ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.05บาทต่อดอลลาร์ หวังเฟดขึ้นดบ.ใกล้จบ

ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.05บาทต่อดอลลาร์ หวังเฟดขึ้นดบ.ใกล้จบ

กรุงไทย ชี้เงินบาทแข็งค่า หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงหวังการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดใกล้สิ้นสุดแล้วและพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาบ้างแล้ว มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 มี.ค.) ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.08 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ (แข็งค่ามากกว่าที่เราคาดไว้) จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านสำคัญขณะที่การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมาก

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาบ้างแล้ว นอกจากนี้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อใกล้โซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจมีแรงขายทำกำไรช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ในช่วงปลายเดือนและช่วงปิดปีงบประมาณของบรรดาบริษัทญี่ปุ่น ก็อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศจากทั้งฝั่งผู้นำเข้าและบรรดาบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะ ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ เพราะหากข้อมูลออกมาดีกว่าคาด และยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและกดดันเงินบาทได้ แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังไม่อ่อนค่าไปมากจนทะลุกรอบแนวต้านที่เราประเมินไว้ เพราะผู้ส่งออกบ้างส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ และผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อน ในการเพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น)

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ชี้ว่า ผู้เล่นในตลาดมอง เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00% ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 4.00% ในเดือนธันวาคม ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้เกิดแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวลงในวันก่อน (Nvidia +2.7%, Microsoft +2.0%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ อยู่ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และเฟดจะย้ำจุดยืนพร้อมป้องกันระบบธนาคารก็ตาม โดยหุ้นกลุ่มธนาคารยังคงเผชิญแรงขายต่อ(BofA -2.4%, Morgan Stanley -2.0%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.30% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯNasdaq ปรับตัวขึ้น +1.01%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.21% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร(UBS -4.3%, HSBC -2.9%) หลังนักวิเคราะห์เริ่มปรับลดมุมมองคำแนะนำต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร จากทั้งปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรปที่เกิดขึ้นและแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในฝั่งยุโรปที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สอดคล้องกับทิศทางในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ASML +2.8%, Hermes +1.5%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องหลังจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.42% ซึ่งเรามองว่า ตลาดอาจมีมุมมองเชิงลบที่มากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการปรับมุมมอง (Repricing) หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด (รอจับตารายงานดัชนี PMI ในวันนี้ รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ PCE ในสัปดาห์หน้า และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในช่วงต้นเดือนเมษายน ) ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวลดลง ในการทยอยขายทำกำไรบ้าง และรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อสะสม (อาจไม่ต้องรอให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.00%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ก็สามารถพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.6 จุดอย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเพิ่มสถานะ Short เงินดอลลาร์ได้ ทำให้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า สุดท้ายเฟดจะต้องกลับมาทยอยลดดอกเบี้ยลง จนกว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาดีกว่าคาด จะเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดจะเปิดรับความเสี่ยง แต่การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อลงสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมีนาคม โดยในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปจะเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคการบริการ (Composite PMI) ที่ระดับ 52 จุด สำหรับยูโรโซน และระดับ 52.7 จุด สำหรับอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งหนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ หลังวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรปไม่ได้น่ากังวลมากนัก ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ คาดว่า ในเดือนมีนาคมนั้น ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 47.6 จุด (ดัชนีน้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) โดยส่วนหนึ่งมาจากตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ทว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวได้ดี ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับกว่า 50.8 จุด หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่