ธนาคารต่างประเทศล้ม หุ้นกลุ่มธนาคารยังน่าสนใจอยู่ไหม?

ธนาคารต่างประเทศล้ม หุ้นกลุ่มธนาคารยังน่าสนใจอยู่ไหม?

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ค่อนข้างผันผวนมาก สาเหตุก็คงเดาได้ไม่ยากว่ามาจากการปิดตัวลงของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐถึง 3 แห่ง ได้แก่ Silvergate Capital, Silicon Valley Bank และ Signature Bank ตามมาติดๆ

ด้วยปัญหาที่เกิดกับธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปอย่าง Credit Suisse ทำให้สถานการณ์การลงทุนในช่วงนี้ดูไม่ค่อยจะสดใสเท่าไรนัก โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

เรื่องนี้เริ่มจาก Silvergate Bank ที่มีลูกค้ารายใหญ่คือ FTX ซี่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Cryptocurrency แต่เมื่อ FTX ปิดตัวลงจากแรงกดดันด้านตลาด Cryptocurrency จึงต้องถอนสินทรัพย์ออกจากธนาคาร ทำให้เงินฝากที่อยู่ใน Silvergate ลดลงไปจำนวนมาก นำไปสู่การตัดสินใจยุติการให้บริการ Silvergate Exchange ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ

ในส่วนของ Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสั่งให้ปิดเนื่องจาก SVB เป็นธนาคารที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัท Startup ซึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลูกค้าเหล่านี้สามารถระดมทุนได้ง่าย และมีการฝากเงินใน SVB อย่างต่อเนื่อง แต่จากปี 2022 ที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่า 4%

ทำให้ต้นทุนทางการเงินของนักลงทุนในบริษัทเหล่านี้สูงขึ้น การ Funding ไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนหน้า ทั้งที่บริษัทเหล่านี้ยังขาดทุนและมีการ Burn Cash อยู่ตลอดเวลา รวมถึงการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้บริษัทเหล่านี้ถอนเงินออกจาก SVB จำนวนมาก

ในการดำเนินงานตามปกติของธนาคาร เมื่อมีลูกค้านำเงินมาฝาก ธนาคารมีหน้าที่จะต้องคืนลูกค้าในอนาคต และยังต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ฝากเงิน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ SVB เอาเงินไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ที่มีอายุไถ่ถอนยาวนานกว่าอายุเงินฝากของลูกค้า

 ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ราคาของพันธบัตรที่ธนาคารมีอยู่จึงต่ำลง และธนาคารจำเป็นต้องขายพันธบัตรดังกล่าวขาดทุน เพราะต้องนำเงินไปคืนลูกค้าที่มาถอนเงิน ทำให้ SVB มีการขาดทุนจากการขายพันธบัตรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นร่วงไปกว่า 60% ภายในวันเดียว เมื่อราคาหุ้นร่วงลงรุนแรง ลูกค้าก็ยิ่งกลัวว่าธนาคารจะล้ม จึงแห่กันมาถอนเงินจนเกิด Bank Run ในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ทางการของสหรัฐได้รีบเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยสั่งปิด SVB และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งมีการตั้งกองทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ระบบการเงิน และเพื่อป้องกันความเสี่ยงกับธนาคารอื่น ๆ อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ด้วยความกลัวว่าปัญหาจะส่งผลต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง FED จึงได้สั่งปิด Signature Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะลุกลามไปสู่สถาบันการเงินอื่น ๆ

การล้มของธนาคารทั้งสามแห่งส่งผลให้ SET index ปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายของหุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม หากได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะลามมาสู่ธนาคารในไทยนั้น ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงน้อยมาก เหตุผลหลักๆได้แก่  

ประเด็นแรก ธนาคารไทยมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง   เห็นได้จาก Liquidity Coverage Ratio (LCR) ที่ค่อนข้างสูงเกินกว่า 100% (เกณฑ์ขั้นต่ำ 100%) และยังมีสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝาก (LRD ratio) ที่ค่อนข้างต่ำ ประเด็นที่สอง ธนาคารไทยยังมีเงินสำรองกองทุน (CAR Ratio) ที่สูงเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำค่อนข้างมาก (เกณฑ์ขั้นต่ำ 11% แต่ธนาคารไทยมีประมาณ 15-20%) เมื่อเทียบกับธนาคารในสหรัฐ

ประเด็นต่อมา คือเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศนั้นมีสัดส่วนน้อยมาก รวมทั้งการลงทุนของธนาคารในไทยมีสัดส่วนสินทรัพย์ Held To Maturity ที่ค่อนข้างน้อย ดังนั้น ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หากธนาคารต้องขายสินทรัพย์ส่วนนี้ออกมาก็คงไม่ได้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารสักเท่าไรนัก

ประเด็นสุดท้ายที่มีความเป็นไปได้น้อยมากๆ คือเรื่องความเสี่ยงที่คนจะถอนเงินฝากออกมาลงทุนในพันธบัตรที่ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สังเกตได้จากพฤติกรรมการฝากเงินของคนไทย ที่จะฝากเงินในธนาคารเพื่อการจับจ่ายใช้สอยไม่ใช่เพื่อการแสวงหาผลตอบแทน ดังนั้น ในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ลูกค้าก็คงไม่ได้ถอนเงินเพื่อไปลงทุนจนธนาคารขาดสภาพคล่อง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ธนาคารของไทยต่างจากธนาคารในสหรัฐ และไม่ได้ถูกกระทบจากการล้มของ 3 ธนาคารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากการล้มของธนาคารในสหรัฐได้เพียงไม่กี่วัน ธนาคารในยุโรปอย่าง Credit Suisse (CS) ก็เกิดปัญหาตามมา จากข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะไม่ใส่เงินเพิ่มทุนให้แก่ CS อีก

ซึ่งปัญหาของ CS ก็เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล้มของธนาคารในสหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องยอมรับว่า CS เป็นธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งหาก CS ล้มก็คงเกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ทางการสวิตเซอร์แลนด์คงไม่ปล่อยให้ CS ล้ม และล่าสุดก็มีประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว

กล่าวโดยสรุปคือ ธนาคารไทยยังคงมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านของสภาพคล่องและเงินกองทุน นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก และพื้นฐานของธนาคารไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น คิดว่านักลงทุนยังสามารถมั่นใจในการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารของไทยได้