ย้อนประวัติศาสตร์ '5 เงินตรากินได้' ใช้จ่ายค่าแรง-ช่วยให้อิ่มท้อง

ย้อนประวัติศาสตร์ '5 เงินตรากินได้' ใช้จ่ายค่าแรง-ช่วยให้อิ่มท้อง

เปิดประวัติศาสตร์ “5 เงินตราที่ทำมาจากอาหาร” ซึ่งรับประทานได้ในชีวิตประจำวัน แต่ในอดีตหลายร้อยปีก่อน เคยถูกใช้เป็นเงินตราซื้อขาย และจ่ายเป็นค่าแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Key Points

  • สำหรับชาวโรมันเกลือ” ถือว่ามีค่ามากและถูกเรียกว่า “ทองคำขาว” เพราะในสมัยก่อนไม่ได้มีตู้เย็นเหมือนสมัยนี้ การถนอมอาหารไม่ว่าเนื้อสัตว์ และปลาไม่ให้เน่าง่าย ก็ต้องใช้เกลือทั้งสิ้น
  • ชาวมายันแห่งอเมริกากลางกำหนดค่าเมล็ดโกโก้ไว้ดังนี้ ทาส 1 คนมีค่า 100 เมล็ดโกโก้, ค่าใช้บริการโสเภณี 1 คนมีราคา 10 เมล็ดโกโก้ และไก่งวง 1 ตัวเท่ากับ 20 เมล็ดโกโก้
  • ชาอัด” ได้มาจากการนำใบชาหลาย ๆ ใบมาบีบอัดจนเป็นก้อนชาสี่เหลี่ยมขึ้น ชาอัดนี้มีค่ามากและถูกใช้เป็นเงินตราอย่างแพร่หลายในจีน มองโกเลีย ไซบีเรีย ทิเบต เติร์กเมนิสถาน และรัสเซีย


ในยุคปัจจุบัน เวลานายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง มักจ่ายด้วยธนบัตร และลูกจ้างก็จะนำธนบัตรนี้ไปจับจ่ายซื้อสินค้าต่อไป แต่ไม่ใช่ในสมัยโรมันโบราณเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล ทหารโรมันแต่ก่อนรับเบี้ยเลี้ยงรายเดือนเป็น “เกลือ” ที่เรียกว่า “Salarium” โดย Sal เป็นภาษาละตินที่แปลว่าเกลือ และต่อมาคำนี้ก็พัฒนาเป็นคำว่า “Salary” ที่แปลว่าเงินเดือนนั่นเอง

สำหรับชาวโรมัน “เกลือ” ถือว่ามีค่ามากและถูกเรียกว่า “ทองคำขาว” เพราะในสมัยก่อนไม่ได้มีตู้เย็นหรือนวัตกรรมถนอมอาหารเหมือนสมัยนี้ ชาวโรมันจึงใช้เกลือในการถนอมอาหารไม่ว่าเนื้อสัตว์ และปลาไม่ให้เน่าเสียง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ไวน์อันมีค่า ชาวโรมันก็ใส่เกลือลงไปเพื่อถนอมไวน์ แทนจุกไม้ก๊อกที่หาได้ยาก ซึ่งจากคุณประโยชน์เหล่านี้ พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างแหล่งผลิตเกลือขึ้นมา เป็นสระตื้นบริเวณใกล้เมืองท่าออสเทีย (Ostia) ของโรม เพื่อกักเก็บน้ำจากทะเลติร์เรเนียน (Tyrrhenian Sea) จนความร้อนของแดดได้แผดเผาน้ำที่เก็บนี้จนเหลือเป็นผลึกเกลือขึ้น

  • ชาวมายันใช้ “เมล็ดโกโก้” ซื้อทาส

นอกจากเรื่องเกลือแล้ว ยังมีเงินตราที่ทำจากอาหารอันโดดเด่นไม่แพ้กัน คือ “เมล็ดโกโก้” ชาวแอซเท็ค (Aztec) แห่งอารยธรรมเมโสอเมริกา ใช้ “เมล็ดโกโก้” แทนเงินตรา เพราะเป็นสิ่งหายากและมีค่า พวกเขาใช้เมล็ดโกโก้ตั้งแต่จ่ายค่าอาหาร เสื้อผ้า ของขวัญ ไปจนถึงใช้บูชาเทพเจ้า

สำหรับค่าเงินเมล็ดโกโก้นั้น ตามหนังสือภาพโบราณ Codex Mendoza ที่เล่าประวัติความเป็นมาของชาวแอซเท็ค ตลอดจนถึงความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ระบุไว้ว่า ไก่งวง 1 ตัว มีมูลค่า 100 เมล็ดโกโก้,  ไข่ของไก่งวง 1 ฟอง มีมูลค่า 3 เมล็ดโกโก้, อะโวคาโดสุก 1 ลูกเท่ากับ 1 เมล็ดโกโก้ และมะเขือเทศ 1 ลูกเท่ากับ 1 เมล็ดโกโก้

ไม่ได้มีแต่ชาวแอซเท็คที่ใช้เมล็ดโกโก้ ชาวมายันแห่งอเมริกากลางก็ใช้เช่นกัน โดยกำหนดค่าไว้ดังนี้ ทาส 1 คนมีค่า 100 เมล็ดโกโก้, ค่าใช้บริการโสเภณี 1 คนมีราคา 10 เมล็ดโกโก้ และไก่งวง 1 ตัวเท่ากับ 20 เมล็ดโกโก้

ย้อนประวัติศาสตร์ \'5 เงินตรากินได้\' ใช้จ่ายค่าแรง-ช่วยให้อิ่มท้อง - เมล็ดโกโก้ (เครดิต: Shutterstock) - 

  • อียิปต์จ่ายค่าแรงด้วย “ขนมปังและเบียร์”

ในความคิดของชาวอียิปต์โบราณ เมื่อแรงงานได้รับค่าจ้างเป็นเงิน พวกเขาจะใช้เงินจำนวนนี้ซื้ออาหารต่อ แต่ถ้าให้เป็นอาหารแทน ก็จะช่วยตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากนี้ลง นั่นจึงทำให้ “ขนมปัง” และ “เบียร์” ถูกใช้เป็นตัวเลือกหนึ่งในการจ่ายเงินลูกน้องรายวันแทน ตั้งแต่ผู้ใช้แรงงาน คนรับใช้ ไปจนถึงช่างฝีมือ

ผู้ปกครองอียิปต์ต้องการทำให้แน่ใจว่า ผู้ใช้แรงงานทุกคนจะได้รับค่าจ้างที่เป็นขนมปังและเบียร์เท่าเทียมกัน จึงกำหนดมาตรฐานถาดและวัตถุดิบทำขนมปังขึ้น เพื่อให้ขนมปังแต่ละก้อน มีขนาดและคุณค่าทางโภชนาการเท่ากัน และขณะเดียวกัน ผู้ปกครองก็กำหนดมาตรฐานธัญพืช ขนาดและรูปร่างของไหในการหมักเบียร์ด้วย

  • ใช้ “ชาอัด” ซื้อขายกระบี่และม้า

ชาอัด” ได้มาจากการนำใบชาหลาย ๆ ใบมาบีบอัดจนเป็นก้อนชาสี่เหลี่ยมขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มีค่ามากและเคยถูกใช้เป็นเงินตราอย่างแพร่หลายในจีน มองโกเลีย ไซบีเรีย ทิเบต เติร์กเมนิสถาน และรัสเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9

จุดเด่นของชาอัด คือ เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอและเป็นหวัด อีกทั้งในย่านอันแร้นแค้น ใบชายังจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแทนผักและสมุนไพรที่หายาก โดยเฉพาะที่ทิเบต การซื้อขายกระบี่ ม้า และทรัพย์สินต่าง ๆ ในบางครั้งถูกตั้งราคาเป็นจำนวนของชาอัดแท่ง

มูลค่าของชาอัดพิจารณาจากคุณภาพของใบชาผ่านสี ลักษณะใบ และกระบวนการหมัก โดยชาอัดที่มีคุณภาพดีที่สุดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนคุณภาพน้อยที่สุดจะเป็นสีเหลืองเข้ม

ย้อนประวัติศาสตร์ \'5 เงินตรากินได้\' ใช้จ่ายค่าแรง-ช่วยให้อิ่มท้อง - ชาอัด (Tea Brick) (เครดิต: T.Voekler) -

  • “พาเมซานชีส” ค้ำประกันเงินกู้

ในอิตาลี สิ่งที่เป็นหลักประกันในการกู้บ้านไม่ได้มีแต่บ้าน ร้านค้า และที่ดิน แต่สามารถใช้ “เนยแข็งพาเมซาน” (Parmesan Cheese) แทนได้ด้วย สำหรับ Credito Emiliano ธนาคารเก่าแก่ซึ่งอยู่ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ทางภาคเหนือของประเทศ

ในปี 2496 ผู้บริหารของธนาคารนี้ตัดสินใจ “ยอมรับ” เนยแข็งพาเมซาน หรือปาร์มีจาโน เรจจาโน (Parmegiano Regiano) ในภาษาอิตาลี เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อของเหล่าเกษตรกรที่ต้องการนำเงินไปหมุนเพื่อประกอบอาชีพ

เหตุผลที่พาร์เมซานชีสมีค่ามาก เป็นเพราะชีสนี้สามารถผลิตได้ในไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยแหล่งผลิตอันเลื่องชื่อก็คือแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา (Emilia-Romagna) ในอิตาลี และยังใช้นมมากถึง 131 แกลลอนโดยเฉลี่ยในการผลิตชีสนี้ 1 ก้อนกลมใหญ่ (Cheese Wheel) นั่นจึงทำให้ชีสในขนาดดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ดอลลาร์หรือราว 35,000 บาท

ย้อนประวัติศาสตร์ \'5 เงินตรากินได้\' ใช้จ่ายค่าแรง-ช่วยให้อิ่มท้อง - พาเมซานชีส (เครดิต: Shutterstock) - 

อ้างอิง: newgasnprhistoryexhibitslegacytimeexoticmedium