คลัง "ติดดาบ" ก.ล.ต.ฟันทุจริต เร่งคลอด พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจสอบสวน

“คลัง” ชง ครม.สัปดาห์หน้า คลอด พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.สอบสวนคดีอาญา ส่งอัยการสั่งฟ้อง หวังลดความเสียหาย เรียกความเชื่อมั่นตลาดทุน
KEY
POINTS
- คลังเตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า คลอด พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.สอบสวนคดีอาญา
- เอื้อส่งอัยการสั่งฟ้องทันที หวังลดความเสียหาย เรียกความเชื่อมั่นตลาดทุน
- รมว.คลังย้ำ ต้องการทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าหากเกิดกรณีที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีการจัดการ และลงโทษตามกฎหมายได้รวดเร็ว
- ก.ล.ต.ชี้ การแก้ไขกฎหมาย ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.รวดเร็วขึ้น
- ช่วยลดความเสียหายให้นักลงทุน และเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กลับมาได้
- เปิด 11 บจ. จุดชนวน เขย่าตลาดหุ้นไทย กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
ในช่วงที่ผ่านมา “ตลาดหุ้นไทย” เผชิญสารพัดปัญหา “กดดัน” ทั้งปัจจัยลบอยู่เหนือการควบคุมอย่าง “นโยบายของทรัมป์” ที่กำลัง “จุดชนวน” ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไม่เอื้ออำนวย เพราะ “เศรษฐกิจเติบโตต่ำ” เกือบเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และสินค้าส่วนใหญ่ในตลาดบ้านเราเป็น “เศรษฐกิจยุคเก่า” (Old Economy)
กรณีเลวร้ายสุดที่ทำให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ “เลี่ยงลงทุน” หุ้นไทย คงต้องยกให้ สารพัดกลโกงของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่เป็นคนทำลาย “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุน “หดหาย” ไป
ถือเป็นสารตั้งต้นความอลหม่าน จากปัญหาทางการเงิน ขาดสภาพคล่อง ใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วยลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก หรือหนักสุดการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งจงใจ และประมาทเลินเล่อ จนกลายเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายตามมา
ทั้งนี้ ผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่ บจ. ที่เกิดเหตุการณ์ และราคาหุ้นเท่านั้น แต่ยังเกิด “โดมิโนเอฟเฟกต์” ลุกลามไปแหล่งเงินระดมทุนทั้งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หุ้นกู้ ซึ่งมีกองทุนรวม และนักลงทุนรวมอยู่ด้วย
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ จะทำให้นักลงทุนต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรกับตลาดหุ้นไทยวันนี้ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่สามารถเรียกศรัทธากลับคืนมาได้
11 บจ.ที่เป็น “ชนวน” เขย่าตลาดหุ้นไทย
1.บมจ. มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE ซึ่งมีปัญหาคาบเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 จากกรณี “ปล้นกลางแดด” หลังจากพบมีปริมาณการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติกระจายในหลายโบรกเกอร์
2.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ถือเป็นการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย ซึ่งขอเลื่อนส่งงบการเงินถึง 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงาน พร้อมกันนั้น ยังมีกรรมการ และผู้บริหารหลายคนทยอยลาออก จนต่อมาตรวจพบว่า มีการทุจริตตกแต่งบัญชี รวมไปถึงมีการแจ้ง และรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จต่อตลาดฯ
3.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL มีปัญหาสภาพคล่องจนเป็นเหตุให้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ จนผู้แทนหุ้นกู้ส่งหนังสือให้ชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่าราว 1,483 ล้านบาท
4.บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ผู้บริหารสาว “แอน จักพงษ์” ซึ่งเริ่มต้นการ “ผิดชำระหนี้หุ้นกู้”
5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ปัญหาสภาพคล่องกระทบหุ้นกู้ 5 ชุด ต้องขอผ่อนผันชำระหนี้ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมไปถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
6.บมจ.สบาย เทคโนโลยี หรือ SABUY เผชิญ Force sell จากผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพอร์ตลงทุนด้วยมาร์จิน และมีการเทขายหุ้นจนเกือบหมดพอร์ตจนมีการเปลี่ยนมือหุ้นใหญ่
7. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กรณีกล่าวโทษ “สมโภชน์ อาหุนัย” และพวก ต่อ DSI และส่งเรื่อง ปปง. พบทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 3,466 ล้านบาท จนต้องยุติบทบาทผู้บริหาร บจ. ไปต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
8. บมจ.เน็กซ์ พอยท์ หรือ NEX ราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเทขายหุ้นออกมาจากการถูก Force sell และรายงานข้อมูลขายหุ้นไม่ตรงกัน
9. บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG รับผลกระทบอ้อมกรณี “หมอบุญ วนาสิน” และพวกรวม 9 คน หลอกลวงนักลงทุนโครงการทิพย์
10. บมจ.อาร์เอส หรือ RS กรณีราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ หลัง “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" จำนำหุ้น “อาร์เอส” และพบมีการ “กู้เงินใน-นอกตลาด”
11. บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป หรือ YGG ผู้ถือหุ้นใหญ่ถูก Force sell ราคาหุ้นร่วงฟลอร์
“คลัง”เล็งชง พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการเรียกความเชื่อมั่นตลาดทุนต้องทำให้ผู้ลงทุนนั้นลงทุนด้วยความเรียบร้อย และไม่ให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการออก พ.ร.ก.เป็นการเร่งด่วนเพื่อให้อำนาจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถือว่าเป็นการให้อำนาจการทำงานเร่งด่วนโดยในกรณีที่มีความสำคัญจริงจะขอให้เร่งดำเนินการได้ โดย ก.ล.ต.มีเครื่องมือมาทำงาน และคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้สัปดาห์หน้า
“การลงทุนในหุ้นนั้นเราต้องการทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าหากเกิดกรณีที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีการจัดการ และลงโทษตามกฎหมายในเรื่องนี้เราก็พร้อมที่จะทำในเรื่องกฎหมายให้มีความชัดเจน” นายพิชัย กล่าว
ก.ล.ต.หวังลดความเสียหายนักลงทุน
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.เสนอแก้ไขอำนาจของ ก.ล.ต.ผ่านการยกร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ....) พ.ศ.... เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่
และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในความผิดอาญาบางประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการได้เพิ่มเติม
ขณะนี้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ปรับปรุงกฎหมาย โดยเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปี 2567 เพียงแต่อาจจะออกเป็น พ.ร.ก.
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งในวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจสอบเพิ่มเติม พร้อมกับเพิ่มกำลังบุคลากร เปิดรับพนักงานใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ โดยเฉพาะ และพัฒนาบุคลากรของ ก.ล.ต.เพิ่มความรู้ และทักษะในการพนักงานสอบสวนซึ่งทางคณะกรรมการ ก.ล.ต.อนุมัติแล้ว
อีกทั้ง ก.ล.ต.เตรียมความพร้อมการออกกฎหมายลำดับรอง หากการแก้ไขกฎหมายนี้ได้สำเร็จ และมีแนวทางชัดเจนแล้ว และที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ ตำรวจ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อทำงานแบบบูรณาการรวมกันในการสอบสวนคดีอาญา
“อำนาจตามกฎหมายที่ พ.ร.ก.จะให้ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น ในกรณีที่ความเสียหายที่เป็น high impact ยกตัวอย่างเช่น กรณีหุ้น STARK ที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนจำนวนมาก กรณีแบบนี้ ก.ล.ต.จะสามารถเข้าไปดูแลได้” นางพรอนงค์ กล่าว
เลขาฯ ก.ล.ต.เชื่อสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้น
นางพรอนงค์ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.รวดเร็วขึ้นช่วยลดความเสียหายให้นักลงทุน และเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กลับมาได้
“ก.ล.ต.เป็นเจ้าของเรื่องในการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจเป็นพนักงานสอบสวน ยอมรับว่า หน้าที่นี้โดยปกติทำอยู่แล้ว เช่น คดีปั่นหุ้น อินไซด์หุ้นกระบวนการดำเนินการตรวจสอบภายในสำนักงาน ก.ล.ต.แล้วจึงส่งเรื่องไปยังตำรวจดำเนินการสอบสวนต่อไป แต่หลังกฎหมายบังคับใช้ จะบูรณาการดำเนินการสอบสวนที่สำนักงาน ก.ล.ต.แล้วจึงไปที่อัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป“
“กองทุน” หนุนดึงเชื่อมั่น บจ.
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวลงเพราะหุ้นไทยขาดเสน่ห์ และมาตรการยังไม่จูงใจมากพอ เป็นเพียงมาตรการที่คุมหรือไม่ซ้ำเติมเป็นขาลงหนักมากกว่านี้ แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยลบต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐที่กระทบเศรษฐกิจชะลอตัว
ดังนั้น มอง 3 มาตรการสร้างแรงจูงใจ ช่วยหนุนตลาดทุนไทย ได้แก่ 1.ฟื้นความเชื่อมั่น บจ. ในเรื่องธรรมาภิบาล และโครงสร้าง บจ. 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เป็นยาแรง 3.สร้างแนวโน้มการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย ด้วยหุ้นกลุ่มที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เป็น Mega trend
ครม.อนุมัติ Thai ESG Extra
นายพิชัย กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนกองทุนใหม่ หรือ “Thai ESG Extra” หรือ Thai ESGX ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี โดยที่มาของเงินแบ่งเป็น
1.วงเงินลดหย่อนที่ 1 สำหรับเงินใหม่ เฉพาะปี 2568 ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท เปิดให้ลงทุนได้ 2 เดือน คาดว่า 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2568 เพื่อกระตุ้นให้มีเงินใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่มโดยเร็ว มีระยะเวลาถือครอง 5 ปี
2.วงเงินลดหย่อนที่ 2 เปิดให้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เก่ารวม 5 ปี ไม่เกิน 500,000 บาท โดยปีนี้ให้ถือเป็นปีที่ 1 สูงสุด 300,000 บาท ในช่วงเวลา 2 เดือนเดียวกับวงที่ 1 คาดว่า 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2568 ส่วนที่ 2-5 ให้สับเปลี่ยนได้สูงสุดปีละ 50,000 บาท มีระยะเวลาถือครอง 5 ปี โดยเงินลงทุนส่วนที่เกิน 500,000 บาททั้งหมดต้องถือครอง 5 ปีด้วย
นอกจากนี้ ปี 2568 ผู้ลงทุนที่ต้องการลดหย่อนภาษีลงทุนกองทุน Thai ESG เดิมได้อีก โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมวงเงินลดหย่อนทั้ง 3 วง ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 900,000 บาท ในปี 2568
“ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนมาจากนโยบายทรัมป์ที่ขึ้นภาษีกับคู่ค้า ล่าสุดตลาดหุ้นลดลงมากทั้งดัชนี Nasdaq และดาวโจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นไทยเคยลงมา 1,200 จุด ตอนนั้นทำกองทุนวายุภักษ์ก็ดึงดัชนีขึ้นไปที่ 1,400 จุด ก่อนลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุด และได้รับผลกระทบจากข่าวสารภายนอก รัฐบาลมีแนวคิดว่าในกองทุน ESG ใหม่เลือกหุ้นมีอนาคตเติบโตยั่งยืน และลงทุนเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสเติบโตในอนาคตเชื่อว่าจะชะลอแรงขายหุ้นได้”
รัฐบาลเล็งหารือ SET100 และ SET50
นายพิชัย กล่าวว่า แนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นว่า นอกจากกองทุน Thai ESG ใหม่ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วการที่จะให้นักลงทุนมั่นใจก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำ โดยเราก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทำความเข้าใจกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีการปรับตัวให้ไปตอบโจทย์เรื่องหุ้นยั่งยืน
นอกจากนี้ในส่วนของรัฐบาลก็จะมีการไปหารือกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่อยู่ใน SET 100 และ SET 50 ว่าควรจะมีการลงทุนในลักษณะใดบ้างเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์