กูรู เตือน อาฟเตอร์ช็อก จาก 'เฟิร์ส รีพับลิค' หลังพบสินเชื่อตึงตัว - เศรษฐกิจชะลอ

กูรู เตือน อาฟเตอร์ช็อก จาก 'เฟิร์ส รีพับลิค' หลังพบสินเชื่อตึงตัว - เศรษฐกิจชะลอ

นักลงทุนชื่อดังระดับโลก พร้อมใจเตือนสภาวะ “สินเชื่อตึงตัว” และ “สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว” อาจรุนแรงมากขึ้น หลังจากการล่มสลายของเฟิร์ส รีพับลิค แบงก์

สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) รายงานวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า บรรดานักลงทุนที่เข้าร่วมการประชุมทางการเงินของ Milken Institute Global Conference ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) และสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง หลังจากความปั่นป่วนในภาคธนาคารในช่วงที่ผ่านมา

บรรดานักลงทุนชั้นนำ เตือนว่า อย่าพึ่งวางใจ หลังธนาคาร First Republic Bank หรือ FRC ได้รับการช่วยเหลือ โดยให้เหตุผลว่าการที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐยึดธนาคารถึง 3 แห่งในเวลาอันสั้นทำให้เกิด “สภาวะสินเชื่อตึงตัว” และ “เศรษฐกิจชะลอ”

โดยแม้ความปั่นป่วนของ FRC จะส่งผลให้มีการเทขายหุ้นธนาคารดังกล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐก็ยังอยู่ในสภาวะปกติ และไม่เกิดความโกลาหลในระดับเดียวกับการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank 

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายใหญ่จำนวนมากคาดการณ์ “อาฟเตอร์ช็อก” หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายครั้งล่าสุดว่า ธนาคารต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎที่เข้มงวดขึ้น ท่ามกลางสภาวะสินเชื่อตึงตัว เช่นเดียวกับที่เศรษฐกิจสหรัฐรับรู้ถึงความกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างต่อเนื่อง

“ก่อนอื่น เราจะได้เห็นกฎระเบียบในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยกระดับขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่ง” เดวิด ฮันต์ (David Hunt) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PGIM บริษัทบริหารความมั่งคั่งมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 39.6 ล้านล้านบาท)กล่าว 

ด้าน ริชิ คาปูร์ (Rishi Kapoor) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Investcorp บริษัทบริหารความมั่งคั่งในบาห์เรน กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการล่มสลายของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร ต่อไปจะเกิดภาวะเงินขาดมือแน่นอน”

ส่วน คริสตาลินา จอร์จีวา (Kristalina Georgieva) ผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เหตุการณ์แบงก์รัน (Bank Run) แบบกะทันหันในสหรัฐช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ดังนั้นทางการจำเป็นต้องมี “กฎระเบียบใหม่ๆ” เข้ามาจัดการกับเรื่องดังกล่าว

“เทคโนโลยีทำให้ประชาชนสามารถถอนเงินออกจากธนาคารได้อย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่เห็นว่ามีประชาชนแห่ออกมาถอนเงินเลย”

อย่างไรก็ตาม เจน เฟรเซอร์ (Jane Fraser) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Citigroup ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก กล่าวว่า ความปั่นป่วนในภาคธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น (Resilience) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ “เมื่อคุณย้อนกลับไปดูโครงสร้างของระบบการเงินของสหรัฐคุณจะเห็นว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์