สมาคม บลจ. หวัง ก.ล.ต. เปิดช่อง  “ตั้งกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล”

สมาคม บลจ. หวัง ก.ล.ต. เปิดช่อง  “ตั้งกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล”

โลกการเงิน การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการเงิน และการมาของสินทรัพย์ดิจิทัล 

ทำให้ทุกส่วนในตลาดการลงทุนไทย ต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมดูแลนักลงทุนเพิ่มทางเลือกการลงทุนในโลกยุคใหม่ อย่างเลี่ยงได้ยาก หนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย” 

ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) มีแนวคิดเรื่องการพิจารณาให้ บลจ.สามารถจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล   โดยได้หารือเบื้องต้นกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการหารือมุมมอง ข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางหลัก

สมาคม บลจ. หวัง ก.ล.ต. เปิดช่อง  “ตั้งกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล”

"ชวินดา หาญรัตนกูล" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า หลังจากนี้ สมาคมฯ ยังคงมีการหารือเรื่องนี้กับหน่วยงานกำกับอย่างต่อเนื่อง ว่าจะให้กองทุนสามารถลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบไหนได้บ้าง   เพราะนักลงทุนรุ่นใหม่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน กองทุนเองก็มีความสนใจเรื่องของเทคโนโลยีอยู่แล้ว และที่สำคัญ “สินทรัพย์ดิจิทัล” นับว่าเป็นตัวกลางของการเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นกลางกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้น กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุน  

ขณะที่ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังเติบโตต่อไปได้ และยิ่งเห็นภาพชัดเจนของหน่วยงานกำกับของแต่ละประเทศให้ความสำคัญ และมีการปรับกฎเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สะท้อนกับความเป็นจริงตามเทรนด์ของโลกคนรุ่นใหม่

"เชื่อว่า ในที่สุดเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ จะเห็นได้ว่าการใช้จ่ายเงินแต่ละประเทศเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลหมดแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ดิจิทัลที่เข้ามายังมีน้อยไป พัฒนาการน่าจะเหมือนตลาดหุ้นสมัยก่อนที่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเสถียรภาพ ตอนนี้ถือเป็นการปูทางแบบค่อยเป็นค่อยไปสำหรับธุรกิจ บลจ.เท่าที่ทำได้เพื่อรองรับโลกยุคใหม่”

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อกฎหมายกำกับดูแลต่างๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้ 

"ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความเห็นไปแล้ว ในเรื่องของไลเซนส์ดังกล่าว และถ้าไม่มีคำถามเพิ่มเติม จะต้องพิจารณาปรับเกณฑ์การลงทุนให้เปิดกว้างมากขึ้น เช่น ผู้จัดการกองทุนต้องมีอายุบริหารสินทรัพย์กี่ปี เป็นต้น ซึ่งเป็นระเบียบที่ก.ล.ต.กำลังจัดทำ คาดน่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า หน่วยงานกำกับด้านต่างๆ เห็นความสำคัญในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งหลบยาก แต่จะอยู่อย่างไรให้เหมาะสม” 

"ชวินดา" กล่าวว่า นอกจากสมาคมฯ ได้ มีการพูดคุยกับ ก.ล.ต. แล้วก็ได้มีการพูดคุยกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นกัน ซึ่งทาง ธปท.ก็มีความกังวลต่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทำให้เกิดความผันผวนต่ออุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ทั้งนี้ หากการลงทุนควบคุมไม่ได้ก็ไม่ควรจะเปิดช่องให้ทำเป็นการทั่วไป

ทางสมาคมฯ จึงเสนอแนวคิดว่า ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) อยากผลักดันให้เกิดทุกอย่างต้องให้มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการลงทุน เส้นทางการเก็บทรัพย์สิน ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยสำคัญว่าผู้ลงทุนมีความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัลจริงหรือไม่   มองว่า เรื่องเหล่านี้ต้องควบคุมให้ได้ หากอุตสาหกรรมจะให้มีสินทรัพย์ประเภทนี้ ก็ต้องควบคุมให้ได้ในระดับหนึ่ง    

นอกจากนี้ ในส่วนแผนงานสำคัญของสมาคมฯ จะดำเนินการมีอีก 2 เรื่องคือ ยังได้มีการคุยกับก.ล.ต. เรื่องของแผนขยายฐานนักลงทุนกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(Provident Fund) ให้เพิ่มมากขึ้น  ตอนนี้สมาคมฯ กับก.ล.ต. อยู่ระหว่างทำการศึกษาว่าจะทำอย่างไร ให้คนถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้มากขึ้น ในขณะที่กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ยังไม่เกิด 

ดังนั้น ช่วงนี้ถือว่า เป็นช่วงของการเก็บข้อมูลศึกษาว่าเซ็กเมนต์ไหนควรเริ่มก่อน  เพื่อหนุนคนไทยออมเงิน ผ่านกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยสมาคมฯ ตั้งเป้าหมายให้เกิดผลสำเร็จภายในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า และอยากเห็นฐานนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเติบโตเพิ่มเท่าตัวจากปัจจุบันมีฐานนักลงทุนกองทุนรวมที่ 1.75 ล้านคน  ถือว่ายังน้อยมาก ขณะที่ฐานนักลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีฐานมีเพียง 3 ล้านคน แต่อยู่ในวัยแรงงานมีเกือบ 30 ล้านคน   

ส่วนอีกเรื่องคือ แผนการผลักด้านการลงทุนที่ยั่งยืน (ESG)  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักที่ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมา ก.ล.ต.มีเกณฑ์ให้เปิดเผยข้อมูลบริษัทภาคสมัครใจ แต่ในปี 2566 จะเป็นภาคบังคับในการที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับ ESG  เชื่อว่า ข้อมูล ESG จะมีมากขึ้นจากความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยดูดีขึ้น 

โดยทางสมาคมฯ จะเดินหน้าวางโรดแมปของ ESG สอดคล้องเป้าหมายของ ก.ล.ต.และเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยด้วยเช่นกัน อาทิ ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณานโยบายการลงทุนสอดคล้องกับ ESG  รวมถึงการดึงข้อมูลที่จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก บจ.ทำออกมาให้เป็นรูปธรรมในของแต่ละเรื่องว่าจะเป็นอะไรบ้าง โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้จัดการกองทุนมีโอกาสที่จะใช้มากขึ้นรวมไปถึงการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาการลงทุนชัดเจนมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์