MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 9-12 ตุลาคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 9-12 ตุลาคม 2566

เงินบาทพลิกแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทพลิกแข็งค่าท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังมีสัญญาณสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสหรัฐฯ

•    SET Index เผชิญแรงขายก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ แต่ยังปิดบวกได้ เนื่องจากคลายกังวลบางส่วนต่อประเด็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ   

เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังมีสัญญาณตึงเครียดในอิสราเอล อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยได้รับอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านออกมาให้ความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้บันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 19-20 ก.ย. ยังสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า  

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 9-12 ตุลาคม 2566

ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 37.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,854 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 16,287 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 17,307 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,020 ล้านบาท) 
 

สัปดาห์ถัดไป (16-20 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนต.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รายงาน Beige Book และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ตลอดจนยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย. ด้วยเช่นกัน  

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ แต่สามารถปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆเข้ามาหนุน ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก หุ้นไทยกลับมาย่อตัวลงอีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากมีแรงขายก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ 

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 9-12 ตุลาคม 2566

ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,450.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.86% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,639.27 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.81% มาปิดที่ระดับ 432.31 จุด
 

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,420 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนต.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย.ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม