บาทอ่อน-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย กับความหวังการท่องเที่ยว

บาทอ่อน-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย กับความหวังการท่องเที่ยว

ปัจจัยที่ต้องคำนึงคือแม้ในเดือน ส.ค.เงินเฟ้อไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี แต่ไทยยังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยแรงเพราะการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญยังไม่ฟื้นตัวดี พูดแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวยังมีความสำคัญอยู่มาก

ทุกสิ่งในโลกนี้มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ จำต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควร อย่างเรื่องค่าเงินแข็งมากก็ส่งออกลำบาก อ่อนมากก็ซื้อสินค้านำเข้าอย่างน้ำมันแพง อย่างที่เงินบาทเผชิญอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดป้วนเปี้ยนอยู่เกือบๆ 38 บาทต่อดอลลาร์ เงินปอนด์ก็อ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในการซื้อขายช่วงเช้าวันจันทร์ (26 ก.ย.) เรียกได้ว่าตอนนี้เรื่องค่าเงิน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ พันกันเหมือนงูกินหาง วันที่ 28 ก.ย.นี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมกัน ตลาดคาดการณ์ว่า น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% บางส่วนเชื่อว่าขึ้น 0.50% แต่ถ้าสังเกตให้ดีธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่า จะค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุด

ปัจจัยที่ต้องคำนึงคือแม้ในเดือน ส.ค.เงินเฟ้อไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี แต่ไทยยังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยแรงเพราะการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญยังไม่ฟื้นตัวดี พูดแบบนี้ชี้ให้เห็นว่า การท่องเที่ยวยังมีความสำคัญอยู่มาก แม้ช่วงโควิดจะให้บทเรียนว่า การพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลสะเทือนแค่ไหนเมื่อเกิดโรคระบาดถึงขั้นปิดประเทศ แต่เมื่อโควิดซาไปการจะหาเงินเข้าประเทศให้ได้เร็วที่สุดก็หนีไม่พ้นการท่องเที่ยวที่ไทยมีทุนเก่าอยู่มาก เป็นปลายทางการท่องเที่ยวที่นักเดินทางต่างชาติรู้จักกันดีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วงโควิดระบาดมาเลเซียปิดประเทศหาดใหญ่เงียบสงัดราวกับเมืองร้าง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียทยอยกลับมา บรรยากาศคึกคักอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวทุกสัปดาห์ ตอนนี้แม้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดแต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นกำลังใจให้พ่อค้าแม่ขายและบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความหวังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวช่วยคือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ประเทศไทยจะปรับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง รวมถึงยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและยุบศบค. โดยการบริหารจัดการจะกลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยิ่งตอกย้ำถึงการกลับมาใช้ชีวิตปกติ เป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีส่วนต่อขวัญและกำลังใจผู้คนเป็นอย่างมาก ระหว่างนี้ช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปวดหัวเรื่องเงินเฟ้อสูงจนต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่โดนใจดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนแค่ไหน แต่การได้เดินทางช่วยให้ชีวิตสดชื่นมีกำลังใจต่อสู้กับความเคร่งเครียดต่อไป ประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่มาประชุมเอเปคก็ไม่เป็นไร ขอให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยก็แล้วกัน!!!