'พาวเวล' ส่งสัญญาณปีนี้ 'คงดอกเบี้ยยาว' รับเงินเฟ้อสูงเกินความคาดหมาย

'พาวเวล' ส่งสัญญาณปีนี้ 'คงดอกเบี้ยยาว' รับเงินเฟ้อสูงเกินความคาดหมาย

ประธานเฟดส่งสัญญาณ 'Higher for Longer' การลดดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้อาจต้อง 'รอนานกว่าที่คาดเอาไว้' หลังดัชนีเงินเฟ้อปีนี้พุ่งสูงเหนือความคาดหมาย

เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาที่วิลสัน เซ็นเตอร์กรุงวอชิงตัน เมื่อคืนที่ผ่านมา (16 เม.ย.) ส่งสัญญาณถึง 'Higher for Longer' หรือการที่อัตราดอกเบี้ยจะยืนอยู่ในระดับสูงและนานขึ้น โดยระบุว่า การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจต้องใช้เวลา "นานกว่าที่คาดเอาไว้" หลังจากที่ดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือความคาดหมาย

ประธานเฟดระบุว่าการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ไม่มีความคืบหน้ามากพอ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อปลายปีที่แล้ว และย้ำว่า "อาจต้องใช้เวลามากขึ้น" เพื่อให้เฟดมั่นใจมากพอว่าการเพิ่มขึ้นของราคาจะมุ่งไปสู่เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ก่อนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ทว่าหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ เฟดก็สามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้นานเท่าที่จำเป็น

"ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อนั้น แม้ว่าจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น" พาวเวลกล่าว

ถ้อยแถลงของพาวเวลยังสะท้อนถึง "การปรับทิศทางของเฟดเป็นครั้งแรก" หลังจากที่พาวเวลเคยแถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) 3 ครั้งก่อนหน้านี้และยังคงทิศทางเดิมมาตลอดแม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะสูงขึ้นกว่าที่คาดมาตั้งแต่ต้นปีก็ตาม

นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า เฟดเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการลดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังบ่งชี้ด้วยว่าหากมีการลดดอกเบี้ยขึ้นจริงในปี 2567 นี้ ก็น่าจะมาช้ากว่าที่คิด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นทันทีหลังรับสัญญาณใหม่จากประธานเฟด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีซึ่งมีความอ่อนไหวต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 5% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีทะยานขึ้นแตะระดับ 4.657% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2566

ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.30 ในวันนี้ ทั้งจากปัจจัยเฟดและปัจจัยความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยค่าเงินดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินทั่วโลก 

นักลงทุนยังจับตาความเคลื่อนไหวของทางการญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด หลังจากชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรับมือกับตลาดปริวรรตเงินตราที่มีความผันผวนมากเกินไปในขณะนี้ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของนายซูซูกิมีขึ้นไม่นานหลังจากเงินเยนร่วงลงหลุดจากระดับ 154 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สู่ระดับ 154.45 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 34 ปี