วัฏจักร "ดอกเบี้ย" เปลี่ยนทิศ ปรับ "ธีมลงทุน" รอบใหม่

วัฏจักร "ดอกเบี้ย" เปลี่ยนทิศ  ปรับ "ธีมลงทุน" รอบใหม่

เพียงแค่ 2 สัปดาห์เหตุการณ์วิกฤติธนาคารยังเกิดขึ้นจนสร้างความวิตกให้กับนักลงทุนแบบไม่เห็นภาพว่าจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ หลังสหรัฐปิดธนาคารไปแล้ว 2 แห่ง และแบงก์ใหญ่ในยุโรปต้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งล้วนมีปัจจัยกระทบมาจาก “นโยบายดอกเบี้ย” ทั้งสิ้น

สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ Deutsche Bank  (DB)  หลัง Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งเหนือ 2% สูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงในการชำระหนี้ไม่ได้ถึง 31%  ส่งผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ(24 มี.ค.)  

ด้วยความใหญ่ของ DB  เป็นธนาคารอันดับ 1 ของเยอรมนี โดยมีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 8.8 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนวิตกทันทีหากเกิดผลกระทบต่อฐานะการเงิน เพราะถือว่าเป็นกลุ่ม Too Big to Fail เช่นกัน

กรณีที่เกิดขึ้นกับ DB มาจากความต้องการไถ่ถอนหุ้นกู้ (Subordinated Tier 2 notes due 2028) ก่อนกำหนด และธนาคารยังมีกำไรย้อนหลังไม่ได้ขาดทุนต่อเนื่องเหมือนกับ “Credit Suisse ”   สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนีการันตีว่า DB ผ่านการปรับโครงสร้างช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เจอผลกระทบอย่างหนัก จึงไม่เข้าข่าย  the next  “Credit Suisse ”  

เมื่อตลาดยังมีความอ่อนไหวจากประเด็นดังกล่าวบวกกับท่าทีของธนาคารกลางโลกเริ่มเปลี่ยนไป ธนาคารกลางสหรัฐ และยุโรปแม้จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อแต่ยอมรับว่าปัจจัยวิกฤติธนาคารในรอบนี้มีผลต่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยเช่นกัน สะท้อนมายัง Dot Polt  สิ้นปี 2566  ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปลายปี 2565 ที่ 5.17%

  สวนทางกับธนาคารกลางจำนวนหนึ่งมีท่าทีไปสู่ “สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” เช่น ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP)มีเสียงไม่น่าจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค.นี้

สำหรับ กนง. ของไทยซึ่งมีการประชุม 29 มี.ค. นี้เริ่มมีคาดการณ์ว่ารอบนี้ “เสียงแตก” จะเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยไม่ได้กดดัน และลดลงชัดเจน  แต่ดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่อง และยาวนานจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากกว่า

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%   แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนก.พ.ลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.8%YoY ซึ่งยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ กนง. นั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในทางกลับกันยังเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้ กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าได้  

"บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน" วงจรเงินเฟ้อโลกผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่โอกาสที่เงินเฟ้อระยะกลางของสหรัฐรวมถึงยุโรปจะลดลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ต่อปี จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ Fed และ ECB ยังจำเป็นที่ต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วง ไตรมาส 1 - ไตรมาส 2 ก่อนเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงใน ครึ่งปีหลัง จนถึง ปี 2567

ด้าน กนง. คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้าย 0.25%  สู่ระดับ 1.75% และคงดอกเบี้ยที่ระดับนี้ในช่วงที่เหลือของปี 2566  ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567

"บล.ธนชาต" คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 29 มี.ค. และหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ กรณีประกาศคงอัตราดอกเบี้ยจะยิ่งเป็น “บวก” ต่อกลุ่ม Micro Finance   ส่วน  Fed เริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ช่วงปลายของดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ตลาดมองดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดแล้ว และคาดว่าหลังจากนี้ Fed จะเริ่มคงอัตราดอกเบี้ย

"และบล.เอ เอส แอล" คาดการณ์การประชุม กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 1.75%เนื่องจากช่วง มี.ค.- ต.ค. 65 อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับที่สูง 4.65 - 7.86% เทียบกับงวด
ล่าสุด ก.พ. ที่ขยายตัวเพียง 3.79%YoY ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของ
ธปท. มากขึ้น ขณะที่ภาพทั้งปีคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในรอบ
การประชุม 31 พ.ค. สู่ระดับ 2.00% (ล่าสุดในปี 2557) ก่อนจะคงที่ดังกล่าวไปตลอดทั้งปี

           

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์