MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-7 ตุลาคม 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-7 ตุลาคม 2565

เงินบาทขยับแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด

•    SET Index ปิดที่ระดับต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน โดยเผชิญแรงกดดันจากแรงขายเพื่อปรับพอร์ตของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่า แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ก่อนจะพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและตัวเลขการเปิดรับสมัครงานออกมาอ่อนแอกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ แต่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ  เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด 

สำหรับมุมมองต่อสถานการณ์เงินบาทนั้น ธปท. ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาท มีสาเหตุมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยธปท. เข้าไปดูแลตลาดในบางช่วงเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-7 ตุลาคม 2565

 

ในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 37.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 37.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ก.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 3-7 ต.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,202 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflow เข้าสู่ตลาดพันธบัตร 3,171 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 4,142 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 971 ล้านบาท) 
 

สัปดาห์ถัดไป (10-14 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.00-37.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค มุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินของเจ้าหน้าที่เฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับทบทวนใหม่โดย IMF ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด (20-21 ก.ย.) ผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ และตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนก.ย. ด้วยเช่นกัน 

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณคุมเข้มของเฟด และข่าวเกี่ยวกับสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย.ของไทยชะลอตัวลง นอกจากนี้มีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปหลายกลุ่ม โดยเฉพาะเทคโนโลยี และแบงก์ ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานมีอานิสงส์เพิ่มเติมจากการปรับลดกำลังการผลิตของโอเปคพลัส อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ก่อนการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลประกอบการไตรมาส 3/65 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-7 ตุลาคม 2565

 

ในวันศุกร์ (7 ต.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,579.66 จุด ลดลง 0.62% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64,036.92 ล้านบาท ลดลง 10.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.75% มาปิดที่ระดับ 641.84 จุด     
 


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และยอดค้าปลีกเดือนก.ย. รวมถึงบันทึกการประชุมของเฟด (20-21 ก.ย.) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภค