จับตาหน่วยงานรัฐบาลเข้าประคองหุ้น ก่อนประชุมสมัชชาใหญ่ฯ จีน

จับตาหน่วยงานรัฐบาลเข้าประคองหุ้น ก่อนประชุมสมัชชาใหญ่ฯ จีน

ตลาดหุ้นจีน มีการปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นปี ผลจากนโยบาย zero-Covid policy แต่หลังวันที่ 1-7 ตุลาคม 2565 จะมีอะไรน่าจับตาบ้าง ติดตามอ่านได้จากบทความนี้

ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเผชิญกับความผันผวน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกือบทุกสินทรัพย์กลับมาปรับตัวลงแรง ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และรวมไปถึงสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ก็มีแรงเทขายออกมาเป็นวงกว้าง แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากหน่อยจะเป็นกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เป็น High Growth อย่างกลุ่ม Tech เป็นต้น โดยนับตั้งแต่ต้นปี Nasdaq ติดลบไปแล้วกว่า 31% (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2565) อย่างไรก็ดี หากเจาะเป็นรายประเทศนั้น หนี่งในประเทศที่มีการปรับตัวลงแรงสุดคือ ตลาดหุ้นจีน โดย Hang Seng -27% China A50 -17% Shanghai -16% โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากการใช้ นโยบาย zero-Covid policy และอุปสงค์ในฝั่งต่างประเทศที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ระยะข้างหน้ามองว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ การที่ทางการยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งสวนทางกับนโยบายการเงินในหลายประเทศที่หันมาใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และรวมไปถึงความคาดหวังในเรื่องแรงซื้อจาก National Team ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทยอยเข้าลงทุนก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2565 นี้

  • สถาบันวิจัยต่างประเทศหลายแห่ง คาดจีนผ่อนคลายมาตรการ COVID และเตรียมเปิดประเทศในช่วงมีนาคม-มิถุนายน ปีหน้า

ล่าสุด Morgan Stanley ออกมาแสดงมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตของ ตลาดหุ้นจีน ซึ่งมองว่าจะฟื้นตัวจากการที่ทางการกลับมาผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 และคาดจะกลับมาเปิดประเทศในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 2023 ขณะเดียวกันมองว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 5.5% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 เพราะมองว่านโยบาย zero-Covid policy ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ และอัตราการว่างงานของประชากร ซึ่งค่อนข้างขัดต่อหลักการนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่มุ่งเน้นในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) หรือในอีกแง่คือ การกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลจีน ในการจัดการให้ประเทศมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นไปอย่างยั่งยืน

ส่วน Goldman Sachs ที่มองว่า จีนจะเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปีหน้า ด้าน Nomura มองว่า รัฐบาลจีนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หลังเดือนมีนาคม 2023 อย่างไรก็ดี ทั้ง Goldman Sachs และ Nomura ได้ปรับลดการเติบโตของประเทศจีนต่ำกว่า 5% ในปีหน้า โดยมองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นหลังจากที่ทางการมีการยกเลิกมาตรการควบคุมต่างๆ และจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้

  • จับตาการเคลื่อนไหว National Team ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 ตุลาคม ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนกลับมาจับตา ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2027 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความต่อเนื่องของการใช้นโยบายของทางการในระยะข้างหน้า ด้าน Goldman Sachs ประเมินว่า อาจเห็น National Team ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนกลับเข้าซื้อหุ้นได้ในช่วงสัปดาห์ใกล้ๆ ก่อนการประชุม เพื่อรักษาเสถียรภาพและเรียกความเชื่อมั่นของให้กับ ตลาดหุ้นจีน ซึ่งเบื้องต้นมองว่าหุ้น A-Shares น่าจะได้รับประโยชน์จากประเด็นนี้

ทุกครั้งก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์มักจะเห็นแรงซื้อหุ้นของ National Team ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นจีนให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

จับตาหน่วยงานรัฐบาลเข้าประคองหุ้น ก่อนประชุมสมัชชาใหญ่ฯ จีน ที่มา : Bloomberg

ภาพรวมจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นได้มีการปรับฐานลงแรงนับตั้งแต่ต้นปี ผลกระทบหลักมาจากการที่ทางการยังคงใช้นโยบาย zero-Covid policy อย่างไรก็ดี เริ่มมีบางสำนักอย่าง Morgan Stanley ออกมาให้มุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อ ตลาดหุ้นจีน หากทางการกลับมาผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 และเดินหน้าที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจในปี 2023 และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นอัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจจีน กลับมาแตะระดับ 5.5% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 อย่างไรก็ดี ด้านสำนักข่าว Bloomberg เบื้องต้นมองว่าทางการจะยังคงใช้นโยบายที่เข้มงวดกับการเดินทางในประเทศไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เนื่องจากตรงกับช่วงวันหยุดยาวของจีน (China Golden Week) ในวันที่ 1-7 ตุลาคม 2565 และคาดจะมีการผ่อนคลายการตรวจ PCR Test ในเดือนพฤศจิกายน

ที่มา : Investing, Bloomberg, Goldman Sachs

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 -2633-6000 กด 4, 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds