‘หุ้นแบงก์’ร่วงยกแผง ผวาวิกฤตลามทั่วโลก

‘หุ้นแบงก์’ร่วงยกแผง ผวาวิกฤตลามทั่วโลก

หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงร่วงทั้งกลุ่ม (วันที่ 16 มี.ค.66 เมื่อเวลา 11.34 น.) โดยเฉพาะ BBL ร่วงแรงสุดที่ระดับ 149.00 บาท หรือ -4.00 บาท เปลี่ยนแปลง -2.61% วิตกกังวลต่อวิกฤตธนาคารธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางของสหรัฐ และ Credit Suisse ส่งผลกระทบกดดันต่อระบบการเงินเป็นวงกว้าง

ทั้งโลกกำลังเกิดความวิตกกังวลต่อวิกฤตธนาคาร ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางของสหรัฐ และธนาคาร Credit Suisse ที่ประสบกับปัญหาไม่สามารถเพิ่มทุนได้ ส่งผลกระทบกดดันต่อระบบการเงินเป็นวงกว้าง รวมถึงในประเทศไทยด้วย หุ้นแบงก์ปรับตัวลดลงร่วงทั้งกลุ่ม (วันที่ 16 มี.ค.66 เมื่อเวลา 11.34 น.) โดยเฉพาะ

  • BBL ร่วงแรงสุดที่ระดับ 149.00 บาท หรือ -4.00 บาท เปลี่ยนแปลง -2.61% ขณะที่
  • KBANK อยู่ที่ระดับ 128.50 บาท  หรือ -3.00 บาท -2.28%
  • SCB อยู่ที่ระดับ 98.75 บาท หรือ -2.25 บาท หรือ -2.23%
  • ตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ระดับ 1,539.55 จุด ลดลง 26.02 จุด หรือ -1.63%

 

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดผลกระทบกับสถาบันการเงินทั่วโลก วันนี้ตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารได้รับผลกระทบไปด้วย 3 เหุตผล

1. คือยังกังวลกับภาคของธนาคารทั่วโลกที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้

2. หุ้นกลุ่มธนาคาร อิงตามเศรษฐกิจของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตลอด แต่สถานการณ์ปัจจุบันการจะเห็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มสิ้นสุด โดยเฉพาะในสหรัฐ หลังจากที่สถานการณ์ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ๆ เริ่มมีผลต่อธนาคารรวมถึงภาคธุรกิจด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งจุดที่จะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ๆ น่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะยาก ดังนั้นคาดว่า ต่อจากนี้ไปถ้าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก็น่าจะน้อยมากๆ 

 

 

ฉะนั้นนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ เพราะคาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตลอด พอภาพที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ มีการเปลี่ยนทิศทาง กลุ่มแบงก์ก็อาจจะปรับการลดน้ำหนัก เพราะก่อนหน้านี้ถูกเพิ่มน้ำหนัก

3. ประเด็นสุดท้ายคือ ภาพรวมของหุ้น จากสถานการณ์ขณะนี้ ตลาดมีความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะว่า การที่ธนาคารแต่ละประเทศเริ่มเจอกับสภาพคล่องของการถอนเงิน นั่นแปลว่า แต่ละธนาคารอาจจะต้องลดการปล่อยกู้ หรือดูแลในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจทำให้เกิดการชะงักลง

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารถ้าเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ถือเป็นกลุ่มแรกที่มีการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจ เนื่องจากมี  Leverage ค่อนข้างสูง ธนาคารปกติจะมีค่า D/E หนี้สิ้นต่อทุนอยู่ประมาณ 6 - 10 เท่า เพราะฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีก็จะฟื้นตัวได้เร็วมาก แต่พอขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าไม่ดีก็ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ ซึ่งในสภาวะที่หลายคนกังวลเริ่มต่อสภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ถ้านักลงทุนหนีควรลดนำหนักของกลุ่มธนาคารลง และเลือกเข้าไปซื้อในหุ้นกลุ่ม Defensive มากขึ้น เช่น กลุ่มสื่อสาร กลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ธนาคารทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือยุโรป ถ้ามีความเกี่ยวข้องอาจจะได้รับผลกระทบที่มากกว่า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยบ้านเราไม่มีความเกี่ยวข้อง แต่อาจจะได้ผลกระทบเชิงเซนติเมน ซึ่งบางทีอาจจะมีคำสั่งขายในบางกลุ่มของสถาบันการเงินทั่วโลกออกมา 

“ความเกี่ยวโยงอาจจะมาในเรื่องของ Fund Flow  ที่มีการสั่งขายหุ้นทั่วโลก หรือ Wealth Effect เช่นนักลงทุนไทยไปลงทุนในกองทุนไทยที่ไปลงทุนผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่กำลังมีปัญหาขณะนี้ อาจจะได้รับผลกระทบลงชั่วคราว หรืออาจจะต้องขายหุ้นไทยลงไปด้วยเพื่อลดความเสี่ยงลงตามไปด้วย เพื่อดึงสภาพคล่องกลับมา”

ทั้งนี้ คาดหวังการปรับตัวลดลงของกลุ่มแบงก์ มองเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปสะสมอีกครั้ง  หากใครที่พลาดเข้าสะสมกลุ่มแบงก์ไปก่อนหน้านี้ช่วง 1 - 2 วันก่อน แม้ว่าจะเห็นการรีบาวน์ปรับตัวขึ้นมาเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.66) แต่วันนี้มีการปรับตัวลงมาที่ใกล้เคียงกับช่วง 1 - 2 วันก่อนแม้จะไม่ใช่จุดต่ำสุดก็ตาม แนะนำ KBANK กับ SCB ที่สามารถเข้าไปเก็บสะสมได้ 

ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์ แนะถือครองหุ้นที่ได้เข้าสะสมไปที่ แนวรับแรกที่ 1580-1600 จุด และแนวรับสําคัญที่ 1540 จุด หาก Sentiment ต่างๆในช่วงถัดไปเริ่มคลี่คลาย มองกรอบ เป้าหมายเบื้องต้นของการรีบาวด์ในรอบนี้อยู่ที่ดัชนี 1590 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงดัชนีในกรณีฐานอิงวิธี PE Model ของเรา

“สำหรับนักลงทุนที่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวไหนดี แนะนำว่า การเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นก็สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุน ส่วนการเข้าไปเลือกซื้อหุ้นในกลุ่ม Defensive มองว่า ต้องเข้าไปซื้อก่อนที่หุ้นจะร่วงลงมามากกว่า แต่ถ้าเราคาดหวังการรีบาวน์กลับ อาจจะเลือกซื้อไปตามตลาดหุ้นเลยก็ได้”