ธปท.ชี้ ประเด็นทางการเมือง ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน - เศรษฐกิจ

ธปท.ชี้ ประเด็นทางการเมือง ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน - เศรษฐกิจ

ธปท.ชี้ความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดูพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นหลัก ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีขึ้นต่อเนื่อง

     นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าประเด็นทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่น่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากนัก เนื่องจากครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทย เผชิญสุญญากาศทางการเมือง

        ดังนั้นมองว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจจะยังคงเดินหน้าได้ต่อเนื่อง อีกทั้งที่ผ่านมาภาครัฐได้ผ่านการอนุมัติงบประมาณการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมาแล้ว ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณทำได้ต่อเนื่อง  

       ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมานักลงทุนให้น้ำหนัก ในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังว่า มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างมีเสถียรภาพต่อไปหรือไม่ 

       อีกปัจจัยสำคัญ นักลงทุนดูที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ทำให้ปัจจุบันด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยในปัจจุบัน ยังไม่ได้ไหลออก แม้เศรษฐกิจการเงินโลกจะผันผวนมากขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว 
    “ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเผชิญกับปัญหาทางการเมือง  ดังนั้นในด้านความเชื่อมั่นแม้มีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่านักลงทุนดูที่เศรษฐกิจไทยว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ นโยบายการเงินการคลัง สนับสนุนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ และการฟื้นตัวสมูท หรือสะดุดหรือไม่มากกว่า”

      อย่างไรก็ตาม หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 คาดว่าจะยังเป็นภาพของการฟื้นตัวต่อเนื่อง  จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเศรษฐกิจไทยจะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องได้ในครึ่งหลังของปี จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น

       ด้านภาพรวมเศรษฐกิจ และการเงินในเดือนสิงหาคม 2565 ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ขยายตัวได้ 16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวในทุกหมวดสินค้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในบางหมวดสินค้า 

      ขณะที่ภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคาร และขนส่งปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักโรงแรมที่สูงขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวไทยจะลดลงจากเดือนก.ค.ที่มีวันหยุดพิเศษเยอะ และมาตรการเที่ยวด้วยกัน 

     อย่างไรก็ดี หากดูนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีจำนวนที่สูง 1.2 ล้านคน มาจากการผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยว และการเดินทางมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งนับจากต้นปี-ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 4.4 ล้านคน 

      ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยดูจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรการ 33 ทยอยเพิ่มขึ้นกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราการว่างงานของกลุ่มเด็กจบใหม่ และระยะยาวปรับลดลงโดยจากการสำรวจอาชีพอิสระพบว่าสัญญาณเป็นบวกสะท้อนความเชื่อมั่นตลาดแรงงานที่ดีขึ้น

       ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 1.9% ทั้งหมวดเครื่องจักร และอุปกรณ์ และการก่อสร้าง 
       ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าทุน และยอดรถยนต์จดทะเบียนรถบรรทุกปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัว และยอดขายสินค้าหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น สะท้อนไปยังความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และการผลิตทยอยปรับเฉลี่ยเหนือระดับ 50 แต่เป็นการปรับลดลงเนื่องจากมีความกังวลในเรื่องของโลหะที่คาดว่าจีนจะลงมาดัมพ์ราคา อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า 3 เดือนความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นทั้งภาคการผลิตและการลงทุน 

      สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐปรับดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งจากรายจ่ายประจำและการลงทุน โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำมาจากเรื่องของสวัสดิการ และเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ขณะที่รายจ่ายการลงทุนมาจากคมนาคม และขนส่งสาธารณะ และรัฐวิสาหกิจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน 

      ทั้งนี้ ในส่วนภาคต่างประเทศด้านการส่งออกชะลอลดลงจากเดือนก่อนหน้า 3.9% มาจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอ โดยหมวดที่ปรับลดลงจะเป็นสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีผลผลิตที่น้อยลง ด้านภาคผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4% มาจากการผลิตรถยนต์นั่งหลังจากปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลาย 

      ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่เป็นการขาดดุลที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากดุลบริการ และเงินโอนปรับลดลง ซึ่งมาจากบริษัทต่างชาติส่งเงินกลับประเทศน้อยลง ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปี - ปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ 

      “ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม ถือว่ายังมีทิศทางการฟื้นตัวมาจากอุปสงค์ในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น แม้ว่าส่งออกจะปรับลดลงตามอุปสงค์ ขณะที่เดือนกันยายนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง”  

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์