เปรียบเทียบความเสียหาย'เอสวีบี'กับ'เลห์แมน บราเธอร์ส'

เปรียบเทียบความเสียหาย'เอสวีบี'กับ'เลห์แมน บราเธอร์ส'

เปรียบเทียบเอสวีบีกับเลห์แมน หลังคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินแคลิฟอร์เนียสั่งปิดซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (เอสวีบี) แล้วแต่งตั้งบรรษัทค้ำประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) มารับโอนสินทรัพย์ของธนาคาร

การที่คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินแคลิฟอร์เนียสั่งปิดซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (เอสวีบี) แล้วแต่งตั้งบรรษัทค้ำประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) มารับโอนสินทรัพย์ของธนาคาร ถือเป็นการล้มของธนาคารครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551 ที่่ส่งผลให้ธนาคารวอชิงตันมิวชวล, วาณิชธนกิจ แบร์สเทิร์นส (Bear Sterns) และเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายหลายคนจึงวิตกกังวลว่า ช่วงเวลาแห่งเลห์แมนกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

เว็บไซต์ corporatefinanceinstitute.com รายงานว่า สถานการณ์ไม่เหมือนกัน แม้เป็นความจริงที่ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส, แบร์สเทิรน์ส, วอชิงตันมิวชวล และเอไอจี เสียหายจากการลงทุนในหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ แต่สถานการณ์แตกต่างจากตอนนี้มาก

ประการแรก สถาบันการเงินเหล่านั้นเผชิญปัญหากู้ยืมระหว่างธนาคารไม่ได้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีผลเท่ากับศูนย์ เนื่องจากสินทรัพย์ที่พวกเขาถือครองสูญเสียเครดิตอย่างรุนแรง แต่ตอนนี้สินทรัพย์ที่ธนาคารถือคือพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นแม้การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลเสียต่อมูลค่าตลาดแต่ยังเป็นเงินดี

ประการที่ 2 นี่ไม่ใช่ปัญหาระหว่างธนาคาร ถ้าใช่ เอสวีบีย่อมใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ในพอร์ตค้ำประกันหนี้สินระหว่างธนาคาร หรือแม้แต่โอนไปยังธนาคารอื่นเพื่อใช้หนี้ สถานการณ์ที่เกิดกับเอสวีบีมาจากผู้ฝากเงินแห่ถอนเงิน ซึ่งเป็นกรณีคลาสสิกของการเกิดแบงก์รัน

ข้อเท็จจริงที่ว่าสินทรัพย์เอสวีบี 40% นำไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทเทคและสตาร์ตอัพ ทำให้ยากที่ธนาคารจะเรียกเงินกู้คืนเนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักมีกระแสเงินสดติดลบ

ด้วยเหตุนี้จึงแตกต่างกันอย่างมากกับการขาดสภาพคล่องอย่างเป็นระบบของภาคธนาคารทั้งหมด รอบนี้เกิดเหตุจำกัดแค่ธนาคารไม่กี่แห่ง ธนาคารสหรัฐส่วนใหญ่ยังมีเงื่อนไขการเงินแข็งแกร่ง นอกจากนี้รัฐบาลเพิ่มการอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างหลักประกันเข้าถึงสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็วและมหาศาลเพื่อรับมือกับสถานการณ์แบบนี้

 ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การทำหน้าที่ของเอฟดีไอซีอาจช่วยจำกัดความเสียหายผลจากการจัดการงบดุลของเอสวีบีได้ แต่แม้ไม่เหมือนกับเลห์แมน บราเธอร์สเสียทีเดียว ก็ยังมีคำถามว่าการล้มของธนาคารเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างเอสวีบี อาจมีผลต่อการปล่อยกู้ภาคสตาร์ตอัพเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป