จุดจบ 'ไอดอลคริปโท' จากเพนท์เฮาส์สู่คุก 'แซม แบงก์แมน ฟรีด' จะไม่ใช่คนสุดท้ายที่โกง

จุดจบ 'ไอดอลคริปโท' จากเพนท์เฮาส์สู่คุก 'แซม แบงก์แมน ฟรีด' จะไม่ใช่คนสุดท้ายที่โกง

ไอดอลลวงตาในโลก"คริปโท" จาก"โด ควอน" สู่ "แซม แบงก์แมน-ฟรีด"ผู้ต้องหาคดี"ฉ้อโกง" ภายนอกสวยหรูแต่ความจริงหลอกลวง โปรเจกต์ล้ำสมัยแต่ไร้เงินสำรองและไม่มีสภาพคล่อง พบจุดจบเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงิน

โลกคริปโทเคอร์เรนซีเต็มไปด้วยเรื่องราวของ "ไอดอล" วัยหนุ่ม บุคคลที่ประสบความสำเร็จ  ร่ำรวย  และโด่งดัง ภายในไม่กี่ปีกลายเป็นสีสันดึงดูดผู้คนให้เข้าสู่โลก คริปโท ทั้ง โด ควอน, แซม แบงก์แมน-ฟรีด หรือ SBF ,ฉางเผิง จ้าว และ อีลอน มัสก์ จนมีอิทธิพลในโลกคริปโทถึงขั้นที่เอ่ยอะไรออกมาก็เป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้วโลกโซเชียล แต่ทว่าเบื้องหลังภาพลักษณ์ที่สวยหรูมักจะซ่อนความลับดำมืดเอาไว้ จุดจบวิกฤติคริปโทครั้งใหญ่ทำให้เห็นแล้วว่า "ไอดอล" ใครตัวจริงใครตัวปลอม

“โด ควอน” ตัวต้นเรื่องที่ทำให้ราชาคริปโทตกชั้นเพราะมูลค่าสินทรัพย์และธุรกิจดิ่งลงเหว เริ่มต้นขึ้นจากการสร้างโปรเจกต์ขึ้นตอนอายุ 31 ปี เมื่อปี 2561 จากความคิดที่ว่าบัญชีดิจิทัลเป็นประตูสู่การปฏิวัติทางการเงินและนำไปสู่ความสำเร็จของเหรียญ Terra (LUNA) และเหรียญสเตเบิลคอยน์ TerraUSD (UST) ซึ่ง UST ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อ โด ควอนสร้างโปรโตคอล Anchor ที่เสนออัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20% สำหรับการฝาก UST

 

ในตอนนั้น นักวิจารณ์ที่กล่าวว่ามันเป็น "แชร์ลูกโซ่"  และแล้วอาณาจักรของโด ควอนก็พังทลายลง เมื่อ UST หลุด peg จากดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ LUNA โทเคนที่เคยมีมูลค่ามากกว่า 100 ดอลลาร์ ร่วงลงจนแทบไม่เหลือมูลค่า

ทันใดนั้นเอง นักลงทุนกล่าวหาว่าโด ควอนมีส่วนร่วมในการฉ้อโกงและระดมทุนอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ชีวิตของราชาคริปโทลงเอยด้วยการหลบหนีและถูกจับกุมที่มอนเตเนโกรเมื่อเดือนมีนาคม 2566 จนถึงตอนนี้คดีพัวพันในเกาหลีใต้และสหรัฐยังไม่สิ้นสุด 

 

FTX เผยด้านมืดตลาดคริปโท

ช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 2 ปีก่อน หายนะที่โด ควอนก่อไว้กระทบถึง แซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีคริปโทในวัย 30 ปี ใช้ชีวิตหรูหราในเพนต์เฮาส์และเป็นเจ้าของรบริษัทคริปโทที่มีค่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในวันนี้ SBF กลายเป็นผู้ต้องหาคดี “การฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ” หลังถูกตัดสินโทษจำคุก  25 ปี  ในความผิด 7 กระทง

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาณาจักรของ SBF จะล่มจมด้วยข้อกล่างหา "ฉ้อโกง" เพราะ SBF เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดคริปโทด้วยการเป็นนักลงทุน "เก็งกำไร" บิตคอยน์ในปี 2560 และเห็นโอกาสในการทำธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโท ไม่นานได้ก่อตั้ง Alameda Research และ ก่อตั้ง FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทในปีถัดมา

ด้านมืดของตลาดคริปโทได้เริ่มขึ้น แม้ SBF อวดอ้างว่าเขาและบริษัทของเขา "Alameda Research" มีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับวิกฤติคริปโทที่ทำให้ราคาร่วงลงทั้งตลาด แต่แล้ว Alameda ถูกเปิดโปงหลังจากที่สำนักข่าว Coindeskเผยแพร่งบการเงินและพบว่า Alameda มีหนี้สินมหาศาลและเป็นผู้ซื้อเหรียญ FTT จำนวนมากจาก FTX ในราคาตลาด รวมทั้งการใช้เหรียญ FTT เป็นหลักประกันเงินกู้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด พร้อมกับนำเงินของลูกค้า FTX ไปใช้โดยไม่ทราบลายละเอียดของเงิน 

SBF พยายามหาเงินทุนจากภายนอก เพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ เช่นการขายกิจการให้กับ "ฉางเผิง จ้าว" (Changpeng Zhao) หรือ CZ ผู้ก่อตั้ง "ไบแนนซ์" (Binance) ที่ประกาศว่าจะซื้อ FTX แต่พอดูใส้ในของบริษัทแล้วทำให้  CZ ต้องล้มดีลในครั้งนั้น  ในท้ายที่สุด Alameda และ FTX ต้องประกาศล้มละลาย ชีวิตหรูหราของ SBF จบลงในเรือนจำ

แนวคิดยิ่งใหญ่ที่ล้มเหลว

หลังจากนั้น ภาพจำของ ไอดอลคริปโท เปลี่ยนจากความสำเร็จน่าชื่นชม เป็นเรื่องหลอกลวงมูลค่ามหาศาล และเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องนี้อย่าง ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) จริงจังเข้มงวดกับแพลตฟอร์มคริปโทมากขึ้น จนได้ยื่นฟ้องไบแนนซ์บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำนวน 13 ข้อหา

มหาเศรษฐี ไมค์ โนโวกราตซ์ ผู้สนับสนุน Terraform Labs ผ่านธุรกิจ Galaxy Digital เรียก TerraUSD ว่า "แนวคิดยิ่งใหญ่ที่ล้มเหลว" และเป็นบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงในโลกคริปโท เหตุการณ์ Terra กระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเร่งสร้างกฎเกณฑ์สำหรับเหรียญสเตเบิลคอยน์เพื่อปกป้องนักลงทุน ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และดูไบ ต่างเพิ่มความพยายามในการควบคุมภาคส่วนคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อดึงดูดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

รวมทั้ง ชื่อเสียงของ "ไอดอลคริปโท"  ไม่ได้สะท้อนความปลอดภัยของโปรเจกต์ คริปโท สเตเบิลคอยน์  DeFi หรือโปรเจกต์ใดๆ ที่เรียกความน่าสนใจด้วยการเงินล้ำสมัย แต่เป็นมูลค่าเงินสำรอง งบการเงินของบริษัท ที่เป็น"ของจริง"นั้นสะท้อนความมั่นคงว่าบริษัทที่สามารถยอมรับความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติได้ทุกเมื่อ

ไอดอลนักลงทุน 'โกงจนเข้าคุก'

ทว่า "ไอดอลนักลงทุน" ที่โกงจนเข้าคุกไม่ได้มีแค่ในโลกคริปโทเท่านั้น ทุกคนคิดว่าคนที่ทำความผิดฐานฉ้อโกงจะถูกจำคุกนานสุดกี่ปี ?

"เบอร์นีย์ แมดอฟ"  พ่อมดการเงินแห่ง ตลาดหุ้นแนสแด็ก (Nasdaq) ถูกตัดสินจำคุก 150 ปี ด้วยวัย 71 ปี ในคดีฉ้อโกงสุดฉาวในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เรื่องราวลวงโลกกว่า 30 ปี สร้างความเสียหายประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ได้มาเพราะ "ชื่อเสียงและภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ" จากครั้งหนึ่งเคยเป็นประธานตลาดหุ้นแนสแด็ก

ดังนั้น  การหลอกลูกค้าด้วยการการันตีผลตอบแทนไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับแมดอฟ ถือเป็นบทเรียนของนักลงทุนที่ต้องตรวจสอบการลงทุนที่มีผลตอบแทนน่าเหลือเชื่อ ระมัดระวังคำโฆษณาที่เกินจริง การการันตีสิ่งต่างๆ นานา

 

อ้างอิง cnbc  Bloomberg