ส่องแนวโน้มสินเชื่อครึ่งหลังปี 2565 โตตามการฟื้นตัวภาคธุรกิจและครัวเรือน

ส่องแนวโน้มสินเชื่อครึ่งหลังปี 2565 โตตามการฟื้นตัวภาคธุรกิจและครัวเรือน

ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบัน พบว่าเป็นมูลหนี้จากสินเชื่อที่เป็นอุปโภคบริโภคในสัดส่วนกว่า 30% แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวสูง ในขณะที่รายได้ครัวเรือนอาจขยายตัวตามไม่ทัน จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายหนี้มากขึ้น

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวเลขจีดีพีของไทยไตรมาสสองขยายตัวที่ 2.5% แม้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2565 ยังคงเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติได้เร็ว ขณะเดียวกันส่งผลให้ภาพรวมความต้องการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวได้ 6.3% ในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่โตถึง 8% ล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคมยังคงสะท้อนให้เห็นภาพการฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 1 ล้านคนเป็นเดือนแรก แม้ตลาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาก็ตาม

ช่วงที่เหลือของปี 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนสถานการณ์โควิด-19 ชัดเจนมากขึ้นทั้งการบริโภค การลงทุน โดยเฉพาะการส่งออก ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่อาจต้องใช้เวลาอีกสองปี โดยการบริโภคภาคเอกชน แม้ยังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานฟื้น รายได้ภาคเกษตรและภาคส่งออกดีต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการคนละครึ่งที่ยังคงมีอยู่ ในฝั่งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับภาคการผลิตและภาคการส่งออก แต่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อาจได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้น สำหรับภาคการส่งออกยังคงเป็นไฮไลต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้มีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2565 นี้ จะขยายตัวที่ 2.8% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ขยายตัว 1.5%

การที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจมีโมเมนตัมเป็นไปในทิศทางที่ดี จะส่งผ่านไปยังความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นี้ ให้ขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย และคาดว่าทั้งปี 2565 ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตได้ 5.5% ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ คาดว่าเติบโตที่ 6% โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนในส่วนของสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ความต้องการสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ รวมทั้งยังคงมีแรงสนับสนุนจากสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปจนเดือนเมษายนปี 2566 โดยตัวเลข ณ สิงหาคม 2565 มีการอนุมัติไปแล้ว 1.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 74% ของวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท

ด้านสินเชื่อรายย่อย มีแนวโน้มฟื้นตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลัง ตามการขยายตัวของการบริโภค คาดปี 2565 เติบโตที่ 5.3% โดยเป็นการขยายตัวในทุกประเภททั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเติบโต 4.6% จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศที่กลับมาพร้อมกับการเปิดประเทศและยังคงได้ผลบวกจากการผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) โดยเฉพาะส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่คาดเติบโต 2-5% ที่มีแรงจูงใจส่วนหนึ่งจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น สำหรับสินเชื่อรถยนต์ (Hire Purchase) ที่ทรงตัวในช่วงครึ่งปีแรกตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว แต่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ตามการฟื้นตัวจากอุปสงค์คงค้าง (Pend up demand) และความกังวลการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งปี 2565 คาดยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 8.5 แสนคัน เพิ่ม 12% จากปี 2564 ส่งผลให้ประมาณการสินเชื่อรถยนต์ปี 2565 นี้ เติบโตที่ 2.2% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 6.2% โดยขยายตัวตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนในช่วงที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นที่ 7.5% จากปริมาณการใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของสินเชื่อในทุกหมวดหมู่ 

อย่างไรก็ดี จากภาระหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบัน พบว่าเป็นมูลหนี้จากสินเชื่อที่เป็นอุปโภคบริโภคในสัดส่วนกว่า 30% แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวสูง ในขณะที่รายได้ครัวเรือนอาจขยายตัวตามไม่ทัน จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายหนี้มากขึ้น และเป็นเรื่องที่ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

ในภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ อาจกล่าวได้ว่าการเติบโตของสินเชื่อยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นสินเชื่อเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด พยุงการจ้างงาน และช่วยภาคครัวเรือนให้มีสภาพคล่องใช้จ่ายได้ มา ณ ปัจจุบันเป็นการขยายสินเชื่อเพื่อเป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เป็นการขยายสินเชื่อที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อ ไม่เร่งผลักดันจนละเลยคุณภาพ