กูรู ฟันธง วิกฤติแบงก์ยังไม่จบ คนแห่ถอนเงินมาบริโภค หลังข้าวของแพงขึ้น

กูรู ฟันธง วิกฤติแบงก์ยังไม่จบ คนแห่ถอนเงินมาบริโภค หลังข้าวของแพงขึ้น

กูรู ประเมิน วิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐอาจยังไม่จบ เหตุธนาคารกลางสหรัฐยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ด้านประชาชนเเห่ถอนเงินฝากไปใช้จากสภาวะข้าวของราคาแพงเพราะเงินเฟ้อ

Key Points

  • วิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐอาจยังไม่จบลง
  • หุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค ร่วงเกือบ 50% เมื่อวานนี้หลัง ธนาคาร เผยว่าเงินฝากรวมลดลง 41%
  • ประชาชนแห่ถอนเงินฝากส่วนตัวมาใช้ จากสภาวะข้าวของแพงจากเงินเฟ้อ
  • มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคของสหรัฐ 11 แห่งลง 

เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักลงทุน และสถาบันการเงินทั่วโลกรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ หรือ SB แม้ในปัจจุบันนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นแล้ว ทว่าทั้งหมดอาจเป็นเหมือน “ลมสงบ” ก่อนที่พายุลูกใหม่จะพัดเข้ามา

เพื่อยืนยันสมมติฐานดังกล่าวหลายฝ่ายอาจต้องจับตาถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันศุกร์ ที่ 28 เม.ย. เกี่ยวกับรายละเอียดการสืบสวนกรณีการล่มสลายของ SVB 

ด้าน อานา อาร์ซอฟ (Ana Arsov) กรรมการผู้จัดการของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก ประเมินว่า ตอนนี้ หากพิจารณาเพียง “เงินฝากของธนาคาร” หลายคนอาจประเมินว่า ภาคธนาคารพาณิชย์กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีกว่าเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้าแล้ว ทว่าแท้จริง สถานการณ์ยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก 

ทั้งนี้ หลังจากการล่มสลายของภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐช่วงที่ผ่านมา เงินฝากจำนวนมากจากธนาคารขนาดกลาง และธนาคารในภูมิภาคก็ไหลเข้าไปในแบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America), เจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) และ ซิตี้แบงก์ (Citibank)

ส่วนไมเคิล รอฟฟ์เลอร์ (Michael Roffler) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.เงินฝากรวมของธนาคาร ลดลง 41% สู่ 1.04 แสนล้านดอลลาร์ ทว่าตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. ธุรกรรมด้านการฝากเงินยังมีเสถียรภาพ

“โดย ณ วันที่ 21 เม.ย. เงินฝากทั้งหมดที่ เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ ซึ่งรวมถึงเงินจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ได้รับจากบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 1.02 แสนล้านดอลลาร์ หรือ ลดลง 1.7% จากสิ้นเดือนมี.ค. ซึ่งการลดลงดังกล่าวถือเป็นสัญญาณสะท้อนถึงการชำระภาษีตามฤดูกาล” รอฟฟ์เลอร์ กล่าว

ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจากนโยบายการเงินของเฟดยังกดดันกลุ่มแบงก์

นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของเฟดถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดวิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา โดยเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยการขายสินทรัพย์ อย่างตั๋วเงินคลัง และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ราคาของพันธบัตรก็มีแนวโน้มที่จะลดลง สวนทางกับอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

โดยซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ประสบปัญหาเนื่องจากเงินของลูกค้าล็อกไว้ในพันธบัตรมากเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อผู้ฝากเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ตอัป และบริษัทเทคโนโลยี จำเป็นต้องถอนเงินดังกล่าวออกมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ หลังจากประสบปัญหาสภาพคล่อง

"อย่างแรกคือ ฐานลูกค้าไม่หลากหลายเพียงพอ เงินฝากส่วนใหญ่ไม่มีประกัน และธนาคารลงทุนมากเกินไปในตั๋วเงินคลังระยะยาว เมื่อพิจารณาทั้งหมดร่วมกัน ธนาคารจึงมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าธนาคารอื่น” วูล์ฟ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน ประชาชนจำนวนมากก็อาจรู้สึกโล่งใจมากขึ้นเพราะรัฐบาลประกาศอย่างทันท่วงทีว่าจะรับประกันเงินฝากส่วนหนึ่ง ทั้งหมดทำให้ความตื่นตระหนกจากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ในช่วงก่อนหน้าลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งพยายาม “ดิ้นรน” เพื่อขอเงินที่สูญไปจากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์คืน สำทับกับปริมาณเงินฝากที่น้อยลง เนื่องจากชาวอเมริกันจำเป็นต้องถอนเงินจากธนาคารเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในวันที่ 3 พ.ค. ที่จะถึงนี้

ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นยังคงเผชิญปัญหา

 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมูดี้ส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่ง อาร์ซอฟ ประเมินว่าเป็นท่าทีที่ “ผิดปกติ” อย่างมาก

“โดยการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้จำนวนมาก เช่น เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์, ยูเอส แบนคอร์ป (US Bancorp), เวสเทิร์น อัลไลแอนซ์ (Western Alliance) และ ไซออนส์ แบนคอร์ป (Zions Bancorp) ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือมาจากปัญหาการจัดการหนี้สิน, อัตราการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์สหรัฐที่ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหา และระดับเงินทุนของธนาคารที่ลดลง” อาร์ซอฟ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เธอเสริมว่า เพื่อระดมทุนครั้งใหม่ ธนาคารเหล่านั้นจะต้องจ่าย “อัตราดอกเบี้ยในระดับสูง” เพื่อทำให้ประชาชนอยากเข้ามาฝากเงินมากขึ้น ซึ่งนั่นจะจำกัดจำนวนเงินที่พวกเขาสามารถระดมทุนได้ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องเสียส่วนที่เป็นกำไรของธนาคารไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์