นักเศรษฐศาสตร์แนะ “ขึ้นดอกเบี้ยแรง”ทางรอดลดบาทอ่อน-เงินไหลออก

นักเศรษฐศาสตร์แนะ “ขึ้นดอกเบี้ยแรง”ทางรอดลดบาทอ่อน-เงินไหลออก

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงบาทอ่อนค่าแรง หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย0.75% ‘อมรเทพ’ชี้แบงก์ชาติกำลังตกที่นั่งลำบาก มีสองทางเลือกขึ้นดอกเบี้ย ทางไหนก็เจ็บ ‘พิพัฒน์’แนะไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด สกัดเงินอ่อนค่า ลดส่วนต่างดอกเบี้ย

      นาย อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ 0.75% ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ที่ตลาดตกใจ คือการฉายภาพการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

    และ การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ทำให้ปลายปีคาดว่าดอกเบี้ยสหรัฐ จะไปจะอยู่ที่ 4.5% และปีหน้าที่ 4.75%

     ผลกระทบที่มีต่อไทย อย่างแรก เงินบาทอ่อนค่าชัดเจน และแนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าได้อีก และมีโอกาสแตะ 40บาทต่อดอลลาร์ได้ จากการเทขายสินทรัพย์ ออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยต่อเนื่อง จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ 

     อีกทั้ง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ ที่กว้างขึ้น เป็นภาวะที่น่าตกใจเรื่อยๆ หากแบงก์ชาติไม่ทำอะไร ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยจะเกิน 3% ยิ่งกดดันเงินไหลออกมากขึ้น

     ดังนั้นมองว่าแบงก์ชาติกำลัง “ตกอยู่ที่นั่งลำบาก” โดยมีทางเลือเพียงสองทาง ทางแรก ค่อยๆขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ทำได้แต่ต้องแลกมาด้วยเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนรุนแรง เงินไหลออกค่อนข้างมาก

    และน่ากังวลว่าไทยอาจถูกโจมตีค่าเงิน หรือการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินของนักลงทุนได้ ดังนั้นต้องรับมือตรงนี้ให้ดี

     ทางเลือกที่สองคือ การขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นไป0.50% ไม่เฉพาะป้องกันเงินเฟ้อไม่ให้ไหลต่อ แต่ยังสกัดเงินไหลออกได้ ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพเงินบาทได้ แต่สิ่งที่ต้องแลก คือ เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว อาจฟื้นช้าลง และปีหน้าจีดีพีอาจชะลอกว่าคาดได้

     นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐวันนี้ชัดเจนว่า สหรัฐเอาจริงกับเงินเฟ้อมากขึ้น แตกต่างกับไทย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เหมือนขึ้นบันไดทีละ 3 ขั้น ขณะที่ไทยค่อยๆก้าว

     ดังนั้นผลกระทบที่ใหญ่ต่อไทย คือผลกระทบต่อค่าเงินบาทยิ่งมากขึ้น ดังนั้นแบงก์ชาติอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่อยากขึ้น เพราะหากปล่อยไปเรื่อยๆ ไทยอาจหลังชนฝาแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญ

     อีกทั้งมองว่า วันนี้แบงก์ชาติ เผชิญแรงกดดันมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน จากความเป็นห่วงจากทุกฝ่าย เกี่ยวกับเงินบาทอ่อนค่า

     และมองว่าแบงก์ชาติแทบไม่มีเครื่องมืออื่นๆในการสู้กับเงินบาท นอกจากการ “ขึ้นดอกเบี้ย” เพื่อลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทย เพราะมองว่า ต่อให้แบงก์ชาติเข้าไปดูแลเงินบาทผ่านทุนสำรองก็ไม่ได้ช่วย หากไม่ขยับดอกเบี้ย ก็ไม่สามารถแก้ fundamental ได้

       นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าผลจากการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้ตลาดเงินมีความผันผวนมากขึ้น จากการแข็งค่าของดอลลาร์ และมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าอีกระยะสั้น

     แต่ที่กังวล คือการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของทุกประเทศที่เร็วและแรง อาจฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวมากขึ้น ดังนั้นผลกระทบเหล่านี้อาจย้อนกลับมากระทบส่งออกไทย ให้เริ่มลดลง จึงเป็นเหตุผลให้ EIC ปรับจีดีพีปีหน้าลดลง

     อย่างไรก็ตาม แม้ระยะสั้นเงินบาทจะอ่อนค่า แต่เชื่อว่าปลายไตรมาส 4 เงินบาทจะค่อยแข็งค่าขึ้น จากท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัว

     ดังนั้นมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.มองว่ากนง.ยังไม่เปลี่ยนมุมมอง และขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ต่อเนื่องอีก 2 ครั้งปีนี้ และปีหน้าขึ้นอีก 3 ครั้ง เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงมากกว่าคาดได้

     นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าแรง โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าแล้ว10% แต่เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ที่อันดับที่ 5ของภูมิภาค ดังนั้นยังเกาะกลุ่มกับภูมิภาค

    ดังนั้นเงินไหลออก ต่างชาติดึงเงินกลับ ถือว่าไม่ใช่ปัจจัยที่น่าห่วงมาก เพราะสัดส่วนการถือหุ้นและบอนด์ของต่างชาติวันนี้ไม่ได้มาก ในตลาดหุ้นไม่ถึง 10% และบอนด์ไม่ถึง 10% เช่นกัน

     แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมาก ทำให้เงินไหลออกเร็วขึ้น แต่อาจไม่กระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.แบบค่อยเป็นค่อยไป

     เพราะมองว่า การไล่ตามดอกเบี้ยตามสหรัฐไม่มีทาง ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าน้อยลง เพราะหลายประเทศที่ดอกเบี้ยสูง แต่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าไทย ดังนั้นก็สะท้อนว่าการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินบาทไม่ให้อ่อนค่า อาจไม่ใช่ทางแก้

     แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือ ส่งออกที่ชะลอลง ขณะที่นำเข้าสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณที่ต้องระวัง เพราะอาจฉุดจีดีพีได้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องได้