3 ปัจจัยเสี่ยงใช้บิตคอยน์เป็นทุนสำรองฯ ผันผวนสูง-สภาพคล่องต่ำ-ยอมรับน้อย

3 ปัจจัยเสี่ยงใช้บิตคอยน์เป็นทุนสำรองฯ  ผันผวนสูง-สภาพคล่องต่ำ-ยอมรับน้อย

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มี “เงินสำรองระหว่างประเทศ” ในรูปแบบ เงินตราและสินทรัพย์สกุลประเทศต่างๆ รวมถึงทองคำซึ่งแบงก์ชาติได้เพิ่มการถือครองทองคำสำรองตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อบริหารความเสี่ยงในสัดส่วนการลงทุนของ ธปท.

การบริหารเงินสำรองทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2485 และพ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ Bitkub กล่าวกับฐานเศรษฐกิจ ถึงมุมมองในการใช้ “บิตคอยน์” เป็นทุนสำรองประเทศ โดยแนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับบิตคอยน์มากขึ้น

เพราะบิตคอยน์เปรียบเสมือน “ทองคำในโลกการเงินดิจิทัล” เป็นจุดเชื่อมโยงเศรษฐกิจและกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์แต่ละชนิดที่จะออกมาในอนาคต เป็นค่ากลางกำหนดทุกดิจิทัลเคอร์เรนซีที่จะเข้ามาสู่ตลาด ซึ่งได้กลายเป็น The 1st International Digital Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ดิจิทัลระดับโลกอันดับที่ 1 ไปแล้ว

แม้เป็นสินทรัพย์แรกที่จับต้องไม่ได้ แต่กลายเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก หากเป็นไปได้ ธปท. ควรนำบิตคอยน์ เข้าไปเป็น Reserve Currency (สกุลเงินสำรอง) ซึ่งหมายถึงเงินตราต่างประเทศ ที่ธนาคารกลางหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ถือไว้จำนวนมาก เพื่อใช้ในการค้า การลงทุนและการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว

 

“เดิมเรามีแค่ ทองคำ ที่เก็บไว้ที่แบงก์ชาติของอังกฤษ และมี SDR หรือ Special Drawing Rights (สิทธิการกู้เงินพิเศษ) ที่ออกโดย IMF ตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่เยอะ เพราะราคาอาจสูงขึ้นในอนาคต ถ้านานาประเทศเริ่มให้ความสนใจ ทำให้ต้นทุนก็จะยิ่งแพงขึ้น”

นักวิเคราะห์มอง 3 ปัจจัยเสี่ยง

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจ ถึงนิยามของคำว่า “เงินสำรอง” คือเงินตราและ/หรือสินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจ  โดยมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และเพื่อรักษาอำนาจในการซื้อ (Global Purchasing Power)

ดังนั้นสินทรัพย์ที่นำมาเป็นเงินสำรองจะต้องมีสภาพคล่อง ไม่มีความผันผวนสูง เพราะถ้าหากว่าประเทศมีความจำเป็นในการใช้เงินในช่วงวิกฤตใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมกัน การเทขายสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องมีตลาดรองรับและจะต้องมีสภาพคล่องสูง และสำคัญอีกประการคือ สินทรัพย์ดังกล่าวต้องเป็นสื่อกลางที่นานาประเทศยอมรับ ซึ่งสามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนจากเงินสำรองเป็นสกุลเงินดอลลาร์ น้ำมัน อาหารหรือยารักษาโรคได้

ถ้าหากว่าในอนาคต “บิตคอยน์” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่นับว่ามีราคาผันผวนสูง ถูกนำมาเป็นเงินสำรองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคต มี 3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.ความผันผวน 2.สภาพคล่อง และ3.การยอมรับ เพราะหากเกิดปัญหาในการขายสินทรัพย์ไม่ได้ราคา เนื่องจากราคาผันผวนและตลาดไม่มีสภาพคล่องอาจนำไปสู่การขาดทุนในท้ายที่สุด

อีกทั้งบิตคอยน์จะต้องเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับมากพอสมควรจนมีความเชื่อมั่นว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัย เพราะสินทรัพย์ปลอดภัยบางอย่างเช่น “ที่ดิน” ที่มีความปลอดภัยกว่า ทั้งในแง่ของสินทรัพย์ที่จับต้องได้และราคาไม่ผันผวน อีกทั้งยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่ถูกยอมรับในการนำมาเป็นทุนสำรอง

รวมทั้งมองว่าเงินสำรองควรเป็นเงินที่มีมูลค่าสามารถจับต้องได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าบิตคอยน์ยังเป็นสินทรัพย์ในอากาศ ไร้การควบคุมดูแลโดยภาครัฐจากการไม่มีที่มาที่ไปของผู้สร้าง แม้ว่าจะถูกยอมรับจากนักลงทุนในตลาดบางกลุ่มแต่รูปแบบการใช้งานยังเป็นการเก็งกำไร ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็นหนึ่งในเงินทุนสำรองของประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้สำหรับประเทศไทยและทั่วโลก

ข้อดีประการเดียวของบิตคอยน์ คืออุปทานที่มีจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งต่างจากสกุลเงินเฟียตที่สามารถพิมพ์เงินออกมาเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างไม่จำกัด

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่บางประเทศได้สำรวจการใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินประจำชาติ โดยเอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่นำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินที่ “ถูกต้องตามกฎหมาย” ซึ่งจะยังต้องรอดูว่าการทดลองนี้จะประสบความสำเร็จเพียงใด