ปราบหนี้นอกระบบ ต้องรบที่ต้นตอ | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

ปราบหนี้นอกระบบ ต้องรบที่ต้นตอ | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

“หนี้นอกระบบ” เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยมายาวนาน ภาครัฐได้พยายามจะปราบปรามจับกุมเครือข่ายต่างๆ แต่ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุที่เป็นเหมือนสนิมเนื้อในของเรื่องนี้ คือ หนี้ในระบบที่ถูกกฎหมาย

ดังนั้น หากต้องการจะแก้หนี้นอกระบบ ก็ต้องจัดการกับหนี้ในระบบเสียก่อน ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะ ต้นตอสำคัญของการเกิดหนี้นอกระบบคือ การที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ในระบบหลอกหลายเรื่อง แต่ที่น่าสนใจมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ 

หลอกเรื่องแรกคือ เรื่องหนี้รถยนต์ และจักรยานยนต์ ที่เข้าใจกันว่าเป็นการผ่อนรถ แต่แท้ที่จริงคือ การเช่าซื้อ ข้อแตกต่างกันระหว่างสองคำนี้ เริ่มตั้งแต่เพดานดอกเบี้ย ซึ่งมีการกำหนดไว้สำหรับการผ่อน แต่หากเป็นการเช่าซื้อ ดอกเบี้ยก็จะอยู่ในรูปค่าเช่า จึงไม่มีเพดาน และเคยพุ่งสูงขึ้นไปถึง 40%  

ข้อแตกต่างต่อมาคือ กรรมสิทธิ์ และเงื่อนไขเมื่อผิดนัดชำระหนี้ สมมติว่า รถคันละ 5 แสนบาท ลูกหนี้ส่งเงินงวดตามตกลงไว้ไปเรื่อยๆ แต่พอเหลืองวดท้ายๆ จ่ายไม่ไหว จะกี่บาทก็ตาม ถ้าเป็นการผ่อน ก็จะถูกยึดแค่ของมูลค่าที่คงค้างอยู่ แต่ถ้าเป็นการเช่าซื้อ ไม่ว่าจะเหลือจ่ายกี่บาทก็ตาม จะหลักพัน หลักร้อย หรือแค่หลักสิบ เจ้าหนี้มีสิทธิยึดรถได้ทั้งคัน

เหตุการณ์แบบนี้ รัฐจะปฏิเสธว่าไม่ทราบก็คงไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะมองในแง่ร้ายหน่อย ก็อดคิดไม่ได้ว่า เป็นเพราะการเช่าซื้อคือ การประกอบธุรกิจที่รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่นๆ ได้มหาศาล แต่ถ้าเป็นธุรกิจการผ่อน ภาษีเหล่านี้คงเก็บแทบไม่ได้

หลอกเรื่องที่สอง คือ หลอกให้เข้าใจว่าจ่ายหนี้ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่การจ่ายดอกเบี้ย เพราะเหตุจากลำดับการตัดหนี้ หนี้ที่เกิดในระบบจากการปล่อยสินเชื่อของสหกรณ์คือ ตัวอย่างที่ชัดเจน อันที่จริง สหกรณ์นับเป็นองค์กรที่ดี เป็นที่พึ่งสำหรับกลุ่มคนตัวเล็ก ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายกว่าธนาคารพาณิชย์

แต่ก็มีปัญหาที่ต้องแก้ไขคือ เรื่อง “ลำดับการตัดหนี้” ที่ยังใช้การตัดหนี้แบบแนวตั้ง หมายความว่า พอลูกหนี้นำเงินไปชำระหนี้ แทนที่จะไปหักเงินต้นด้วย กลับนำไปตัดชำระค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยจนครบจำนวนก่อน เหลือเท่าไร ก็ค่อยมาหักชำระเงินต้น

ปราบหนี้นอกระบบ ต้องรบที่ต้นตอ | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

ยกตัวอย่างเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพ เกษตรกรคนหนึ่งเป็นหนี้สหกรณ์อยู่ 100,000 บาท มีกำหนดชำระคืนเงินต้น 10 งวดๆ ละ 10,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยงวดละ 1,500 บาท และมีค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท รวมต้องจ่ายงวดละ 12,000 บาท เท่ากับมียอดเงินชำระหนี้ทั้งหมด 120,000 บาท หากว่าเกษตรกรท่านนั้น สามารถมีรายได้มากพอที่จะชำระคืนทันกำหนดแต่ละงวด ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่นี่คือ โลกในอุดมคติ

ตัดมาที่ชีวิตความเป็นจริง ที่โลกไม่สามารถรู้เห็นเป็นใจกับทุกคนตลอดเวลา ความผันผวนเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเกษตรกรคนนี้ไม่มีเงินพอจะจ่ายหนี้ได้ ดอกเบี้ยก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ หากอยู่มาวันหนึ่ง ฟ้าฝนเป็นใจ มีเงินก้อน 20,000 บาท จะนำมาชำระหนี้ กระบวนการตัดหนี้แบบแนวตั้ง ก็จะเริ่มการหักเงินคงค้างก้อนแรกคือ ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท จากนั้นจะเป็นการหักดอกเบี้ย 15,000 บาท จนหมด 20,000 บาท ก็จะเห็นเลยว่า

นอกจากเงินต้นหนึ่งแสนบาทยังอยู่ครบเหมือนเดิม ดอกเบี้ยก็ยังวิ่งตามเงินต้นเป็นเงาตามตัวด้วยความเร็วเหมือนเดิม ด้วยลำดับการตัดหนี้แนวตั้งแบบนี้ การเป็นหนี้จึงไม่รู้จักจบ ลูกหนี้ยังคงต้องวนเวียนอยู่ในวังวนหนี้ เพราะฉะนั้น วิธีที่ควรต้องทำคือ เปลี่ยนเป็น “การตัดหนี้แบบแนวนอน” คือ ตัดทั้งงวดของงวดแรก 

ทั้งค่าธรรมเนียม, ดอกเบี้ย, และเงินต้น ดังนั้น 20,000 บาทที่ชำระไป ก็จะถูกนำไปหักงวดที่ 1 ทั้งงวด 12,000 บาท (ซึ่งเป็นส่วนผสมของค่าธรรมเนียม 500 + ดอกเบี้ย 1,500 และเงินต้น 10,000 บาท) ก่อน และยังมีเหลืออีก 8,000 บาท ให้ไปหักงวดที่ 2 บางส่วน ทำให้เงินต้นจาก 100,000 บาท ลดลงเหลือเพียง 84,000 บาท ซึ่งเมื่อเงินต้นลดดอกเบี้ยที่วิ่งตามเงินต้นก็ลดตาม ถ้าเป็นเช่นนี้ ลูกหนี้ก็พอจะเห็นถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้บ้าง

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการตัดหนี้แบบแนวนอนนี้แล้วตั้งแต่ปีก่อน ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สหกรณ์ยังคงตัดแบบแนวตั้งอยู่ จนทำให้ลูกหนี้ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ดังนั้น จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข 

หลอกเรื่องที่สาม คือ การให้กู้ และหักคืนสุดโต่ง โดยเฉพาะข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อสหกรณ์ฯ ปล่อยกู้ให้สมาชิกด้วยวงเงินเกินตัว เกินกำลังการชำระคืน และยังได้รับสิทธิหักเงินเดือนของลูกหนี้ได้ทันที ทำให้สมาชิกข้าราชการจำนวนมากถูกหักเงินเดือนจนเหลือแค่หลักสิบ

เช่น กรณีที่เกิดขึ้นจริงของตำรวจคนหนึ่ง เงินเดือน 20,790 บาท แต่ถูกสหกรณ์ฯ หักชำระหนี้เป็นจำนวน 20,745 บาททุกเดือน จนเหลือเป็นเงินได้อยู่เพียง 44 บาทกว่าต่อเดือน เมื่อทำงานสู้หนี้ แต่หนี้สู้กลับแบบนี้ จะให้พอเลี้ยงชีพได้อย่างไร ถ้าเป็นตำรวจดีหน่อย ก็ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ถ้าเป็นตำรวจไม่ดี ก็ไปเรียกส่วยรีดไถชาวบ้าน อย่างที่ปรากฏในข่าวแทบทุกวัน

นี่คือปัญหาใหญ่บางส่วนของกลไกหนี้ในระบบที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถึงเวลาแล้วที่เจ้าหนี้ในระบบจะต้องหยุดใช้วิธีนี้ทำมาหากินกับคนรายได้น้อย เอาเปรียบคนหาเช้ากินค่ำ ต้องปราบปัญหาหนี้ที่ต้นตอ หยุดกระบวนการขุดบ่อล่อปลา และรัฐก็ต้องเลิกหรี่ตาข้างเดียวปล่อยผ่าน ที่สำคัญคือ ต้องแก้วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับอีกหลายคน 

คอลัมน์ เปิดมุมคิด เศรษฐกิจทันสมัย
ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย 
พรรคประชาธิปัตย์

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์