ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม

สรุปภาพรวมครึ่งแรกปี 2566 “ตลาดหุ้นไทย” ปั่นป่วนจากเหตุการณ์อะไรบ้าง นอกเหนือจากกรณีอื้อฉาวหุ้น STARK วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่

ในปี 2566 แม้วิกฤติการระบาดโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็มาพร้อมกับ “ความท้าทายใหม่” ในตลาดหุ้นไทยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติธนาคารสหรัฐล้มจนอาจลามมายังไทย เพราะสหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนั้น นักลงทุนบางส่วนยังแสดงความกังวลต่อนโยบายพรรคก้าวไกลที่อาจเข้ามาจัดระเบียบกลุ่มทุนใหญ่ในไทย จนอาจกระทบต่อการเติบโตของตลาดทุนไปจนถึงการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งภาพการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังคงคลุมเครือ จนทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและการลงทุนจากต่างชาติชะลอตัวลง

เมื่อมองย้อนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ภาพรวมเหตุการณ์ท้าทายใหม่ในตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

  • กรณีอื้อฉาวหุ้น STARK

หุ้นบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งทำธุรกิจสายไฟและสายเคเบิลเป็นหลัก กลายเป็น "หุ้นที่โด่งดังในทางไม่ดีมากที่สุด" ในช่วงครึ่งปีแรก จนทำให้ภาพลักษณ์ตลาดหุ้นไทยโดยรวมสั่นคลอน และเกิดกระแสเรียกร้องจากเหล่านักลงทุนให้เกิดการกำกับดูแลบริษัทในตลาดหุ้นอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยที่มาที่ไปของเหตุการณ์หุ้นอื้อฉาว STARK มีดังนี้

1 มี.ค. 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP เพราะ STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตรงตามกำหนด เพราะเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัทดีลอยท์ เป็นบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สแทน

31 มี.ค. 2566 STARK แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีความจำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ล่าช้าเป็นครั้งที่ 2 โดยคาดว่าจะนำส่งงบการเงินได้ภายในวันที่ 21 เม.ย. 2566 เพราะข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของบริษัทฯ และการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี

17 เม.ย. 2566 นายชินวัฒน์ อัศวโภคี กรรมการบริษัท STARK ลาออก

19 เม.ย. 2566 นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัทพร้อมด้วยกรรมการคนอื่นรวม 7 รายลาออก

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน บริษัท STARK ยังแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีความจำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ล่าช้าเป็นครั้งที่ 3 และคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566

19 พ.ค. 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) ที่หุ้น STARK เพื่อเตือนนักลงทุนว่าหุ้นบริษัทนี้กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ผู้ลงทุนจำเป็นต้องซื้อขายหุ้นด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น 

1 มิ.ย. 2566 หุ้นบริษัท STARK ปรับตัวลง 90% เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้เปิดซื้อขายชั่วคราวได้ หลังจากที่ปิดการซื้อขายมา 3 เดือน เพราะไม่ได้ส่งงบการเงินปี 65

16 มิ.ย. 2566 บริษัท STARK รายงานงบผลประกอบการปี 2565 พบขาดทุนสุทธิ 6,612.13 ล้านบาท เทียบกับงบปี 2564 มีขาดทุนสุทธิ 5,965.43 ล้านบาท ส่วนทุนติดลบกว่า 4,400 ล้านบาท สุ่มเสี่ยงการล้มละลาย

ในส่วนงบผลประกอบการปี 2564 ส่วนลูกหนี้การค้าจากเดิม 15,570.8 ล้านบาท แก้ไขเป็น 6,306.2 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ จากเดิม 6,591.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844.9 ล้านบาท

ส่วนงบกำไรขาดทุน แก้ไขรายได้จากการขายเป็น 17,486.6 ล้านบาท จากเดิม 25,217.2 ล้านบาท และส่วนกำไรสุทธิจากเดิมมีกำไรสุทธิ 2,794.9 ล้านบาท มาเป็นขาดทุน 5,689.3 ล้านบาท

19 มิ.ย. 2566 ราคาหุ้น STARK ร่วมสู่ราคาฟลอร์หรือติดลบ 25% ที่ราคา 0.06 บาท หลังจากบริษัทเปิดเผยงบการเงินปี 2565 และปี 2564 ฉบับแก้ไข พบว่ามีการตกแต่งบัญชีและสร้างยอดขายปลอม

นอกจากนี้ หุ้น TOA ธุรกิจสีทาบ้าน ราคาร่วงลงไปที่ 22 บาท ซึ่งเกือบถึงราคาฟลอร์ที่ 21.70 บาท ก่อนที่จะเด้งกลับมาเป็น 28 บาทหรือติดลบ 10%  จากกรณีบริษัท STARK สร้างยอดขายปลอมและนามสกุลตั้งคารวคุณที่เป็นเจ้าของ TOA อยู่ในตระกูลเดียวกันกับวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ด้วย 

อย่างไรก็ตาม บริษัท TOA ได้ออกมาชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัท STARK และนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารของ TOA

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม - จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ซีอีโอบริษัท TOA (เครดิต: TOA) -

21 มิ.ย. 2566 บริษัท STARK ทำสถิติราคาต่ำที่สุดในตลาดหลักทรัพย์คือ 0.01 บาทต่อหุ้น ณ ราคาเปิด จากกรณีการตกแต่งตัวเลขบัญชีของบริษัท

28 มิ.ย. 2566 จากกรณีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบัวหลวง (BBLAM) ของธนาคารกรุงเทพได้ประกาศตัดขายหุ้น STARK ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกไปจนหมดทุกกองทุนเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารไทยร่วงยกแผงในวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ดังนี้

หุ้นธนาคารกรุงเทพหรือ BBL ราคาลดลง 2.17% หรือ 3.50 บาท ปิดที่ 158 บาทต่อหุ้น 

หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ราคาลดลง 1.89% หรือ 2.00 บาท ปิดที่ 104 บาทต่อหุ้น 

หุ้นธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ปิดที่ 129 บาทต่อหุ้น 

หุ้นธนาคารกรุงไทยหรือ KTB ราคาลดลง 0.52% หรือ 0.10 บาท ปิดที่ 19.20 บาท

หุ้นธนาคารทหารไทยธนชาตหรือ TTB ราคาลดลง 1.26% หรือ 0.02 บาท ปิดที่ 1.57 บาทต่อหุ้น 

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม

- แถลงการณ์ของบลจ.บัวหลวง เกี่ยวกับคำชี้แจงเรื่องการลงทุนในหุ้น STARK -

29 มิ.ย. 2566 บริษัท STARK เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย ปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก

30 มิ.ย. 2566 หุ้น STARK เปิดซื้อขายเป็นวันสุดท้ายในตลาดหลักทรัพย์ ปิดที่ราคา 0.02 บาท

  • วิกฤติธนาคารสหรัฐ-สวิสล้ม ลามถึงหุ้นกลุ่มแบงก์ไทย

ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เชิงรุก เพื่อจัดการเงินเฟ้อที่สูงในสหรัฐ นโยบายนี้ได้ส่งผลให้ตลาดคริปโทฯสั่นคลอน ราคาเหรียญคริปโทฯต่าง ๆ ปรับตัวลงอย่างรุนแรง อีกทั้งยังทำให้สภาพคล่องของบรรดาธนาคารสหรัฐหดหายด้วย จนกลายเป็นวิกฤติธนาคารสหรัฐล้มดังนี้

8 มี.ค. 2566 ธนาคาร Silvergate ของสหรัฐปิดตัวลง จากสภาวะขาดทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัลช่วงตลาดหมีคริปโทฯ

10 มี.ค. 2566 หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) ประกาศปิดธนาคาร Silicon Valley ของสหรัฐ เพราะความเสี่ยงสภาพคล่องเงินฝาก

12 มี.ค. 2566 หน่วยงาน FDIC ร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศปิดธนาคาร Signature ของสหรัฐ จากความเสี่ยงเชิงระบบของธนาคาร Signature และออกแถลงการณ์ร่วม คุ้มครองเงินฝากลูกค้าธนาคาร Silicon Valley และธนาคาร Signature Bank เต็มจำนวน

14 มี.ค. 2566 ดัชนี SET ไทย ทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,518.66 จุด ลดลงกว่า 54.41 จุด โดยปิดตลาดอยู่ที่ 1,523.89 จุด ลดลง 49.18 จุด หรือลดลงกว่า 3.13% จากดัชนีวันก่อนหน้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 103,833 ล้านบาท จากการที่หุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่ไทยถูกเทขาย กังวลผลกระทบธนาคารสหรัฐล้มที่อาจลุกลามมาสู่เอเชีย

15 มี.ค. 2566 หุ้นธนาคารเครดิตสวิสของสวิตเซอร์แลนด์ ถูกเทขายอย่างหนัก กดราคาหุ้นร่วง 20% จากการที่ผู้ถือหุ้นกังวลปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร จนอาจทำให้ธนาคารล้มละลายได้

16 มี.ค. 2566 ธนาคารเครดิตสวิสกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุม ส่งผลให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นก่อนเปิดตลาดวันพฤหัสบดี ขานรับแบงก์ชาติสวิสอัดฉีดเงิน ขณะที่เงินยูโรและฟรังก์สวิสก็แข็งค่าขึ้นในวันเดียวกัน

  • ความไม่แน่นอนทางการเมืองกับตลาดหุ้น

จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะถูกประกาศออกมาแล้วว่า "พรรคก้าวไกล" ได้รับเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุด 151 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ตามมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 141 ที่นั่ง จนทำให้พรรคก้าวไกลขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลกลับเผชิญมรสุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีหุ้นสื่อ ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่อาจกระทบต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงความท้าทายในการรวบรวมเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกฯจากพรรคก้าวไกล 

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังเผชิญข้อกังวลจากเหล่านักลงทุนและนักธุรกิจถึงนโยบายการขึ้นภาษีเพื่อดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน โดยอาจยังไม่มีนโยบายที่รองรับตลาดทุนและการลงทุนจากต่างประเทศที่มากเพียงพอ

ดังนั้น จากปัจจัยความท้าทายของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และความกังวลในนโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลที่มีต่อตลาดทุน จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญความผันผวนสูงตามไทม์ไลน์เหตุการณ์ ดังนี้ 

14 พ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้นปรากฏว่า อันดับ 1 นำโดยพรรคก้าวไกล 115 ที่นั่ง อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 113 ที่นั่ง และอันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 65 ที่นั่ง

15 พ.ค. 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงเช้าเริ่มปรับสู่แดนลบประมาณ 15 จุด จากปัจจัยนักลงทุนแห่เทขายหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าออกมา นำโดย GULF ที่ลดลงมา 3.75 บาท, B.GRIMM ลดลง 2.75 บาท, EA ลดลง 0.75 บาท, CKPower ลดลง 0.02 บาท, Gunkul ลดลง 0.18 บาท นักวิเคราะห์คาดว่า นักลงทุนกังวลนโยบายจัดระเบียบทุนใหญ่ด้านพลังงานของพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CP ค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทย ก็ร่วงยกแผงหลังพรรคก้าวไกลขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดย CPF ลดลง 1% CPALL ลดลง 2% MAKRO ลดลง 3% TRUE ลดลง 7% จากความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกลที่จะเข้ามาควบคุมการเติบโตของทุนใหญ่ CP

25 พ.ค. 2566 กกต.ประกาศผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการ อันดับ 1 นำโดยพรรคก้าวไกล 151 ที่นั่ง อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง และอันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง

26 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,485.32 จุด ลดลง 20.20 จุด หรือ 1.34% มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 40,116.46 ล้านบาท จากปัจจัยลบทางการเมืองไทยที่ขัดแย้งประเด็นประธานสภาฯและปัญหาหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

27 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,478.10 จุด ลบ 7.22 จุด หรือ 0.49% มีมูลค่าการซื้อขาย 34,786.39 ล้านบาท จากแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่อย่างหุ้น PTT, SCB และ MINT

28 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,466.93 จุด ลดลง 11.17 จุด หรือ 0.76% เหตุปัจจัยการเมืองกดดันหนัก กรณีการแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย

29 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,479.57 จุด เพิ่มขึ้น 12.64 จุด (+0.86%) มูลค่าการซื้อขาย 52,741.17 ล้านบาท จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันโลกวันที่ 29 มิ.ย. 2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจรุนแรงขึ้น รวมถึงมีแรงซื้อเก็งกำไรจากความคืบหน้าการเมืองไทยเกี่ยวกับการเลือกประธานสภาฯ ก่อนเปิดประชุมในช่วงสัปดาห์หน้า

30 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดอยู่ที่ 1,503.10 จุด บวก 23.53 จุด หรือ 1.59% มูลค่าซื้อขาย 56,913.76 ล้านบาท อานิสงส์จากการเมืองคลี่คลาย พรรคเพื่อไทยยอมถอยตำแหน่งประธานสภาฯให้พรรคก้าวไกล บนเงื่อนไขว่าพรรคก้าวไกลจะไม่แยกตัวออก และหากพรรคก้าวไกลฝ่าด่าน ส.ว.ไม่ได้ในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ พรรคเพื่อไทยจะขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง

  • ปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่สะเทือนตลาดทุนไทย

นอกจากเหตุการณ์สำคัญอย่างหุ้น STARK วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กระทบต่อตลาดหุ้นแล้ว ยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ รวมถึงกรณีความผันผวนของหุ้นอิเล็กทรอนิกส์อย่าง DELTA ที่แบกดัชนี SET กรณี ก.ล.ต. ไม่ต่ออายุงานนางสาวรื่นวดีในตำแหน่งเลขาธิการฯ เซ่นปมหุ้น MORE และอื่น ๆ เรียงตามลำดับดังนี้ 

5 ม.ค. 2566 หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงเกือบยกแผง จากกรณีบริษัทออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงินกว่า 10 ล้านบาท จนนักลงทุนกังวลว่า ภาพรวมบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่นอาจเผชิญความเสี่ยงเช่นเดียวกับบริษัท ALL หรือไม่

15 ม.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์เอเชียเวลท์เชิงลึก พบว่าการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทไม่มีประสิทธิภาพตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบปรับมูลค่ารวม 5.29 ล้านบาท

2 ก.พ. 2566 ที่ประชุม ก.ล.ต. มีมติ 6:4 เสียง ไม่ต่ออายุงานของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีกำหนดครบวาระในวันที่ 1 พ.ค. 2566 จากกรณีราคาผิดปกติของหุ้น MORE ราคาเทียมของเหรียญ KUB และกรณีบริษัท ZIPMEX ที่ระงับการถอนคริปโทฯและเงินบาทชั่วคราว

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม

- นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.-

17 ก.พ. 2566 บริษัทเจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ซึ่งประกอบธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกโทรศัพท์เป็นหลัก ชี้แจงรายการขายรายใหญ่ในกระดานช่วงวันที่ 15-16 ก.พ. 2566 จำนวนรวม 54 ล้านหุ้นว่า เป็นการขายของอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และยุวดี พงษ์อัชฌา หลังจากหุ้น JMART ปรับตัวลงมา 30% นับตั้งแต่ต้นปี

19 ก.พ. 2566 นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท JMART ชี้แจงว่า ตัดขายหุ้น JMART จริง เพราะถูกเรียกการเพิ่มเงินหลักประกัน พร้อมยืนยันว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่กระทบต่อธุรกิจบริษัท

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม - นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ซีอีโอบริษัท JMART -

2 มี.ค. 2566 หุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ประกอบธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ ปรับขึ้นอีกกว่า 2% ส่งผลให้ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุด ทะลุเพดาน 1,000 บาท/หุ้นอีกครั้งที่ 1,016 บาท/หุ้น มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.26 ล้านล้านบาท

3 มี.ค. 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แถลงเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้นอย่างไม่มีกำหนด และเตรียมพิจารณาทบทวนใหม่ หลังจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทยส่งหนังสือคัดค้าน

3 พ.ค. 2566 ราคาหุ้นกลุ่มน้ำตาลปรับตัวขึ้น เช่น หุ้น BRR เพิ่มขึ้น 8% หุ้น KBS เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับราคาวันที่ 3 เม.ย. 2566 หลังจากที่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งขึ้นที่ระดับ 27 เซนต์ต่อปอนด์ สูงสุดในรอบ 11 ปี อันมาจากปัญหาฤดูกาลปลูกอ้อยในอินเดียจนอุปทานอ้อยสู่ตลาดโลกลดลง

8 มิ.ย. 2566 หุ้นบริษัทอาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ให้กับบริษัทรถยนต์ ISUZU ร่วง 20.38% ในช่วงเช้า จากกระแสข่าวบริษัท ISUZU ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น อาจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังอินโดนีเซีย และในเวลาต่อมา ราคาหุ้น AH ก็ดีดกลับขึ้นมา เป็นการลดลงเพียง 11.46% ณ เวลา 12.04 น. หลังจากที่บริษัท AH ยืนยันว่า ยังไม่มีสัญญาณบริษัท ISUZU ย้ายฐานออกจากไทย การจัดส่งชิ้นส่วนรถยังคงเป็นไปตามปกติ

12 มิ.ย. 2566 จากประเด็นรายงานการประชุม ITV กับวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้น ITV มีเนื้อหาไม่ตรงกัน กรณีคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส่งผลให้ช่วงเปิดตลาดหุ้นเช้านี้ หุ้น INTUCH ซึ่งทำธุรกิจด้านโทรคมนาคมปรับตัวร่วงลงมา 2.01% หรือราคาปรับลงมาที่ระดับ 73.25 บาท หรือลดลง 1.50 บาท 

ขณะที่หุ้น GULF ซึ่งทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ INTUCH ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 2.66% หรือ หรือราคาปรับลงมาที่ระดับ 45.75 บาท หรือลดลง 1.25 บาท 

ส่วน ADVANC บริษัทด้านโทรคมนาคมปรับตัวลงมาที่ 216.00 บาท หรือลดลง 3.00 บาท หรือ 1.37%

20 มิ.ย. 2566 ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดร่วงแรง 19.33 จุด จากแรงขายหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ DELTA มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติด Cash Balance ที่หุ้นนี้ตั้งแต่ 20 มิ.ย. ถึง 10 พ.ค เพราะมีระดับราคาและปริมาณการซื้อขายสูงผิดปกติ

21 มิ.ย. 2566 หุ้น OTO ซึ่งประกอบธุรกิจด้านศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ซื้อขายกันที่ 2.04 บาทต่อหุ้น มีราคาร่วงลง 87.4% จากวันที่ 9 มิ.ย. 2566 ที่ซื้อขายกันที่ 16.20 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้มูลค่ากิจการ 12,850 ล้านบาท เหลือเพียง 1,600 ล้านบาท

เหตุผลเพราะบัณฑิต สะเพียรชัย ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอกะทันหัน หลังจากได้รับการแต่งตั้งเพียงไม่ถึงเดือน รวมถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมที่สร้างราคาเทียมในระดับสูงได้ชิงขายหุ้นทำกำไร ก่อนที่เหล่ารายย่อยจะทำกำไรด้วยการแปลงวอแรนท์เป็นหุ้น

ครึ่งแรกปี 66 ‘ตลาดหุ้นไทย’ สุดป่วน! วิกฤติ STARK-แบงก์รัน-การเมืองถล่ม - บัณฑิต สะเพียรชัย ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท OTO กะทันหัน หลังจากได้รับการแต่งตั้งเพียงไม่ถึงเดือน -

26 มิ.ย. 2566 ช่วงเปิดตลาดเช้า หุ้นกลุ่ม J ร่วงแรง หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวสะพัดในห้องค้าหลักทรัพย์ถึงหุ้นกลุ่ม JMART ที่อาจมีโอกาสจะโดนตรวจสอบการซื้อขายอย่างเข้มงวด ซึ่งนำโดยหุ้น JMART ราคาเช้านี้อยู่ที่ระดับ 14.20 บาท ลดลง 1.80 บาท หรือลด 11.25% 

SINGER บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินเชื่อ ราคาเช้านี้อยู่ที่ระดับ 9.00 บาท ลดลง 0.85 บาท หรือลด 8.63% 

SGC บริษัทสินเชื่อเช่าซื้อ ราคาเช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.49 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือลด 5.10%

J บริษัทบริหารพื้นที่เช่าร้านตู้มือถือในชื่อ IT JUNCTION ราคาเช้านี้อยู่ที่ระดับ 2.50 บาท ลดลง 0.14 บาท หรือลด 5.30% 

JMT บริษัทบริหารหนี้เสียและติดตามทวงหนี้ ราคาเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.00 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือลด 4.75%

26 มิ.ย. 2566 ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วงยกแผง จากกรณีรถเมล์ไฟฟ้าของไทยสมายล์บัสไฟไหม้ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์จนทำให้ไฟฟ้าลัดดวงจร และเกิดไฟไหม้ขึ้น

EA ลบ 4.31% หรือลดลง 2.50 บาท มาที่ 55.50 บาท 

NEX ลบ 6.54% หรือลดลง 0.70 บาท มาที่ 10.00 บาท 

BYD ลบ 3.94% หรือลดลง 0.25 บาท มาที่ 6.10 บาท 

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมเหตุการณ์สำคัญในตลาดทุนไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 ต้องจับตากันต่อไปว่าในช่วง 6 เดือนหลังของปีจะมีเหตุการณ์ใหญ่ที่กระทบตลาดหุ้นอีกหรือไม่ ขณะที่นักลงทุนยังคงเฝ้ารอความชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า พรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในท้ายที่สุด