'ตลาดหุ้นจีน' ปรับตัวตามญี่ปุ่น ดัน 'ปันผล-ซื้อหุ้นคืน' สูงสุดทุบสถิติใหม่

'ตลาดหุ้นจีน' ปรับตัวตามญี่ปุ่น ดัน 'ปันผล-ซื้อหุ้นคืน' สูงสุดทุบสถิติใหม่

สื่อนอกชี้ ตลาดหุ้นจีนกำลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตลาดครั้งใหญ่ มุ่ง 'เงินปันผล-ซื้อหุ้นคืน' เน้นตอบแทนผู้ถือหุ้นตามรอยญี่ปุ่น ดันการจ่ายปันผลพุ่งสูงสุดทุบสถิติใหม่ในรอบเกือบสิบปี 'ตอบแทนนักลงทุนที่ยังอยู่กับตลาดหุ้นจีน'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ทุนนิยมรูปแบบใหม่กำลังปรากฏขึ้นในตลาดหุ้นจีนที่ซบเซา โดยบริษัทต่างๆ กำลังเดินหน้าตามนโยบายของปักกิ่งด้วยการ "ซื้อหุ้นคืน" และ "จ่ายเงินปันผล" ในอัตรา "สูงสุดเป็นประวัติการณ์" ให้กับนักลงทุนที่กำลังรอการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์ตลาดในปีนี้จะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่

นักลงทุนระบุว่าการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายเงินปันผลในปริมาณมหาศาล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของตลาดหุ้นจีน โดยหันมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในลักษณะเดียวกับ "การปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการในญี่ปุ่น" ที่กำลังดำเนินอยู่

ผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบสิบปี หรือนับตั้งแต่ปี 2559 โดยถือเป็นการ "ตอบแทนนักลงทุนที่กล้าหาญลงทุนในตลาดที่ซบเซามานานหลายปี" และเผชิญกับความเครียดมากขึ้นหลังจากที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

เจสัน ลุย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์หุ้นและอนุพันธ์เอเชียแปซิฟิกของธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายของจีนกำลังพยายาม "สร้างวัฒนธรรมผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น" ซึ่งหากสามารถทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ ก็จะเปลี่ยนองค์ประกอบของตลาดทุน และเราก็ได้เห็นสัญญาณเริ่มต้นบางอย่างแล้วจากผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น

แนวทางการซื้อหุ้นคืนและเงินปันผล เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่ทางการจีนให้แนวทางเอาไว้เมื่อเดือนก.ย. 2567 เพื่อพยายามเพิ่มราคาหุ้นและกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงของตลาดหุ้นจีนนั้นประสบปัญหาในช่วงหลายปีมานี้ มูลค่าลดลงมากกว่า 27% นับตั้งแต่ปี 2562 สวนทางกับดัชนี S&P 500 ฝั่งสหรัฐที่พุ่งขึ้น 65% โดยมูลค่าของตลาดหุ้นจีนนั้น "หยุดนิ่ง"อยู่กับที่มาเป็นเวลาถึง 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 11 ล้านล้านดอลลาร์ (กว่า 370 ล้านล้านบาท)

ความกังวลที่ยังมีอยู่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังจมกองหนี้ แรงกดดันด้านภาวะเงินฝืด การขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่พอ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง ขณะที่ภัยคุกคามใหม่จากภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน

แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะแสดงเจตจำนงในเดือนก.ย. ว่าจะกระตุ้นตลาดทุน แต่โมเมนตัมขาขึ้นของหุ้นจีนจากข่าวดีนี้กลับไม่ยั่งยืน ดัชนี CSI300 พุ่งขึ้น 40% ในสองสัปดาห์หลังจากการประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแรก แต่เมื่อตลาดผิดหวังกับขนาดของมาตรการและความเร็วในการบังคับใช้ ก็ทำให้การบวกขึ้นของหุ้นจีนลดลงถึงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่นั้นมา

พัชการ์ ลักษมีนารายัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำเอเชียของธนาคารจูเลียส แบร์ กล่าวว่า วิธีง่ายๆ ในการพิจารณาคือ "คุณควรได้รับเงินปันผลมากพอ ... เพื่อที่จะไม่ต้องเจ็บปวดกับความจริงที่ว่า การฟื้นตัวในเชิงมูลค่า(ของตลาดหุ้นจีน)อาจจะไม่เกิดขึ้น” 

ส่อง 'บิ๊กดาต้า' สะท้อนภาวะหุ้นจีน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน พบว่า ในปี 2567 บริษัทจดทะเบียนในจีนจ่ายปันผลรวมกันสูงสุดทุบสถิติใหม่ถึง 2.4 ล้านล้านหยวน (ราว 11 ล้านล้านบาท) ขณะที่การซื้อหุ้นคืนก็พุ่งสูงทุบสถิติใหม่เช่นกันที่ 1.476 แสนล้านหยวน (ราว 6.85 แสนล้านบาท) 

อู๋ ชิง ประธานก.ล.ต.จีน กล่าวว่า มีบริษัทมากกว่า 310 แห่ง คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลรวมมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านหยวน (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ในเดือนธ.ค. 2567 - ม.ค. 2568 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าในแง่จำนวนบริษัท และเพิ่มขึ้น 7.6 เท่าในแง่จำนวนเงินปันผล เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นจีนกำลังเติบโตจนผลตอบแทนผู้ถือหุ้นกลายเป็นปัจจัยที่สรางความแตกต่างก็คือ นักลงทุนได้ทยอยขนเงินเข้ากองทุน ETF ที่เน้นจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่แล้ว มีเงินไหลเข้าเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.7 แสนล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2563-2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงห้าปีก่อนหน้านั้น (2558-2562) ซึ่งมีเงินไหลเข้าเพียง 273 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.2 พันล้านบาท) จากข้อมูลของ LSEG Lipper

ดัชนี CSI Dividend ซึ่งประกอบด้วยบริษัทแบบดั้งเดิมที่ให้เงินปันผลสูงในกลุ่มธุรกิจพลังงาน การเงิน และวัสดุ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นบลูชิป CSI 300 ของบริษัทชั้นนำในจีนที่ลดลงประมาณ 8% 

ทั้งนี้ มาตรการด้านนโยบายต่างๆ รวมถึงโครงการซื้อหุ้นคืนมูลค่า 3 แสนล้านหยวน และแนวทางที่กำหนดให้บริษัทในจีนต้องปรับปรุงผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและมูลค่าของสินทรัพย์ ช่วยทำให้บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น

“ตลาดหุ้นจีนไม่เคยเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเลย เพราะจีนเคยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโต แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเราอยู่ในจุดที่ดีที่ทั้งการเติบโตและผลตอบแทน” นิโคลัส ชุย ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอจีนของบริษัทแฟรงคลิน เทมเปิลตันกล่าว