จับตา 'ประมูลพันธบัตรสหรัฐ' จุดวัดใจโลกต่อสินทรัพย์อเมริกา

ทั่วโลกจับตาการประมูลพันธบัตรสหรัฐสัปดาห์นี้ โฟกัสอยู่ที่พันธบัตร 30 ปี จุดวัดใจทดสอบความเชื่อมั่นตลาดทุนโลกต่อสินทรัพย์สหรัฐ หลังความกังวลเรื่อง 'หนี้สหรัฐ' มาแรง ดันบอนด์ยีลด์ระยะยาวพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี แตะ 5.16%
"การประมูลพันธบัตร" ของกระทรวงการคลังสหรัฐในสัปดาห์นี้ เป็นครั้งที่ "ได้รับความสนใจมากกว่าปกติ" เพราะจะเป็นบททดสอบความเชื่อมั่นของตลาดต่อสินทรัพย์ของสหรัฐ และแม้ดูเหมือนว่านักลงทุนจะยังสนใจในพันธบัตรระยะสั้นและระยะกลาง แต่ความต้องการ "พันธบัตรระยะยาวนั้น" ยังมีความไม่แน่นอน
การประมูลที่เคยเป็นกิจกรรมตามปกติกลับกลายมาเป็นจุดสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะเครื่องชี้วัดอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศ ท่ามกลางเส้นตายการเจรจาการค้าในวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนที่การบังคับใช้ "ภาษีศุลกากรตอบโต้" ของสหรัฐกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
นอกเหนือจากตั๋วเงินคลัง (T-Bills) แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐจะประมูลพันธบัตรระยะกลางอายุ 3 ปี และ 10 ปี รวมทั้งพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 ปี มูลค่ารวม 119,000 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 3.9 ล้านล้านบาท) โดยพันธบัตรอายุ 30 ปี จะถูกจับตามอง "สัญญาณ" อย่างใกล้ชิดมากที่สุดว่า มีการบ่งชี้ว่านักลงทุนในพันธบัตรกำลังยืนกรานและปฏิเสธประเทศที่มีการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลและหนี้สินมหาศาลหรือไม่
"เรากำลังอยู่ในภาวะที่นักลงทุนกำลังมองไปยังอุปสงค์ที่อาจลดลง แต่อุปทานยังดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอีก" แซคารี กริฟฟิธ หัวหน้าฝ่ายการลงทุนและกลยุทธ์มหภาคของ CreditSights กล่าว
กลุ่มพิทักษ์ตลาดพันธบัตร (bond vigilantes) หรือกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่มักเทขายพันธบัตรเพื่อลงโทษรัฐบาลที่ก่อหนี้มากเกินไปและดูเหมือนว่าได้กลับมาในตลาดอีกครั้งแล้วนั้น เป็นเหมือน “ผู้แทนที่ตั้งคำถามต่อการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลทั่วโลก” ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการลดภาษีของสหรัฐจะกระตุ้นให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ภาษีศุลกากรจะจำกัดการเติบโตของโลกและบังคับให้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "มูดี้ส์ เรทติงส์" (Moody's) ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว ยังเป็นการย้ำเตือนอย่างชัดเจนด้วยว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับ "หายนะหนี้สินมูลค่า 36 ล้านล้านดอลลาร์"
วันอังคารนี้ (10 มิ.ย.) กระทรวงการคลังจะเปิดประมูลพันธบัตรอายุ 3 ปี มูลค่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยพันธบัตรอายุ 10 ปี มูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพุธ และพันธบัตรอายุ 30 ปี มูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วนักวิเคราะห์หลายคนยังคาดว่าการประมูลเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่น
กุนีธ ทิงกรา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของธนาคาร BNP Paribas ในนิวยอร์ก กล่าวว่า "แนวโน้มการประมูลครั้งนี้คาดว่าจะเป็นที่น่าพอใจ ตัวเลขการประมูลส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าอุปสงค์จากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ"
ส่วนผลการประมูลพันธบัตรอายุ 3 ปี เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ยังมีดีมานด์ที่แข็งแกร่งอยู่ การประมูลทางอ้อมซึ่งรวมถึงธนาคารกลางของต่างประเทศกวาดส่วนแบ่งไป 62% ของมูลค่าการออกพันธบัตรทั้งหมด แม้จะต่ำกว่าตัวเลขก่อนหน้าในเดือนเม.ย. แต่ก็ยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของการประมูล 12 ครั้งที่ผ่านมา
นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะรัฐบาลต่างชาติ มักจะมุ่งไปที่พันธบัตรระยะสั้น โดยเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุครบกำหนดไถ่ถอนน้อยกว่า 5 ปี ตามผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐ
เจย์ แบร์รี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยโลกของ J.P. Morgan ระบุในบันทึกว่า การที่นักลงทุนภาครัฐต่างประเทศให้ความสำคัญกับพันธบัตรระยะสั้นนั้น บ่งชี้ว่า หากมีการปรับลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐ อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะของการปล่อยให้พันธบัตรครบกำหนดและไม่ลงทุนซ้ำ แทนที่จะขายพันธบัตรออกโดยตรง
จับตาพันธบัตร 10 ปี กับตัวเลข CPI
สิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าอาจคาดเดาได้ยากก็คือ การประมูลพันธบัตร 10 ปีในวันพุธ เพราะจะมีขึ้นในวันเดียวกับที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าจากสถิติการประมูลที่ผ่านๆ มา คาดว่าจะมีผู้ประมูลพันธบัตร 10 ปีจำนวนมาก
การประมูลครั้งที่แล้วในเดือนพ.ค. มีดีมานด์ที่แข็งแกร่ง การประมูลทางอ้อมมีส่วนแบ่งประมาณ 76% ของพันธบัตรที่ออกทั้งหมด สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการประมูล 12 ครั้งซึ่งอยู่ที่ 72%
"เราเคยมองว่าปัจจัยหลักของผู้ซื้อก่อนหน้านี้ก็คือ สงครามการค้าและการลดบทบาทในตลาดพันธบัตรสหรัฐ" เบน เจฟเฟอรี รองประธานฝ่ายซื้อขายอัตราดอกเบี้ยของ BMO Capital Markets กล่าว
“แต่ตอนนี้...อาจเกิดข้อโต้แย้งในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ทำไมเราต้องถอนตัวออกจากตลาดพันธบัตรก่อนกำหนด แทนที่จะสนับสนุนพันธบัตรสหรัฐอย่างต่อเนื่องในฐานะเครื่องมือต่อรอง และเราก็ยังไม่เห็นหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ ว่า รัฐบาลต่างประเทศถอยห่างจากพันธบัตรสหรัฐจริงๆ”
ส่วนการประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปี อาจจะออกมาในทิศทางไม่ดีก็แย่ไปเลย นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่าพวกเขาจะไม่แปลกใจเลยหากผลการประมูลออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการขายพันธบัตรระยะยาวทั่วโลกที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 30 ปีของสหรัฐ ซึ่งยีลด์พุ่งไปแตะระดับ 5.16% ในเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2023
"พันธบัตรอายุ 30 ปี เปรียบเสมือนตัวแทนของความกังวลด้านการคลังทั้งหมดในตลาด" ทิงกราจาก BNP Paribas กล่าว "แต่ถ้าคุณดูจากสถิติที่มีจนถึงเดือนเม.ย. จะเห็นว่า การประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปี ยังคงมีอุปสงค์ค่อนข้างคงที่จากดีลเลอร์"
อย่างไรก็ตาม การประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปี เมื่อเดือนที่แล้วไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก ต้องเสนอผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่คาดไว้เมื่อถึงกำหนดเส้นตายการประมูล ซึ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนต้องการแรงจูงใจมากขึ้น ส่วนการประมูลทางอ้อมออกมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการประมูล 12 ครั้งเล็กน้อย และหากย้อนไปดูการประมูลในเดือนเม.ย. จะพบว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเช่นกัน
"อุปสงค์ของนักลงทุนต่างชาติสำหรับพันธบัตรอายุ 30 ปี อาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว" กริฟฟิธ กล่าว
ที่มา: Reuters