‘King of Sports’ ที่ไม่มี ‘King of Content’ ชีวิตหลังไร้พรีเมียร์ลีกของทรูวิชั่นส์ ถึงขาดใจหรือไม่?

‘King of Sports’ ที่ไม่มี ‘King of Content’ ชีวิตหลังไร้พรีเมียร์ลีกของทรูวิชั่นส์ ถึงขาดใจหรือไม่?

หนึ่งในความภาคภูมิในของชาวทรูวิชั่นส์ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาหรืออาจจะนานกว่านั้นคือการเป็นแหล่งรวมสุดยอดการแข่งขันกีฬาระดับโลกเพื่อตอบสนองแฟนกีฬาชาวไทย โดยพร้อมจะทุ่มเงินเพื่อคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาไม่ว่าจะราคาสูงหรือเจรจายากสักแค่ไหนก็ตาม นั่นเป็นที่มาของสมญา “King of Sports” ราชาแห่งเกมกีฬาที่เป็นภาพจำมาโดยตลอด

KEY

POINTS

  • ในความรู้สึกของชาวทรูวิชั่นส์แล้ว พวกเขายังคงเป็น “King of Sports” อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
  • ทรูวิชั่นส์มีลีกชั้นนำอย่าง ลาลีกา สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมนี รวมถึงรายการสโมสรฟุตบอลยุโรปที่ถือว่าเป็น “ที่สุด” ของเกมลูกหนังอย่างยูเอฟา แชมเปียนส์ ลีก
  • หนึ่งในถ้อยคำที่น่าสนใจของผู้บริหารใหญ่ทรูวิชั่นส์คือการบอกว่าการพลาดพรีเมียร์ลีกทำให้ทรูวิชั่นส์ “มีเงินเหลือ”
  • งบประมาณที่เหลือจากการไม่ได้ซื้อพรีเมียร์ลีกเผื่อแปรรูปเป็นอย่างอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อซีรีส์, ภาพยนตร์, รายการความบันเทิงอื่นๆ รวมถึงการสร้าง Original Contents ของตัวเอง และการเจาะเทรนด์ใหม่อย่างละครสั้น (Shorts)
  • แม้การโปรโมตเรื่องบริการ OTT จะมาแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ลูกค้าของทรูวิชั่นส์กลุ่มที่เหนียวแน่นยังมีอยู่อีกราว 1.3-1.4 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ชมที่มีพฤติกรรมในการรับชมแบบเดิมในแบบที่ “เขายังคงอยากกดรีโมตเปลี่ยนช่องอยู่”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางคอนเทนต์กีฬามากมาย ไม่มีอะไรที่สำคัญและมีความหมายต่อแฟนกีฬามากไปกว่าการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะฟุตบอลพรีเมียร์ลีก คอนเทนต์กีฬาที่ดีและได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลของโลก

พรีเมียร์ลีกเองนอกจากจะได้รับการขนานนามว่าเป็น “The Greatest Show on Earth” ก็ได้ชื่อว่าเป็น “King of Content”​ เช่นเดียวกันสำหรับเหล่าผู้ให้บริการทั่วโลก ที่พร้อมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อแลกกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

ราวกับว่าใครได้พรีเมียร์ลีกไปครอง ผู้นั้นมีโอกาสได้ครองแผ่นดินเลยทีเดียว แต่เวลานี้ทรูวิชั่นส์เตรียมที่จะโบกมืออำลาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกซึ่งจะปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ พวกเขาพร้อมแค่ไหนสำหรับชีวิตที่จะไม่มีพรีเมียร์ลีก King of Sports จะยังคงรันวงการได้เหมือนเดิมหรือไม่?

Long Live the King of Sports

ในความรู้สึกของชาวทรูวิชั่นส์แล้ว พวกเขายังคงเป็น “King of Sports” อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องนี้มาจากคำพูดของ องอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์ และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอนาคตของผู้ให้บริการที่เก่าแก่และมีประสบการณ์ผ่านร้อนและหนาวมาอย่างยาวนานที่สุด

แน่นอนการขาดพรีเมียร์ลีกย่อมมีผลกระทบมหาศาล แต่ไม่ได้หมายความว่าทรูวิชั่นส์จะไม่มีกีฬาอะไรให้แฟนๆดู

ในเกมฟุตบอลทรูวิชั่นส์มีลีกชั้นนำอย่าง ลาลีกา สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมนี รวมถึงรายการสโมสรฟุตบอลยุโรปที่ถือว่าเป็น “ที่สุด” ของเกมลูกหนังอย่างยูเอฟา แชมเปียนส์ ลีก, ยูเอฟา ยูโรปา ลีก และยูเอฟา ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์​ ลีก จะขาดไปก็เพียงเซเรีย อา อิตาลี และลีก เอิง ฝรั่งเศส

สำหรับรายการรองๆยังมี ซาอุดี โปร ลีก ลีกฟุตบอลของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่มาแรงและน่าจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2-3 ปีหลังเพราะมีซูเปอร์สตาร์ระดับโลกทยอยย้ายไปเล่น นำโดย คริสเตียโน โรนัลโด, คาริม เบนเซมา เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์หลายสมัยรวมกัน นอกจากนี้ยังมีกีฬาอื่นที่มีกลุ่มแฟนขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น

  • บาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ
  • อเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอล
  • รถแข่ง “ฟอร์มูล่าวัน”
  • จักรยานยนต์ทางเรียบ “โมโตจีพี”
  • เทนนิสที่มีรายการระดับแกรนด์สแลมให้ดู
  • แบดมินตันที่มีนักแข่งไทยเข้าร่วมแข่งขันให้ติดตามเชียร์อย่างมากมาย
  • กอล์ฟรายการใหญ่อย่างดิ โอเพ่น หรือไรเดอร์ คัพ
  •  การแข่งขันวอลเล่ย์บอลซึ่งเป็นมีแฟนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนเทนต์กีฬาเหล่านี้อยู่ในร่มเงาของพรีเมียร์ลีกมาโดยตลอดแต่เป็นคอนเทนต์ที่มีฐานแฟนจำนวนไม่น้อยเลย ซึ่งหากมองการเสียพรีเมียร์ลีกเป็นวิกฤติ นี่ก็เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำหรับการ “ปั้น” คอนเทนต์กีฬาประเภทอื่นขึ้นมาเป็น “เรือธง”​ แทนได้เช่นกัน

แต่คำถามคือจะดันขึ้นมาแทนกันได้จริงไหม? เพราะพรีเมียร์ลีกมีจุดแข็งหลายอย่างที่ได้เปรียบการแข่งขันกีฬาอื่นๆ นอกจากจะมีสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ฐานแฟนจำนวนมหาศษล นักฟุตบอลที่โด่งดัง ยังมีเรื่องเวลาในการถ่ายทอดสด

และที่สำคัญคือระยะเวลาการแข่งขันที่ยาวนานเกือบ 10 เดือน แทบจะครอบคลุมทั้งปี นี่เป็นโจทย์ที่ฝ่ายการตลาดของทรูวิชั่นส์ต้องหาคำตอบให้ได้

อยู่ไปไม่มีเธอ

ถึงแม้ผู้นำของทรูวิชั่นส์ อย่างองอาจ ประภากมล จะบอกว่า “เราเคยพลาดพรีเมียร์ลีกใสนยุคที่ CTH ได้สิทธิ์ แต่ทรูยังรอดได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดูบอลอังกฤษ เราจึงเน้นสร้างโมเดลแบบไฮบริดที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ และเน้นคอนเทนต์ที่หลากหลาย ไม่หวังแต่แม่เหล็กเพียงหนึ่งเดียว” แต่ในน้ำเสียงนั้นน่าสนใจว่ามีความมั่นใจอยู่มากน้อยแค่ไหน

 

มองย้อนกลับไปในอดีต ทรูวิชั่นส์เคยเสียพรีเมียร์ลีกมาแล้วไม่ใช่ครั้งเดียวแต่เป็นการเสียถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการเสียให้แก่บริษัท เคเบิ้ล ไทย โฮลดิ้ง หรือ CTH ใต้การนำของ วิชัย ทองแตง อดีตนักธุรกิจเศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ของไทยเจ้าของสมญา “พ่อมดตลาดหุ้น” ทุ่มเงินมหาศาลกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่ทรูวิชั่นส์เคยเสนอถึง 4 เท่าเพื่อตัดหน้าคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาครอบครองเป็นเวลา 3 ปี

ครั้งนั้นแม้ทรูวิชั่นส์จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้บนโต๊ะเจรจา แต่พวกเขากลายเป็นผู้ชนะในความรู้สึกเพราะการถ่ายทอดสดของ CTH ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจในสเกลใหญ่ระดับประเทศ ทำให้ผู้คนกลับคิดถึงการถ่ายทอดสดผ่านทางหน้าจอของทรูวิชั่นส์มากกว่า

ผ่านเวลา 3 ฤดูกาลของพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ฤดูกาล 2012-13 จนถึง 2014-15 ทรูวิชั่นส์พ่ายแพ้อีกครั้งในการประมูลเมื่อ beIN SPORTS ช่องกีฬาระดับโลกจากประเทศกาตาร์คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปครองเป็นเวลา 3 ฤดูกาล ซึ่งหวังจะทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top) อย่าง beIN SPORTS CONNECT

แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ของ beIN SPORTS ในการทำการตลาดในไทยสุดท้ายต้องหันกลับไปจับมือกับทรูวิชั่นส์ซึ่งรอคอยอยู่เฉยๆ ด้วยการออกอากาศบนแพลตฟอร์มของทรูวิชั่นส์ ทั้งในระบบเคเบิ้ลทีวีและในระบบออนไลน์ ก่อนที่จะคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาครองได้ในรอบการประมูล 2 ครั้งหลังสุด ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

อย่างไรก็ดีสำหรับครั้งนี้อาจไม่เหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมาเพราะคราวนี้คู่แข่งอย่าง JAS นั้นไม่ได้อ่อนประสบการณ์ขนาดนั้นในเวทีนี้ระดับนี้ พวกเขาไม่ได้มีแค่ MonoMax แต่ยังจับมือกับ “มิตรแท้” อย่าง AIS ที่ทำให้พรีเมียร์ลีกจะปรากฏอยู่บน AIS Play ด้วย โดยที่ระยะเวลาตามสัญญายาวนานถึง 6 ปี

6 ปีนี้ทรูวิชั่นส์จะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีเธอ

 

พรีเมียร์ลีกไม่ใช่พรแต่เป็นคำสาป?

หนึ่งในถ้อยคำที่น่าสนใจของผู้บริหารใหญ่ทรูวิชั่นส์คือการบอกว่าการพลาดพรีเมียร์ลีกทำให้ทรูวิชั่นส์ “มีเงินเหลือ”

“เราทำมา 30 ปี รู้ว่าต้นทุนเท่านี้ โอกาสทางธุรกิจรายได้ และคนดูยินดีจ่ายในราคาเท่านี้ เรารู้ดีสุดว่าต้นทุนอยู่ตรงไหน” องอาจ ประภากมล บอกเล่าถึงมุมธุรกิจที่น่าสนใจ และไม่ผิดแผกไปจากความเป็นจริงด้วย

นั่นเพราะหากมองมูลค่าการประมูลใน 4 รอบที่ผ่านมาซึ่ง “เชื่อกันว่า” จบที่หลักหมื่นล้านบาทต่อระยะเวลา 3 ปี นั่นหมายถึงต่อปีแล้วทรูวิชั่นส์จะต้องจ่ายเงินให้กับพรีเมียร์ลีกราว 3,000-3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้ก้อนโตที่สร้างแรงกดดันอย่างมาก

เพราะปัญหาคือแม้ต้นทุนแพงแต่ขายแพงไม่ได้เนื่องจากแฟนฟุตบอลชาวไทยมีแนวต้านในใจสำหรับการจ่ายเงินเพื่อชมฟุตบอลแบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ โดยที่หากผิดหวังกับราคาก็พร้อมจะหันไปหาด้านมืด เพราะมี “ช่องทางผิดธรรมชาติ” ให้ติดตามได้ไม่ยาก (ความแสบคือบางครั้งชัดและไม่ดีเลย์แบบช่องทางถูกธรรมชาติด้วย)

นั่นส่งผลให้ทรูวิชั่นส์ลำบากอยู่ไม่น้อย ซึ่งในปีสุดท้ายของสัญญาลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก มีการขยับขึ้นราคาสูงผิดปกติจากเดิมราว 2,500-3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นที่เข้าร่วม) สำหรับการรับชมตลอดฤดูกาล (ซีซั่นพาส) เพิ่มเป็น 5,490-5,990 บาท

ตีความได้ว่าทรูวิชั่นส์เองก็เจ็บหนักในช่วง 2 ปีแรกของสัญญารอบใหม่ และต้องพยายามหารายได้เพิ่มขึ้น เพราะตัวเลขมหาศาลที่จ่ายไปไม่สามารถจะถอนทุนคืนจากสปอนเซอร์ได้ครบถ้วนทั้งหมดอีกต่อไปแล้ว

เรื่องนี้มองในทางตรงกันข้าม ก็เหมือนกับการที่เราอยากได้รองเท้าสนีกเกอร์สวยๆสักคู่หนึ่ง แต่รองเท้านั้นแพงจนรู้สึกลังเลที่จะจ่าย และดันมีคนมาตัดหน้าซื้อไปพอดี จากที่จะเสียเงินหมื่น (ล้าน) ก็ประหยัดไปหมื่น (ล้าน) อาจจะเสียดายอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะเสียใจน้อยลงก็เป็นไปได้เหมือนกัน

 

แปรรูปพรีเมียร์ลีก

อย่างไรก็ดีทรูวิชั่นส์ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ไว้แล้ว โดยแม้จะยังคงยืนยันการเป็น “The King of Sports” เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือการขอเป็น “King of Contents” (ในความหมายที่แตกต่างจากพรีเมียร์ลีกที่เป็น King of Content)

กล่าวคือทรูวิชั่นส์จะงบประมาณที่เหลือจากการไม่ได้ซื้อพรีเมียร์ลีกเผื่อแปรรูปเป็นอย่างอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อซีรีส์, ภาพยนตร์, รายการความบันเทิงอื่นๆ รวมถึงการสร้าง Original Contents ของตัวเอง และการเจาะเทรนด์ใหม่อย่างละครสั้น (Shorts)  ไม่นับโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน

เหตุผลดีๆอีกอย่างคือทรูวิชั่นส์นั้นลึกๆรู้อยู่แล้วว่าตลาดกีฬาไม่ใช่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ตลาดความบันเทิงต่างหากที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

การเฟ้นหาคอนเทนต์ที่สนุกที่สุด ดีที่สุด ฮิตที่สุดมารวมกันไว้ให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการสร้าง Original Contents ที่ดีที่สุดจึงเป็นอีกความท้าทายของทรูวิชั่นส์ด้วย    

กลยุทธ์ไฮบริดสู้เกมเพรสซิงจาก AIS Play

สิ่งที่น่าสนใจคือทรูวิชั่นส์มีความร่วมมือกับแอปพลิเคชั่นจากต่างประเทศที่รวบรวมคอนเทนต์ความบันเทิงเอาไว้มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Max (กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น HBO Max), iQIYI, WeTV และ VIU

พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่ากลยุทธ์แบบ “ไฮบริด” ที่จะให้บริการควบคู่กันไประหว่างกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมที่รับชมผ่านกล่องบริการในระบบเคเบิ้ลทีวี และลูกค้ากลุ่มสมัยใหม่ที่รับชมผ่านระบบ OTT ทาง Truevisions Now ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT รูปแบบใหม่ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปีที่แล้ว เรียกว่าจะลูกค้ากลุ่มไหนก็พร้อมกล่าวยินดีต้อนรับเสมอ อย่างไรก็ดีหากมองไปที่คู่แข่งที่อาจจะเป็นตัวจริงอย่าง AIS Play พวกเขาก็มีทุกอย่างที่ทรูวิชั่นส์มี และมีมากกว่าด้วย

นั่นเพราะกลยุทธ์ในการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ทำมาโดยตลอดทำให้ยังมี Disney+, Prime Video, 3+, One รวมถึง Mono Max ที่จะมาพร้อมกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26 เป็นต้นไป

ที่สำคัญคือ “ราคา” ของ AIS Play นั้นต่ำกว่าเกินครึ่ง ในราคา 999 บาทต่อเดือนสำหรับแพ็คเกจใหญ่ที่สุด ขณะที่แพ็คเกจ Truevisions NOW นั้นหากอยากดูแบบครบๆต้องจ่ายเงินถึง 2,155 บาทต่อเดือน

ในยุคข้าวยากหมากแพงและมีตัวเลือกเยอะขึ้นเรื่อยๆแบบนี้ ต้องบอกว่าลำบาก โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึงการที่ Truevisions NOW ยังมีความทับซ้อนกับ TrueID อีกหนึ่งบริการในเครือทรูและชวนให้รู้สึกเหมือน “เตะตัดขา” กันเองในหลายแง่

การสื่อสารให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนว่าตกลงแล้ว Truevisions NOW กับ TrueID เหมือนหรือแตกต่างกันตรงไหน (หลักๆคือ Truevisions NOW ผูกกับบริการของทรูวิชั่นส์ ส่วน TrueID คือการคอนเวอร์เจนซ์กันของบริการอื่นๆในเครือทรู เช่น ทรูมูฟเอช, ทรูไฮสปีด) การวางโพสิชั่นของทั้ง 2 บริการให้ลดความทับซ้อนกันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เรียบร้อยเช่นกัน

ลูกค้าเก่าต้องรักษาเท่าชีวิต

แม้การโปรโมตเรื่องบริการ OTT จะมาแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ลูกค้าของทรูวิชั่นส์กลุ่มที่เหนียวแน่นยังมีอยู่อีกราว 1.3-1.4 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ชมที่มีพฤติกรรมในการรับชมแบบเดิมในแบบที่ “เขายังคงอยากกดรีโมตเปลี่ยนช่องอยู่”

การรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ให้ได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าไม่ไหลออกจากตะกร้าของตัวเองไปอยู่ตะกร้าของคนอื่น

ทั้งในกลุ่มของลูกค้าคอกีฬาที่แน่นอนว่าจะมีคนจำนวนมากมายมหาศาลที่จำเป็นต้องเลือกใช้บริการของ AIS Play เพื่อติดตามชมเกมฟุตบอลที่ชื่นชอบอย่างพรีเมียร์ลีก จะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยังอยู่กับทรูวิชั่นส์ต่อไปเหมือนเดิม แล้วไปเพิ่มเติมพรีเมียร์ลีกอย่างเดียว และกลุ่มลูกค้าใหญ่กว่าอย่างกลุ่มความบันเทิง ก็ยิ่งต้องหาอะไรมาประเคนให้และต้องทำโดยเร็วที่สุดด้วย

โดยสิ่งที่ทำได้มีหลายอย่างก็จริง ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา การจัดโปรโมชั่นพิเศษ ไปจนถึงสิทธิพิเศษต่างๆสำหรับลูกค้า ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ของรางวัล (Prize) แต่เป็นรูปแบบของ “ประสบการณ์” (Experience) ที่แบรนด์จะมอบให้แก่ลูกค้าได้ และเป็นสิ่งที่คนสมัยใหม่ต้องการ เช่น การได้โอกาสพบกับนักกีฬา หรือศิลปินคนโปรดอย่างใกล้ชิด

แต่สุดท้ายคำถามจะวนกลับมาว่าสิ่งที่ทรูวิชั่นส์นำเสนอให้แก่ลูกค้านั้น “คุ้มค่า” พอที่จะทำให้พวกเขายอมจ่ายหรือไม่

อย่าลืมว่าผู้บริโภคยุคนี้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าในอดีตมาก

แพงไป ไม่คุ้มค่า เจอคู่แข่งที่คุ้มค่ามากกว่า ใจคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ (ถามเอ็มเคกับบาร์บีก้อนได้เลย...)