที่ไม่กระตุกผู้กู้ และเรื่องที่สอง เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ที่พิจารณาไปถึงรายได้สุทธิของลูกหนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องดูไทม์มิ่งอีกครั้ง เพื่อทำให้คุณภาพหนี้ในอนาคตเกิดคุณภาพมากขึ้น

      และเรื่องที่สาม บทบาทเจ้าหนี้เอง และความรู้ทางการเงิน วินัยทางการเงิน ที่ยังมีอะไรที่ต้องทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้อีกมากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการให้ความรู้ทางการเงินที่อาจเริ่มที่ กลุ่มอาชีวะ ที่อาจต้องมีแนวทางยื่นมือให้เหมือนหน่วยงานอื่นๆในการให้ความรู้ทางการเงินมากขึ้น 

     หางเสือที่สอง ที่เป็นเรื่องที่พูดถึงค่อนข้างมากคือการออก ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape)   ที่ตอบโจทย์บริบทประเทศไทยไปข้างหน้า ซึ่งกระแสหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือ  “กรีน” ที่ธุรกิจเองต้องปรับตัวเข้าสู่กรีน กระแสโลกรวน Climate Change ที่ภาคการเงินต้องทำหน้าที่สนับสนุนเพื่อให้ภาคการเงินไปสู่กระแสนี้มากขึ้น 

      แต่ต้องดูไทม์มิ่ง ในการทำเรื่องนี้ เพราะคงไม่ได้ทำให้เป็นกรีนทั้งหมดในทันทีทันใด และภาคกิจเองในการปรับตัวตรงนี้มีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตรงนี้ค่อนข้างสูง และการเปิดเผยข้อมูล เหล่านี้ก็ถือเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่มาตรฐานที่สากลยอมรับ 

          ในมุมธปท. จึงต้องช่วย “ส่งเสริม” การเปลี่ยนผ่านไปสู่กรีน ให้เกิด Smooth take off ดังนั้นต้องแบ่งเป็น 3บริบท ที่ธปท.กำลังจะทำ ด้านแรก คือ โครงสร้างพื้นฐาน ในการจัดเก็บข้อมูล ที่ต้องทำให้เป็นมาตรฐาน เดียวกัน เพราะวันนี้ ทุกคนยังเห็นไม่ตรงกันว่า กิจกรรมใดคือกรีน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่เป็นมิตร 

      ดังนั้นเรื่องแรกที่ธปท.ทำ คือ การกำหนดนิยาม หรือ taxonomy ว่าอะไรคือธุรกิจที่เป็นมิตร หรือไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อะไรคือกรีน และบราวน์ โดยจะเริ่มในธุรกิจที่มีนัยสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างภาคขนส่ง และพลังงานก่อน ที่จะเริ่มมาการกำหนดนิยาม ในไตรมาสปีหน้า

      หลังจากนั้นจะทยอยขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆตามมา เช่นกลุ่มเกษตร และทุกภาคธุรกิจให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่กระแสเหล่านี้

       รวมถึง การเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นมาตรฐาน หรือแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (standard practice) ที่จะมีการออกมาในไตรมาส 4ปีนี้ 

     เรื่องที่สาม ด้านอุปสงค์ คือลูกหนี้เอง ว่าจะทำอย่างไรให้เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทำเร็วเกินไป อาจเกิดผลกระทบ ด้านความสามรถแข่งขัน ทำช้าไปอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพระยะยาว ดังนั้นการการกระตุกกระตุ้นลูกหนี้เองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

      ซึ่งสิ่งที่แบงก์ชาติทำวันนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจ คือ การออกสินเชื่อปรับตัว โดยการเอาเงินพรก.ฟื้นฟูฯมาใช้ เพื่อตอบโจทย์เรื่องกรีน หรือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัลเป็นต้น ภายใต้ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5% ในวงเงินไม่เกิน 150ล้านบาท ถึงเม.ย.ปีหน้า 

      นอกจากระยะสั้นแล้ว ในระยะยาวเองต้องหาแนวทางมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ต่างๆ ในการปรับตัวสู่สิ่งเหล่านี้ เช่นการค้ำประกัน การปล่อยสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ในระยะยาว 

      ​หางเสือสุดท้าย คือ ดิจิทัล ที่มาเร็วแรงกว่าที่คิด ดังนั้น มี 3เรื่องใหญ่ ที่จะมาตอบโจทย์กระแสของดิจิทัลด้านแรก การชำระเงิน สิ่งที่จะทำเพิ่มเติม คือ Cross-Border การชำระเงินกับต่างประเทศ ที่จะขยายไปในต่างประเทศมากขึ้น จากสิงคโปร์ ที่วันนี้ได้ทำการเชื่อมโยงคิวอาร์เพย์เม้นท์ไปแล้วเป็นคู่แรกของโลก ถัดไปจะทำกับอินเดีย มาเลเซีย ฮ่องกงต่อในปีหน้า 

      นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำเพิ่มเติม คือด้านการชำระเงินกับเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น จากวันนี้เอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงการทำธุรกรรมมากนัก ทำไปสู่การไม่มีข้อมูล และการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน ดังนั้นหวังว่า Prombiz  ที่จะออกในไตรมาสสองปีหน้า น่าจะมีส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีมี digital footprint บนดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งธปท.หวังว่าจะเห็นเอสเอ็มอี ธุรกิจ ใช้ Prombiz ราว 3พันราย

      อีกด้านที่จะเป็นเรื่องทีทำขึ้นมาคือ Open data มากขึ้น ให้ข้อมูลสามารถส่งผ่านไปสู่อีกสถาบันการเงินง่ายขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การวางมาตรฐาน API เช่นสิ่งที่ธปท.เริ่มไปแล้วเช่น dStatement บริการ dStatement (digital bank statement) เป็นการให้บริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) 

      ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น และยังมี บริบทของการ Open data อีกมาก เพื่อให้เจ้าของข้อมูลสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อธุรกรรมการเงินได้มากขึ้น  และเรื่องที่สำคัญคือ การมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้ในราคมสมเหตุสมผล เข้าถึงได้ง่าย เหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

      อีกเรื่องที่กำลังมาถึง คือ  Virtual Bank แบงก์ไม่มีสาขา ที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงิน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แต่ละคนได้ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น บนต้นทุนถูกลง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ ซึ่งเหล่านี้อยู่ระหว่างพูดคุย และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) และคาดจะสามารถหลักการ หลักเกณฑ์ได้ต้นปีหน้า และคาดจะสามารถให้ใบอนุญาต ไลเซ่นส์กับผู้ประกอบการได้ ปี 2567 

      ซึ่งข้อดีของ Virtual bank วันนี้มีหลายประเทศที่ทำไปแล้ว ซึ่งเราสามารถเอาบทเรียนจากต่างประเทศ และประสบการณ์ใหม่ๆของเรา มาศึกษาได้ ว่าเกิดประโยชน์เหมือนที่เราตั้งใจไว้หรือไม่