ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

  คงไม่มีอะไรที่คนรุ่นใหม่สนใจเท่ากับการร่ำรวยอย่างรวดเร็วโดยออกแรงน้อยที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุดด้วย    เมื่อมองไปทั่วโลกแล้วก็เห็นการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) นี่แหละ

คริปโทเคอร์เรนซีถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิตัล (Digital Assets และปัจจุบันเป็นชื่อที่ใช้เรียกกัน) แต่การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการสูญเสียและอาจสร้างภาระให้แก่เศรษฐกิจได้

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (“สภาพัฒน์”)  ผลิตเอกสารชื่อ “ภาวะสังคมไทย” เพื่อเผยแพร่มายาวนาน    มีรายงานเกี่ยวกับสภาวะสังคมและบทความดี ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ  

ในฉบับเดือนสิงหาคม 2565    มีบทความที่น่าสนใจชื่อ “พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาด currency”   วันนี้ขอนำเนื้อหาของบทความนี้มาสื่อสารต่อ

คริปโทเคอร์เรนซี เป็นสินทรัพย์ดิจิตัลประเภทหนึ่งที่แต่แรกเอกชนสร้างขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการซื้อขายระหว่างต่างประเทศ

(ที่จริงแต้มสะสมที่ร้านค้าทั้งหลายให้ลูกค้าก็เป็นคริปโทเคอร์เรนซี่อย่างหนึ่งเพียงแต่ชำระกันได้ระหว่างลูกค้ากับบริษัทหนึ่งเท่านั้น ถ้าเกิดมีคนเชื่อถือกันมากว่าไม่เป็นอากาศ และมีการชำระกันข้ามร้านค้าได้ก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากคริปโทเคอร์เรนซีในโลก)

ในปัจจุบันมีคริปโทฯอยู่เป็นร้อยสกุล ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ bitcoin 

ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

อย่างไรก็ดีในระยะเวลาต่อมามันมิได้ใช้แค่ชำระเงินเท่านั้นหากผู้คนเอามาเก็งกำไรกันเพราะเชื่อว่ามันจะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต (คล้ายธนบัตรเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าสูงขึ้น)    

เนื่องจากผู้ผลิตออกมามีวิธีการ “ปั่น” ด้วยการสร้างกระแสว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปกว่านี้ในอนาคตเพราะจะมีจำนวนจำกัดและกว่าจะได้มาก็แสนยาก   ต้อง “ขุด” ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีไอทีขั้นสูง หรือไม่ก็ซื้อต่อมาอีกทีหนึ่ง

​ ในระดับโลก  ณ สิ้นปี 2564 คริปโทฯทั้งหมด มีมูลค่าตลาด (ทุกหน่วยที่มีในตลาดคูณกับราคาที่ซื้อขายกัน) ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ     เทียบกับมูลค่าเพียง 1.9 แสนล้าน เมื่อต้นปี 2563 (เพิ่มขึ้น 12.4เท่าตัว)  

ในปี 2564 มีผู้ครอบครองคริปโทฯ   เพิ่มจาก 106 ล้านคนทั่วโลกเมื่อต้นปี เป็น 295 ล้านคนเมื่อสิ้นปี

ในประเทศไทยก็เกิดความบ้าคลั่งตามชาวโลก    ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565    มีจำนวนบัญชีซื้อขายคริปโทฯถึง 2.5 ล้านบัญชี โดยเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2563  ที่มีจำนวนเพียง 1.7 แสนบัญชีเท่านั้น  และในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการซื้อขายคริปโตฯ  เฉลี่ย 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน

ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

​ อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2564-2565   สถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นของคริปโทฯ ก็มาเยือน    มูลค่าในตลาดโลกลดลงจากสูงสุด 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ในพฤศจิกายน 2564  เหลือเพียง 8.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมิถุนายน 2565    

สาเหตุจากปัญหาไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเมืองโลก    การขาดความเชื่อมั่นในตลาดคริปโทฯ    เหตุการณ์ล่มสลายของเหรียญ LUNA-UST  และแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโทฯ   จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก    

กองทุนที่ลงทุนในคริปโทฯ ถูกคำสั่งศาลให้ล้มเลิกกิจการ     หลายบริษัทเสี่ยงล้มละลาย   ฯลฯ    ถึงแม้ผลกระทบต่อไทยจะไม่ชัดเจนดังกรณีต่างประเทศ    แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติกรรมการลงทุนในตลาดคริปโทฯ ของคนไทยแล้วอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการลงทุนดังกล่าวได้ดังนี้

(1)  ผู้ลงทุนในคริปโทฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่    บัญชีของผู้ลงทุนในคริปโทฯ กว่าครึ่งเป็น     ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี (ร้อยละ 3 มีอายุต่ำกว่า 20 ปี)  และร้อยละ 47  เป็นบัญชีลงทุนของผู้ที่มีอายุ             21-30 ปี   

(2)  1 ใน 5 ของผู้ลงทุนในคริปโทฯ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโทฯ อยู่ในระดับน้อย และร้อยละ 25 ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน   ผู้ลงทุนที่ศึกษาความเสี่ยงและผลตอบแทนก่อนการลงทุนอย่างละเอียดมีเพียงร้อยละ 25.45 เท่านั้น  

ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

และนอกจากนี้มีนักลงทุนที่มีการศึกษาเกี่ยวกับคริปโทฯ ค่อนข้างน้อยและไม่มีการศึกษาเลย    มีสัดส่วนร้อยละ 19.59 และร้อยละ 6.43 ตามลำดับ    

  (3)  มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโทฯ   ลงทุนเพื่อความสนุก    บันเทิง   และเข้าสังคม

(4)    นักลงทุนคริปโทฯ ร้อยละ 64.8 ใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ    เนื่องจากมีความกังวลว่าจะต้องเสียภาษี    

แม้พฤติกรรมดังกล่าวสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย   แต่การเลือกใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล และไม่สามารถตรวจสอบ และติดตามเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มในประเทศซึ่งได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตลาด คริปโทฯ ที่มีความเสี่ยงในหลายด้าน  ผู้ลงทุนในตลาดคริปโทฯ ควรเข้าใจความเสี่ยงที่สำคัญของตลาดคริปโทฯ ดังนี้   

(1)  ตลาดคริปโทฯ ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย    ตลาดของคริปโทฯ เป็นการซื้อ/ขายในระดับโลกที่สามารถทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศใด ๆ ก็ได้    

แม้ว่าประเทศไทยจะมี ก.ล.ต. ทำหน้าที่กำกับดูแลในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯแต่การกำกับดูแลเป็นเพียงบางส่วนของธุรกรรมในตลาดคริปโทฯ เท่านั้น    ไม่สามารถกำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโทฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโทฯ ที่ทำการซื้อ/ขายผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยได้

(2)  คริปโทฯ ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน    การลงทุนในตลาดคริปโทฯ มีความแตกต่างจากการลงทุนประเภทอื่น ๆ ในเรื่องการไม่มีทรัพย์สินค้ำประกันทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า   ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใด ๆ เลย  

 อาทิ กรณีเหรียญ Terra Classic ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3,903 บาท/เหรียญ   ในเดือนเมษายน 2565 และตกลงมาเหลือเพียง 0.003 บาท/เหรียญ ในเดือนถัดมา 

ความเสี่ยงจากคริปโทเคอร์เรนซี | วรากรณ์ สามโกเศศ 

      (3)  ตลาดคริปโทฯ ถูกชี้นำได้ง่าย   ในการเปลี่ยนแปลงของราคา   คริปโทฯ สามารถถูกชี้นำจากข่าวสาร แทนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานดังเช่นการลงทุนในหุ้น   รวมทั้งตลาดคริปโทฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก   

ตลาดคริปโทฯมีการหลอกลวงและโกงหลายรูปแบบ  เช่น   หลอกให้กรอกรหัสลงเว็บไซต์ปลอมเพื่อขโมยเหรียญคริปโทฯ   ชักชวนลงทุนว่าทำกำไรได้เกินจริง    ลวงให้เข้ามาซื้อเหรียญปลอม  ปั่นราคาและฉ้อโกงเหรียญคริปโทฯด้วยเทคนิคไอที  ฯลฯ

​ เทคโนโลยีใหม่ก่อให้เกิดการลงทุนแบบใหม่  ความเสี่ยงลักษณะใหม่ และการต้มตุ๋นแบบใหม่ในเวลาเดียวกันในช่วงเวลาที่การกำกับและควบคุมยังตามไม่ทัน     ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ต้องตระหนักในธรรมชาติของความเสี่ยง และของผู้ต้องการหลอกลวงและต้มตุ๋นด้วย.