โซลูชันการเงิน "กรุงศรี" หนุน "ธุรกิจญี่ปุ่น" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง

โซลูชันการเงิน "กรุงศรี" หนุน "ธุรกิจญี่ปุ่น" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง

"กรุงศรี" ชูโซลูชันการเงินที่หลากหลายหนุน "ธุรกิจญี่ปุ่น" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายจากโรคระบาดและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้การยอมรับและเป็นที่นิยมในกลุ่มธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยราว 4,500 รายนับถึงสิ้นปี 2564 ประมาณ 70% ของจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มลูกค้าที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธนาคารรายใหญ่ของไทย ภายใต้เครือ MUFG ยักษ์ใหญ่ทางการเงินของญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและให้บริการมายาวนาน ด้วยเหตุนี้ "กรุงศรี" จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติและญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

นายโยชิยูกิ โฮริโอะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความรับผิดชอบของตนคือการส่งเสริมธุรกิจให้กับกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติในไทย ในฐานะธนาคารลูกของ MUFG

ขณะที่ภารกิจหลักของกลุ่มธุรกิจ JPC/MNC คือบริการให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าองค์กรจากญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนที่นี่ด้วย ซึ่งรวมถึงให้บริการแบบ "Total Financial Solution"

โซลูชันการเงิน \"กรุงศรี\" หนุน \"ธุรกิจญี่ปุ่น\" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง

Total Financial Solution คืออะไร?

นายโฮริโอะ อธิบายว่า Total Financial Solution เป็นบริการให้คำปรึกษาและสนับสนุนแผนธุรกิจแก่กลุ่มลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในต่างแดน และเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับกรุงศรีในการทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อสนับสนุนการลงทุนของพวกเขาได้อย่างตรงจุด

ทั้งนี้ กรุงศรี ถือเป็นธนาคารที่กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นไว้วางใจมานานกว่า 60 ปี ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ที่ให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ส่วนใหญ่ 90% เป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น

"สิ่งแรกที่ทำคือถามลูกค้าว่า กลยุทธ์ธุรกิจของคุณคืออะไร ไม่ใช่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย เนื่องจากมีธนาคารในเครือในอีก 50 ประเทศ บริษัทแม่ของเรา (MUFG) จึงมีข้อมูลในแต่ละตลาดที่ค่อนข้างครอบคลุม" นายโฮริโอะ กล่าว

นั่นทำให้สามารถสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าด้วยความเข้าใจ และตรงตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายนี่ถือเป็นจุดแข็ง ดังนั้น ลูกค้าก็รู้สึกสบายใจที่จะออกมาทำธุรกิจในต่างแดน

เครือข่ายระดับโลกของ MUFG และ กรุงศรี ที่ครอบคลุมถึง 50 ประเทศ ยังรวมถึง 9 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเมียนมา ทำให้กรุงศรีมีความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น บรรษัทข้ามชาติ และบริษัทไทย ด้วยเครือข่ายระดับโลก แม้จะเผชิญความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งตึงเครียดระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และ สหรัฐ-จีน ที่ส่งผลกระทบถึงหลายธุรกิจ

ปัจจุบัน กรุงศรี มีฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นในไทยราว 3,000 ราย โดยภาคธุรกิจที่กรุงศรีให้การสนับสนุนเข้ามาลงทุนในประเทศผ่านบริการ Total Financial Solution มีหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ไปจนถึงการผลิต

ศักยภาพ "ตลาดอาเซียน" ยังสดใส

สำหรับโอกาสการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ในตลาดอาเซียนในช่วง 5 ปีข้างหน้า นายโฮริโอะ ระบุว่า ธุรกิจญี่ปุ่นยังมองว่าตลาดนี้น่าจะเติบโตเร็วต่อไปเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และหลายบริษัทน่าจะเข้ามาลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีความน่าดึงดูดอยู่ นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจญี่ปุ่นนั้น ตลาดอาเซียนนับเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 รองจากตลาดบ้านเกิด เนื่องจากมีจำนวนประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และมีการบริโภคและเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว

"เนื่องด้วยปัญหาด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปีนี้อย่าง สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้การขนส่งสินค้าติดขัด ธุรกิจญี่ปุ่นจึงพยายามทำให้ซัพพลายเชนตัวเองสั้นลง เช่น มาผลิตสินค้าในอาเซียนและส่งออกไปทั่วโลก จากเดิมที่เคยผลิตในญี่ปุ่น เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจของตนด้วย" นายโฮริโอะ กล่าว

แม้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น แต่นายโฮริโอะยังยกให้ "ไทย" เป็นตลาดที่น่าดึงดูดที่สุดในภูมิภาค สำหรับธุรกิจญี่ปุ่น

"สิ่งที่ทำให้ไทยได้เปรียบเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน คือ 1) มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพ เช่น ระบบคมนาคมและโครงข่ายไฟฟ้า 2) มีมาตรการจูงใจและโครงการลงทุนที่น่าดึงดูด เช่น BOI มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี และโครงการ EEC ในภาคตะวันออก 3) มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง เป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์"

นายโฮริโอะ ระบุว่า ตัวแปรหลักในการตัดสินใจลงทุนหรือขยายกิจการไปต่างแดนของธุรกิจญี่ปุ่น ได้แก่ ความมีเสถียรภาพภายในประเทศ ความสะดวกในการทำธุรกิจซึ่งรวมถึงนโยบายของรัฐบาล และคุณภาพของแรงงานท้องถิ่นในประเทศที่เข้าไปลงทุน แต่สำหรับประเทศไทยถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ยังคงได้รับความนิยมและน่าดึงดูดอันดับต้นๆ ในสายตานักธุรกิจญี่ปุ่น

รองรับขยายธุรกิจในอาเซียน

กรุงศรี ได้เริ่มโครงการนำร่อง Advisory Service เพื่อส่งเสริมและบริการให้คำปรึกษาสำหรับการขยายธุรกิจในอาเซียน แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งโครงการนี้ กรุงศรีจะให้บริการกับทุกภาคธุรกิจในกรุงศรี ด้วยการผนึกกำลังกับเครือข่าย MUFG ทั่วโลกในอนาคต กรุงศรีเตรียมขยายบริการนี้ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าธุรกิจของไทยและทั่วโลกด้วย โดยจะเน้นไปที่ 4 ด้านสำคัญ ดังนี้

  1. กลยุทธ์องค์กร : ให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงผลดำเนินงานธุรกิจ, โซลูชันตอบโจทย์เพนพอยต์ของธุรกิจลูกค้า 
  2. ให้คำปรึกษาธุรกิจในต่างแดน : ให้คำปรึกษาและโซลูชันที่เกี่ยวกับธุรกิจในต่างแดนของลูกค้า โดยเน้นประเทศในอาเซียน
  3. ส่งเสริม ESG : ให้คำปรึกษาเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมาย ESG ของลูกค้า เช่นเดียวกับส่งเสริมการรับรู้ด้าน ESG และสิ่งที่กรุงศรีสามารถสนับสนุนได้
  4. ให้คำปรึกษาโครงสร้างธุรกิจ : ร่วมมือกับ Mitsubishi UFJ Research & Consulting (MURC) และ MUFG ในการให้คำปรึกษาด้านโครงสร้างธุรกิจ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กรหรือผู้ถือหุ้น

ความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจ JPC/MNC

ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ของกรุงศรี ประสบความสำเร็จในการนำเสนอความแตกต่างในการให้บริการและผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าด้วยความร่วมมือกับ MUFG ได้แก่

  1. ออกพันธบัตรสีเขียวและสินเชื่อสีเขียวเป็นครั้งแรกสำหรับลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยแก่ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
  2. ร่วมมือกับ MUFG และ MUFG Innovation Partners (MUIP) ซึ่งรวมถึงเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการสนับสนุนการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตและขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และการลงทุนในสตาร์ทอัพภายใต้ "กรุงศรี ฟินโนเวต" (Krungsri Finnovate)
  3. สนับสนุนกิจกรรมการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ หรือ Business Matching ระหว่างลูกค้าบริษัทไทย ญี่ปุ่น และเครือข่าย MUFG ในอาเซียนอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยมีการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจถึง 473 คู่
  4. ร่วมมือกับ Mitsubishi UFJ Research & Consulting (MURC) ในการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจในการวิจัยการตลาดและการให้บริการที่ปรึกษาอื่นๆ ซึ่งกรุงศรีประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุนในอินเดียของลูกค้าธุรกิจกลุ่มวัสดุก่อสร้างจากประเทศไทย

หนุนธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนใน EEC

นายโฮริโอะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงศรี ส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการนำเสนอโซลูชันทางการเงินและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าสำนักงาน EEC รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นำมาซึ่งความสำเร็จในการลงทุนของลูกค้าธุรกิจจากสิงคโปร์ใน EEC

นอกจากนี้ กรุงศรี ได้ทำโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาในการขยายธุรกิจสู่อาเซียนสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจด้วย

ในส่วนของ EEC นั้น นายโฮริโอะมองว่า ยังมีโอกาสสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ในการขยายธุรกิจสู่โครงการ EEC อีกมากมาย ซึ่งน่าจะสามารถต่อยอดโอกาสสำหรับลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น ลูกค้าบรรษัทข้ามชาติ และลูกค้าธุรกิจไทยของกรุงศรีในการขยายธุรกิจในภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ นายโฮริโอะมีประสบการณ์กว่า 25 ปี ในการทำงานด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) ของธนาคารพาณิชย์ โดยในปี 2538 นายโฮริโอะได้ร่วมงานกับ Sanwa Bank ซึ่งปัจจุบันได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ MUFG Bank ก่อนร่วมงานกับ กรุงศรี นายโฮริโอะดำรงตำแหน่ง Managing Director, Head of Japanese Corporate Banking Division ของ MUFG Bank สาขาฮ่องกง รับผิดชอบดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นในฮ่องกงและประเทศจีนตอนใต้

โซลูชันการเงิน \"กรุงศรี\" หนุน \"ธุรกิจญี่ปุ่น\" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง โซลูชันการเงิน \"กรุงศรี\" หนุน \"ธุรกิจญี่ปุ่น\" ลงทุนในไทยต่อเนื่อง