‘เงินบาท’ อ่อนค่าทะลุ 38 ต่อดอลลาร์ ครั้งแรกรอบ 16 ปี

‘เงินบาท’ อ่อนค่าทะลุ 38 ต่อดอลลาร์ ครั้งแรกรอบ 16 ปี

‘เงินบาท’ อ่อนค่าทะลุ 38 ต่อดอลลาร์ ครั้งแรกรอบ 16 ปี จับตาผลประชุม กนง. วันนี้ เสี่ยงกดค่าเงินร่วงต่อ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันในฝั่งของการ ‘อ่อนค่า’ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 16 ปี 2 เดือน นับจากวันที่ 26 ก.ค.2549 

การอ่อนค่าลงของเงินบาทส่วนหนึ่งยังคงมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 114 จุด ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าลงตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตามในฝั่งของเงินบาทนั้น นักลงทุนจับตาดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้(28 ก.ย.) ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินว่า กนง. จะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระดับ 0.25% สู่ระดับ 1% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐถ่างกันมากขึ้น ส่งผลต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามไปด้วย

โดยในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ 14,752 ล้านบาท แบ่งเป็น การขายสุทธิในตลาดหุ้น 6,181 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตลาดบอนด์ 8,571 ล้านบาท

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี กนง. คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดย กนง. คงหลีกเลี่ยงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

ขณะที่ กนง. คงมีมุมมองว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้จะช่วยพยุงให้ค่าเงินพลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง อีกทั้ง กนง. ยังคงมีมุมมองว่าเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นประเด็นระยะสั้น และยังพอมีเวลาที่จะติดตามสถานการณ์และเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินได้ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในการประชุมที่จะมีขึ้นวันที่ 28 ก.ย.นี้ หาก  กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด อาจมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า