'เศรษฐา' จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กดดันประชุม กนง. หั่นอย่างน้อย 0.25%

'เศรษฐา' จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กดดันประชุม กนง. หั่นอย่างน้อย 0.25%

'เศรษฐา' ให้สัมภาษณ์สื่อนอก 'คาดหวัง' เห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุม กนง.วันพรุ่งนี้ เผยใจจริงอยากเห็นลด 0.5% ชี้ประเทศไทยควรลดดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง "อย่างน้อย 0.25%" ในสัปดาห์นี้ เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งยังคงเป็นลบ ความคาดหวังของผมอาจจะไม่ใช่แค่ 0.25% แต่อาจเป็น 0.5% เพราะมันอั้นมานานแล้ว ที่จริงควรจะลดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วด้วยซ้ำ" นายกฯ กล่าว

รายงานระบุว่าจนถึงขณะนี้ ธปท. ก็ยังคงต้านทานแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้ผ่อนปรนนโยบายการเงิน โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษของไทย ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อไปในการประชุมวันพุธที่ 10 มี.ค. นี้
 

นายกฯ เศรษฐาซึ่งขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อเดือนส.ค. ปีที่แล้ว กล่าวว่า เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้น้อยกว่า 1% ในไตรมาสแรกของปี 2567 หลังจากที่เติบโต 1.7% ต่อปีในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศครั้งใหญ่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน โดยให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ของรัฐบาลมูลค่า 500,000 ล้านบาท (ราว 1.367 หมื่นล้านดอลลาร์) ในไตรมาสที่ 4 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

"ผมหวังว่าภายในไตรมาสแรกของปีหน้า 2568 เราจะได้เห็นผลลัพธ์ออกมาบ้าง" นายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่เกาะสมุย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รอยเตอร์ส ระบุว่าแผนดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญบางคนที่มองว่าขาดความรับผิดชอบทางการเงินในแง่แหล่งที่มาของเงิน และการจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นจำเป็นต้องแก้ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะใช้วิธีการกู้เงินเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการที่มาของเงินที่จะแจกให้กับประชาชนมากกว่า 50 ล้านคนที่มีสิทธิได้รับแต่อย่างใด

นายกฯ เศรษฐา ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "เซลส์แมน" ของประเทศ ใช้เวลา 1 ใน 3 ของการทำงานไปกับการเดินสายโปรโมตประเทศไทยในต่างประเทศ โดยเสนอมาตรการจูงใจทั้งด้านภาษี และธุรกิจให้กับบริษัทต่างชาติเพื่อให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เรามีบริษัทอีวีของจีนเกือบ 10 แห่งที่จะมาลงทุนที่นี่ มีดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ … จาก อเมซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ และทั่วโลก"

"ถ้าผมไม่ออกไปขายดึงนักลงทุนให้มาไทย พวกเขาอาจจะไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามแทน" นายกฯ เศรษฐา กล่าว


ผลักดันพลังงานสะอาด เล็ง 'นิวเคลียร์' เป็นทางเลือก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดของประเทศไทยก็มีความสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากประเทศตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ และลม ให้เป็นครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2583 

นอกจากนี้ ประเทศไทยก็กำลังศึกษาเรื่องการใช้ "พลังงานนิวเคลียร์" เพื่อเป็นทางเลือกระยะยาวเช่นกัน

"เรื่องนี้มีความเป็นไปได้เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก" นายกฯ เศรษฐา กล่าวพร้อมเสริมถึงพลังงานนิวเคลียร์ ว่า "มีราคาถูกที่สุด และมีเสถียรภาพมากกว่า"


ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวผ่าน ‘อีเวนต์-ฟรีวีซ่า’

สำหรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นอีกด้านที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจำเป็นต้องส่งเสริมเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลได้ขับเคลื่อนผ่านนโยบายฟรีวีซ่ากับหลายประเทศที่เป็นตลาดหลักๆ รวมถึงจีนแล้ว และกำลังวางแผนที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ 

"ปีหน้า จะเป็นปีที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวไทย" "จะมีงานระดับโลก...และงานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งคอนเสิร์ต และงานแสดงศิลปะ" นายกฯ เศรษฐา กล่าว


ผลักดัน 'แลนด์บริดจ์' เชื่อมโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะโรดโชว์ในเดือนพ.ค. และมิ.ย. เพื่อส่งเสริมโครงการ "แลนด์บริดจ์" ในภาคใต้ของประเทศไทยมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท (2.7 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง และถนนพร้อมทางรถไฟเชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน และอ่าวไทยระยะทาง 90 กิโลเมตร 

นายกฯ เศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการเสนอทางเลือกใหม่จากช่องแคบมะละการะหว่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่มีการสัญจรคับคั่ง เพราะเป็นเส้นทางการค้าส่วนใหญ่ระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

"ในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ปริมาณการค้าทางเรือก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน... เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศในแอฟริกา" นายกรัฐมนตรีกล่าวพร้อมเสริมว่า ความต้องการอาหาร และการบริการจะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งไทยไม่ได้แข่งขันกับสิงคโปร์ แต่กำลังเติมเต็มเพื่อรองรับดีมานด์ในอนาคต

นายกฯ เศรษฐา กล่าวว่า โครงการสำคัญๆ เช่น แลนด์บริดจ์จะช่วยให้ประเทศไทยบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจการค้าโลกได้มากขึ้น และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ

"เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีที่ยืนในโลกที่วุ่นวายนี้" นายกฯ กล่าว "เราเป็นมิตรกับทุกคน และนั่นเป็นการขยายนโยบายต่างประเทศของเราด้วย"

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์