ดีเอ็นเอใหม่“อยู่วิทยา ” ปั้น“ฟินเทค”สู่เวทีโลก

ดีเอ็นเอใหม่“อยู่วิทยา ”  ปั้น“ฟินเทค”สู่เวทีโลก

“ธุรกิจฟินเทค” มาแรงเกินต้าน ทุกวงการธุรกิจพร้อมกระโดดเข้ามาเล่นในสนามนี้ ล่าสุด นักธุรกิจหนุ่มวัยหลักสี่ “ต้น-เดิมพัน อยู่วิทยา” ที่เป็นเจ้าพ่อ รีสอร์ทบนเกาะเสม็ด Lima Resort Group และคลุกคลีกับวงการรถยนต์มือสอง ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อน

แต่ด้วยเขา มีความรู้และประสบการณ์ “ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินและธนาคาร” เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ประกอบกับเขาเห็น โอกาสทันที เมื่อกติกาของโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีได้เข้ามาดิสรับธุรกิจเดิมๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เลือก New Technology เศรษฐกิจใหม่ หรือ Digital Economy 

“เดิมพัน” กล่าวว่า  ผมเห็นช่องว่าง"ธุรกิจรถยนต์มือสอง"อยู่แล้ว ว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “การให้บริหารการด้านการเงิน” ทั้งกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเข้าไม่ถึงเงินทุน จึงตัดสินใจไปขอใบอนุญาติประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนเป็นหลักประกัน ไว้กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก่อนหน้านั้นนาน

และด้วยความบังเอิญเขาได้รับใบอนุญาตในช่วงเดือน มี.ค. 2563 เป็นช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรงและมีการประกาศสั่งล็อกดาวน์ ธุรกิจรีสอร์ทไม่สามารถทำธุรกิจได้ จึงหันมาพัฒนาธุรกิจใหม่ทันที

“ในช่วงโควิด ต้องเทคโนโลยีดำเนินธุรกิจเท่านั้น เพราะว่าพนักงานและลูกค้าต้องสามารถทำงานและได้รับบริการจากที่ไหนก็ได้ ผมทุ่มเทกับการศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านยูทูบและการอ่านหนังสือ” 

โชคดีที่เขามี น้องชาย “รริส อยู่วิทยาซึ่งมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ และเป็นเจนเนอเรชั่นที่เติบโตมากับเทคโนโลยี  และชื่นชอบเทคโนโลยีเหมือนกับเขา และที่สำคัญเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทสนมกันมานาน “เดชพนต์ วงศ์อัครากุล”  มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างดี  จึงได้ชักชวนกันมาตั้งทีมพัฒนาสร้างเทคโนโลยีของเราเองทัั้งหมด เพราะธุรกิจฟินเทคที่จะทำยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน    ​

จึงตัดสินใจ ก่อตั้ง Rapid Group(แรพพิด กรุ๊ป) นั่งบริหารงานในตำแหน่ง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “แรพพิด กรุ๊ป”  ผู้พัฒนานวัตกรรมและปฏิวัติบริการทางการเงิน (FinTech)  โดยเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมี ยุพา อยู่วิทยา (แม่) รริส อยู่วิทยา (น้องชาย) และ เมลานีย์ อยู่วิทยา (ภรรยา) ถือหุ้นร่วมด้วย "ครอบครัว อยู่วิทยาทั้ง 4 คน ถือหุ้นรวมกันกว่า 99% ของกลุ่มแรพพิดแล้ว 

ตั้งเป้าเข้าตลาดหุ้นแนสแด็ก

"เดิมพัน” ได้ได้ประกาศวิสัยทัศน์ ที่จะเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินของไทย เอเชีย และของโลกให้ได้  และวางเป้าหมาย มีแผนนำพา แรพพิด กรุ๊ป เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว   ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมตัว และยังมาพร้อมเป้าหมายใหญ่ คือ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็ก NASDAQ หรือตลาดหุ้นฮ่องกง (HKEX) ภายในปี 2573 ต่อไป 

สำหรับ “แรพพิด กรุ๊ป”มีบริษัทในเครือทั้งหมด 5 บริษัทโดยบริษัทแรก คือ แรพพิด แคปิตอล (Rapid Capital) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2563  ซึ่งเป็น่ช่วงสถานการณ์โควิดระบาดพอดี

โดย “แรพพิด แคปิตอล” ซึ่งเปิดตัวเป็นบริษัทแรก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้สามารถสร้างกำไรได้ทันทีตั้งแต่เริ่มให้บริการ มีการเติบโตกว่า 300% ในปีที่ผ่านมาและปัจจุบันนี้มีอัตราหนี้เสียต่ำกว่า 1%

โดยในปีนี้บริษัทยังเป้าเติบโต 30% ทั้งจำนวนสัญญาอยู่ที่3,250 สัญญา และมีมูลค่าสินเชื่อใหม่อยู่ที่1,650 ล้านบาท จากปี 2564 มีสัญญาลูกค้าใหม่ทั้งหมด 2,500 สัญญา และมีมูลค่าสินเชื่อใหม่กว่า 1,200 ล้านบาท

5 ปี สิ้นเชื่อทะลุ 3 หมื่นล้าน

"แรพพิด แคปิตอล จะเป็นธุรกิจเรือธงของเรา หลังจากนี้มุ่งเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีความสมบูรณ์ เพื่อที่จะรองรับการขยายสินเชื่อสัญญาใหม่ให้ได้ตามเป้าหมาย" ตั้งเป้าหมายไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2570  “แรพพิด แคปิตอล”  จะมีจำนวนสัญญาใหม่ 250,000 สัญญา มูลค่าสินเชื่อทะลุ 30,000 ล้านบาท มีกำไร 4,200 ล้านบาท และมีรายได้ 6,200 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 45 ล้านบาท และมีรายได้ 70 ล้านบาท มีเงินลงทุน 300 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 90% ไว้รองรับการปล่อยสินเชื่อ

“ครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ มีสินเชื่อสัญญาใหม่เข้ามาสูงถึง 1,800 สัญญาแล้ว ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงปี 2564 และมั่นใจว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ แรพพิด แคปิตอล มาจากเรามีจุดเด่นในการให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งขาเข้า (มากู้) และขาออก (มารับทะเบียนรถคืน)  คือเราเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในไทยที่ดำเนินการทุกขั้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปรถ ถ่ายรูปลูกค้า เสียบบัตรประชาชนเข้าไอแพด ยิง OTP แล้วให้ลูกค้าเซ็นต์บนไอแพดก็เสร็จเรียบร้อย ลูกค้าสามารถรับเงินได้ทันที

ขณะเดียวกันตลาดรถยนต์มือสองเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่กลับทำให้เกิดความต้องการรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และยังเติบโตต่อเนื่องในอีก5 ปีข้างหน้าจากข้อมูลการตลาดของแรพพิด แคปปิตอล คาดว่าปริมาณการซื้อขายรถยนต์มือสองน่าจะมีถึง 2.5 ล้านคันต่อปี ในปี 2570 รวมการซื้อขายซ้ำต่อคัน

โดยสอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายในตลาดรถยนต์มือสองปี 2565 จะเติบโตได้ 3-5% หรือคิดเป็นปริมาณการซื้อขายรถยนต์มือสองราว 600,000-700,000คัน ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์มือสอง มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 5-7% หรือประมาณ 300,000ล้านบาท

ทยอยเปิดอีก4 ธุรกิจ

ขณะเดียวกัน ในระยะถัดไปเราจะทยอยเปิดตัวอีก 4 บริษัท ได้แก่

1. แรพพิด ไลฟ์ (Rapid Life) แพลตฟอร์มให้บริการขายประกันชีวิต ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เตรียมให้บริการไตรมาส 3 ปี 2565 ตั้งเป้าเบี้ยประกันรับรวม 3 ปีข้างหน้า (ปี2566-2568) ที่ 3,000 ล้านบาท

2.แรพพิด ฟินเทค (Rapid FinTech) ให้บริการสินเชื่อโดยมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่น โดรน โซล่าร์รูฟ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2566

3.แรพพิด มอเตอร์ส (Rapid Motors) ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่แพลตฟอร์มดิจิทัลในการนัดซื้อ-ขาย บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์ รวมถึงบริการด้านสินเชื่ออนุมัติทันที คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2566

4.แรพพิด อีวี (Rapid EV) ให้บริการเปลี่ยนรถยนต์จากระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นระบบไฟฟ้าแห่งแรกของโลก ที่ดำเนินการในระดับ Mega Factory ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการแปลงรถสันดาป เป็นรถไฟฟ้าภายใน 72 ชั่วโมงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และเพิ่มมูลค่าให้กับรถมือสองในระยะยาวอย่างยั่งยืน คาดว่าจะเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2567