‘Private Credit’ แหล่งกู้เงินทางเลือกใหม่ พร้อมท้าชนธนาคารดั้งเดิม!

‘Private Credit’ แหล่งกู้เงินทางเลือกใหม่ พร้อมท้าชนธนาคารดั้งเดิม!

ทำความรู้จักกองทุนรวม “Private Credit” แหล่งเงินกู้ใหม่ที่อนุมัติง่ายกว่าธนาคาร จนเป็นที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพและผู้พัฒนาอสังหาฯ อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนที่สูงราว 10% แก่นักลงทุนด้วย แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงบางอย่างที่ควรระวัง

KEY

POINTS

  • สินเชื่อ Private Credit นี้ บริษัทที่ให้บริการจะได้แหล่งเงินจาก “นักลงทุน” โดยเสนอขายกองทุนรวม Private Credit พร้อมผลตอบแทนราว 10% เงินของเหล่านักลงทุนก็จะถูกปล่อยกู้ให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ
  • Private Credit จำนวนมากมักมีดอกเบี้ยลอยตัว หมายความว่า ช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุน Private Credit สูงขึ้นด้วย
  • Preqin บริษัทด้านข้อมูลการลงทุนในลอนดอน คาดการณ์ว่า ตลาดสินเชื่อ Private Credit มีแนวโน้มเติบโตจนมีมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2571

ทำความรู้จักกองทุนรวม “Private Credit” แหล่งเงินกู้ใหม่ที่อนุมัติง่ายกว่าธนาคาร จนเป็นที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพและผู้พัฒนาอสังหาฯ อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนที่สูงราว 10% แก่นักลงทุนด้วย แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงบางอย่างที่ควรระวัง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจประสบความลำบากด้านสภาพคล่อง เกิดภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลังยิ่งภาวะวิกฤติที่พวกเขาควรเข้าถึงเงินทุนจากธนาคารได้ง่ายที่สุด แต่กลับยิ่งเป็นช่วงที่ธนาคารปล่อยกู้ยากกว่าเดิม นั่นเพราะ “ในช่วงวิกฤติ” ถือเป็นช่วงเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระมากกว่าปกติ

แต่ความยากเช่นนี้ก็เป็นโอกาสให้แหล่งสินเชื่อใหม่ที่ไม่ใช่จากธนาคาร นั่นคือ “Private Credit” หรือ การปล่อยกู้นอกตลาดจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ “ไม่ใช่ธนาคาร” โดยตลาดสินเชื่อแบบใหม่นี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง เพราะมีกฎเกณฑ์ และความเข้มงวดต่าง ๆ น้อยกว่าธนาคาร จนมีมูลค่าอุตสาหกรรมสูงกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 61 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว

Private Credit ปล่อยกู้อย่างไร

เริ่มแรก สินเชื่อประเภท Private Credit นี้ บริษัทที่ให้บริการจะได้แหล่งเงินจาก “นักลงทุน” โดยเสนอขายกองทุนรวม Private Credit พร้อมผลตอบแทนราว 10% ต่อปี

เงินของเหล่านักลงทุนก็จะถูกปล่อยกู้ให้บรรดาบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ฯลฯ ที่อาจเคยยื่นกู้ธนาคารแล้ว แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ

สำหรับการปล่อยกู้ก็มีหลายวัตถุประสงค์ เช่น ปล่อยกู้เพื่อให้บริษัทนั้นนำไปขยายสาขา เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อร่วมลงทุน โดยเงินกู้นี้จะมาช่วยสภาพคล่อง และอาจแลกกับการแปรเปลี่ยนเป็นทุนได้ในภายหลังตามการตกลงระหว่างกัน

3 จุดแข็งของ Private Credit เมื่อเทียบกับธนาคาร

  • 1. เกณฑ์ปล่อยกู้ยืดหยุ่นกว่า

สำหรับธนาคารซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารกลาง การปล่อยกู้จะดูที่ “สถานะการเงิน” เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรายได้ มีความสม่ำเสมอหรือไม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือผู้หาเช้ากินค่ำ จะได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ “สูงกว่า” ผู้มีเงินเดือนประจำ เพราะพวกเขามีรายได้ไม่แน่นอน ธนาคารจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยง ยังไม่รวมประเด็นหนี้สินของบริษัทขอกู้ ที่ทำให้โอกาสได้รับเงินยากขึ้นไปอีก

ขณะที่สินเชื่อ Private Credit อาจไม่จำเป็นต้องดูที่สถานะการเงินเป็นหลัก แต่ดูที่ “ศักยภาพ” ประกอบ จริงอยู่ที่บริษัทนั้นขาดทุนติดต่อมาหลายปี มีหนี้สินไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับศักยภาพที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลก จึงควรแก่การพิจารณาให้เงินกู้

ดังนั้น Private Credit จึงกลายเป็นแหล่งเงินใหม่ของเหล่าสตาร์ทอัพที่อาจต้องเผาเงินจำนวนมากในการวิจัยนวัตกรรม

  • 2. แหล่งค้ำประกันที่หลากหลายกว่า

สำหรับสถาบันการเงินแบบเดิม สินทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ก็หนีไม่พ้นบ้าน ที่ดิน ห้างร้าน ฯลฯ แต่ในกองทุน Private Credit บริษัทขอกู้อาจใช้สินทรัพย์อื่นอย่างสินค้าคงคลัง อุปกรณ์ ตัวหุ้นที่บริษัทเป็นเจ้าของ หรือแม้แต่คริปโทเคอร์เรนซี จึงให้ทางเลือกที่หลากหลายมากกว่า

  • 3. รวดเร็วกว่า

อย่างที่ทราบกันว่า ธนาคารอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลาง และสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ดังนั้น หลักเกณฑ์การอนุมัติ รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาจะค่อนข้างรัดกุมและใช้เวลาค่อนข้างนาน ขณะที่ Private Credit ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า อาจเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการเงินด่วน และเร่งขยายการเติบโตให้ทันกับคู่แข่งที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว

อะไรดึงดูดให้นักลงทุนวางเงินกับ Private Credit

อย่างแรก คือ Private Credit จำนวนมากมักมีดอกเบี้ยลอยตัว หมายความว่า ช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุน Private Credit สูงขึ้นด้วย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของ Private Credit ที่คิดต่อผู้ขอกู้จะสูงกว่าของธนาคาร เพื่อชดเชยความเสี่ยง จึงช่วยให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ กองทุนสินเชื่อดังกล่าวถือเป็นการกระจายความเสี่ยง นอกเหนือจากหุ้น คริปโทฯที่ผันผวนสูง พันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขายเปลี่ยนมือได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนสูงมักมาพร้อมความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเหล่าสตาร์ทอัพที่มาขอเงินทุน อาจมีฐานะการเงินที่เสี่ยงในระดับที่ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ ดังนั้น นักลงทุนอาจจำเป็นต้องทำการบ้าน เพื่อคัดเลือกกองทุนรวม Private Credit ที่สามารถไว้ใจและมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ขอสินเชื่ออันโปร่งใสระดับหนึ่ง   

ตลาด Private Credit ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ทำให้ธนาคารชื่อดังหลายรายสนใจลงมาดำเนินธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ของเยอรมนี ได้เปิดบริษัทด้านการลงทุนที่ชื่อว่า DB Investment Partners เพื่อลงทุนด้านการปล่อยกู้ Private Credit ให้แก่บริษัทและผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ  

ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอย่างเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) ก็ระดมเงินราว 2,500 – 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อวางแผนเปิดบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ให้บริการ Private Credit นี้ โดย Preqin บริษัทด้านข้อมูลการลงทุนในลอนดอน คาดการณ์ว่า ตลาดสินเชื่อใหม่นี้มีแนวโน้มเติบโตจนมีมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2571

อ้างอิง: bloombergbloomberg(2)alter