วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (30 มี.ค. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (30 มี.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบขยับลง จากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาสูงขึ้นติดต่อกัน 2 วัน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา 

- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับลดลง หลังนักลงทุนเทขายทำกำไร เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นสองวันติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานตึงตัวจากการระงับการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักจากแคว้นเคอร์ดิสถานราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียจะลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดก็ตาม

- ตลาดยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลต่อสัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์นั้นไม่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ รวมทั้งยังคงจับตาปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป และรายงานตัวเลขดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในภายภาคหน้า

+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มี.ค. 66 ปรับลดลง 7.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 473.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 แสนบาร์เรล เนื่องจากหลายโรงกลั่นกลับมาดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้นหลังผ่านช่วงปิดซ่อมบำรุง และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี
 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกของน้ำมันเบนซินของเกาหลีใต้ที่ปรับลดลงในเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งอุปทานที่ลดลง หลังโรงกลั่นในฝรั่งเศสลดกำลังการผลิตในช่วงหยุดงานประท้วงนานเกือบสี่สัปดาห์

 

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางจากอุปทานในยุโรปที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่องจากการประท้วงแผนปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาลในฝรั่งเศส 
 

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (30 มี.ค. 66)