'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ชี้เฟดควรหยุดขึ้นดอกเบี้ย-อัดฉีด QE กู้วิกฤตการเงินสหรัฐ

'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ชี้เฟดควรหยุดขึ้นดอกเบี้ย-อัดฉีด QE กู้วิกฤตการเงินสหรัฐ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการแบงก์ชาติ ห่วงวิกฤตธนาคารสหรัฐเสี่ยงขยายวงเพิ่ม หากทางการไม่เข้าแทรกแซงเพิ่ม ชี้เฟดควรขึ้นดอกเบี้ย และกลับมาใช้ QE เพิ่มเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐขยายวงจากธนาคาร SVB Bank สู่ธนาคารกลางรายอื่นๆ เช่น ธนาคาร Signature Bank, ธนาคาร First Republic Bank และธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปอย่างธนาคารเครดิตสวิส

ขณะที่ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวว่าธนาคารยูบีเอส UBS Bank เตรียมจะเข้าเจรจาเพื่อซื้อกิจการกลุ่มการเงินเครดิตสวิส Credit Suisse Financial ทั้งหมดหรือบางส่วน

โดยคาดว่าการเจรจาน่าจะใช้เวลานานและ UBS Bank อาจไม่ซื้อหากไม่ได้ราคาที่ถูกมากพอ ธุรกรรมนี้หากเกิดขึ้นก็จะเหมือนกับกรณีที่ JP Morgan เข้าซื้อกิจการ Bear Stearns เมื่อวิกฤติสถาบันการเงินโลก 2008

ขณะที่ ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา Citigroup, Bank of America, Well Fargo, JPMorgan Chase, Morgan Stanley และ Goldman Sachs ลงขันกันตั้งกองทุนปล่อยกู้มูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ ธนาคาร First Republic เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินโดยรวม 

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการ และการที่ธนาคารขนาดใหญ่อัดฉีดช่วยธนาคารขนาดกลางไม่เพียงพอต่อการหยุดยั้งความตื่นตระหนกและการขาดความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและนักลงทุน ตลาดหุ้นในสหรัฐและยุโรปยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงิน คาดอาจเกิดผลกระทบโดมิโนลามระบบการเงินโลกได้ มีความจำเป็นที่ทางการต้องเข้าแทรกแซงระบบการเงินเพิ่มเติมด้วยการทำให้กระบวนการควบรวมและการซื้อกิจการเกิดเร็วขึ้น รวมทั้ง ธนาคารกลางต้องปล่อยสภาพคล่องให้กับธนาคารที่มีปัญหาและกำลังจะมีปัญหา

หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ธนาคารกลางควรพิจารณาหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในระบบและอาจกลับไปใช้ QE อีกครั้งหนึ่ง

แม้นวิกฤติสถาบันการเงินขนาดกลางในสหรัฐและสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่างธนาคารเครดิตสวิสในยุโรปขณะนี้จะกระทบภาคการเงินไทยจำกัดแต่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปชะลอตัวลง กดดันให้ภาคส่งออกไทยชะลอตัวเพิ่มเติมได้

ต้นทุนการใช้ระบบสถาบันการเงินโลกเพิ่มขึ้น บริษัทเทคสตาร์อัพของจีนได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB Bank หุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ธนาคารเครดิตสวิสถืออยู่ประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท อาจมีการทยอยเทขายออกมาบ้าง ทำให้ราคาหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลงมาได้อีกแต่ความเสี่ยงจากการเทขายยังจำกัดเพราะเป็นการถือในลักษณะเป็นคัสโตเดียน (Custodian) ดูแลเก็บรักษาแทนลูกค้า กองทุนส่วนบุคคล กลุ่มทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดยมีหุ้น 3 บริษัทที่ ธนาคารเครดิตสวิส ถืออยู่ในสัดส่วนสูง 3 อันดับแรก คือ หุ้น บมจ.ไมเนอร์ (MINT), บมจ.ศรีสวัสดิ์ (SAWAD) บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชัน (STARK) นอกนั้นเป็น การถือครองในลักษณะคัสโตเดียนในสัดส่วนไม่สูงนัก เช่น หุ้น TSE, KSL, BTS, TTA, หุ้น TMT เป็นต้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การค้ำประกันผู้ฝากเงิน 100% ไม่เฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการหยุดยั้งการตื่นตระหนกและแห่ถอนเงินของผู้ที่มีเงินฝากเกิน 250,000 ดอลลาร์ 

ธนาคารขนาดกลางที่ล้มขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น SVB Bank หรือ มีปัญหาสภาพคล่องอย่าง First Republic Bank ล้วนมีฐานจากผู้ฝากเงินผู้มีรายได้สูง การเพิ่มการค้ำประกันให้ครอบคลุมทั้งหมดและการผ่อนคลายทางการเงินระยะสั้นเพิ่มเติมแม้เป็นมาตรการที่จำเป็นในระยะสั้น แต่จะสร้างภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม Moral Hazard เพิ่มในระบบการเงินในระยะยาว อาจทำให้กลไกตลาดในระบบการเงินด้อยประสิทธิภาพลง การทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน ที่ผู้ให้บริการ (สถาบันการเงิน) และผู้ใช้บริการ (ลูกค้าสถาบันการเงิน) มีข้อมูลไม่เท่ากันหรือมีความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) อยู่แล้ว ก็จะมีการใช้ข้อมูลเพื่อเอาเปรียบกันเพิ่มขึ้นในอนาคต

การสร้างความได้เปรียบในลักษณะ Adverse Selection จากความไม่สมมาตรของข้อมูลจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในการทำธุรกรรมตลอดเวลา ผู้ฝากเงิน นักลงทุน การลงทุนของธนาคารก็จะมีความระมัดระวังน้อยลง เพราะมีความคาดหวังหากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีรัฐบาล หรือ ธนาคารกลาง เข้ามาประกันความเสี่ยงให้ทั้งหมด ก็จะทำให้คนเหล่านี้ทำอะไรเสี่ยงๆเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ

หากไม่มีปัญหาก็รับผลตอบแทนสูงๆไป หากมีปัญหาก็จะนำเงินสาธารณะมาอุ้มเอาไว้ทุกครั้ง วิกฤติการเงินก็จะเกิดขึ้นได้อีกเป็นระยะๆตามวงรอบของพฤติกรรมเหล่านี้ พฤติกรรม Moral Hazard นี้จะทำลายประสิทธิภาพของกลไกตลาด เพิ่มต้นทุนให้กับทุกคนที่ใช้บริการระบบการเงินในระยะยาว เพิ่มต้นทุนภาษีให้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้ฝากเงิน นักลงทุน รวมทั้งผู้บริหารสถาบันการเงินที่รอบคอบระมัดระวังในการทำธุรกรรมต่างๆ

ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อแนะนำในการให้เพิ่มสภาพคล่องในระบบ หรือ อาจกลับไปใช้ QE หยุดการขึ้นดอกเบี้ยนั้น อาจทำให้เกิด Moral Hazard ในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ต้องชี้แจงว่าจะไม่เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ที่นักลงทุน ผู้ปล่อยสินเชื่อ ผู้ต้องการสินเชื่อ ยังวิตกกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

การไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงไม่มีผลต่อการกู้เงินเกินตัว บริโภคเกินตัว ลงทุนเกินตัว หรือ เกิดการปล่อยสินเชื่อหรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวังและไม่บริหารเสี่ยง ภาวะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ผู้คนยังมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในระดับต่ำและไม่เต็ม 100