การทำการตลาดด้วย NFT

การทำการตลาดด้วย NFT

ในบทความคราวที่แล้ว เราได้กล่าวถึง หัวข้อ “NFT ตายหรือยัง” ซึ่งบทสรุปของบทความก็คือ ถึงแม้ราคา NFT จะมีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง

แต่ด้วยคุณค่าของแบรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างการเป็น Social Status และคุณค่าในเทคโนโลยี NFT ที่นำบล็อกเชนเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความโปร่งใส และความเป็นเจ้าของที่แท้จริงในโลกดิจิทัล เพราะ ฉะนั้นจึงได้สรุปว่า NFT ยังไม่ตาย

แต่ในปัจจุบันแม้เราจะเห็นว่าแบรนด์ระดับโลกก็กำลังเข้ามายังตลาด NFT อย่างต่อเนื่อง การเอา NFT ไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจนั้นก็อาจจะยังไม่ชัดเจนสำหรับผู้ทำธุรกิจอยู่บ้าง เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ใหม่และต้องทำความเข้าใจพอสมควร แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันก็มี Case Study ให้ได้ศึกษาอยู่ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การนำ IP (Intellectual Property)  หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา ของ NFT ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้

ถ้าให้อธิบายความหมายการครอบครองสิทธิ์ IP ของ NFT เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย มันก็คือ การที่เจ้าของมีสิทธิ์ในตัวผลงาน NFT อย่างเช่น NFT คอลเลคชั่น Bored Ape Yacht Club (BAYC) หรือรูปลิงหน้าเบื่อ ที่มีจำนวนทั้งหมด 10,000 ตัว ถ้าเราเป็นเจ้าของ BAYC หนึ่งตัวก็หมายความว่า เราก็จะมีสิทธิ์ทุกประการใน NFT ชิ้นนั้น

 โดยสิทธิ์ใน IP ของ NFT นั้นไม่ใช่ทุกคอลเลคชั่น ที่จะมอบสิทธิ์ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ NFT ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจกต์ว่าจะมอบสิทธิ์ให้กับเจ้าของผลงานขนาดไหน ตั้งแต่ใช้ได้ส่วนตัวเท่านั้น(Private use) จนไปถึงสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์ (Commercial use) ซึ่งสำหรับหัวข้อ การทำการตลาดด้วย NFT ครั้งนี้ จึงจะเน้นความสำคัญในการพูดถึง NFT ที่ให้สิทธิในเชิงพาณิชย์กับเจ้าของ NFT

ถ้าพูดถึงคอลเลคชั่น NFT ที่ให้สิทธิ์ในเชิงพาณิชย์ และมีการนำไปใช้งานจริง ก็คงหนีไม่พ้นคอลเลคชั่น BAYC ที่ได้ยกตัวอย่าง มาในตอนแรก โดยโปรเจกต์นี้ได้มอบ IP ของผลงานให้ผู้ที่เป็นเจ้าของ NFT ซึ่งการที่มอบสิทธิ์แบบนี้นั้น ต้องบอกว่าเป็นเหมือนการสร้างโมเดลธุรกิจแบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะการมอบสิทธิ์ตรงนี้มันหมายความว่า ผู้ถือสามารถนำผลงานที่ตัวเองถือไปใช้ต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้หลายทาง อย่างเช่น ร้านอาหาร Bored and Hungry ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าของได้มีการนำเจ้าหน้าลิงเบื่อที่ตัวเองเป็นเจ้าของ มาทำแบรนด์ดิ้งกับร้านอาหารของตัวเองซึ่งเปิดเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา 

โดยเมื่อเข้าไปดูจะพบว่า ตั้งแต่การตกแต่งนอกร้านจนถึงในร้าน รวมไปถึงแพคเกจจิ้ง ก็ได้มีการใช้ลิงที่เจ้าของร้านเป็นเจ้าของมาติดอยู่ด้วย ซึ่งผลลัพธ์ของการทำแบบนี้ทำให้ร้านอาหารนี้กลายเป็น Talk of The Town ในช่วงข้ามคืน เพราะนี่เป็นเหมือนการนำ NFT มาใช้กับโลกจริง ซึ่งในเวลานั้นยังแทบไม่มีธุรกิจไหนเคยทำมาก่อน โดยวันแรกนั้นมีลูกค้ามากถึง 1,500 คน รอเข้าใช้บริการร้าน Bored and Hungry ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจ Local สามารถนำไปปรับใช้ได้

ส่วนสำหรับแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ก็มีสิ่งที่นำไปปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะต่อมาไม่นานก็มีแบรนด์เสื้อผ้า Old Navy หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ GAP ก็ได้นำรูป BAYC ที่ได้มีสิทธิ์มาสกรีนบนเสื้อแล้วขายอยู่บนเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน โดยมีราคาขายอยู่ที่ 18.99 ดอลลาร์หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 700 บาท ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่มีสินค้าสามารถนำไปปรับใช้ได้ เนื่องจาก Bored Ape Yacht Club นั้นเป็นโปรเจกต์ NFT อันดับ 1 และมี Market Capitalization สูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 1 ในโลก 

ดังนั้นการที่แบรนด์อย่าง Old Navy นำ IP ของ BAYC มาสกรีนเป็นเสื้อขาย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่แบรนด์สามารถสร้างการรับรู้แบบใหม่ไปยังลูกค้าได้ เปรียบเสมือนกับแบรนด์ได้เข้ามาสู่โลก NFT แล้ว และมากไปกว่านั้นคือเข้ามาพร้อมกับคอลเลคชั่น NFT อันดับหนึ่งในโลก

สำหรับธุรกิจประเภทบริการเองก็มี Use Case ให้เห็นเช่นเดียวกัน ซึ่งสร้างสรรค์ไม่แพ้ 2 ตัวอย่างแรก คือเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดังระดับโลก Eminem และ Snoop Dogg ได้เปิดตัว Music Video เพลง “From The D 2 The LBC” โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ศิลปิน 2 คนนี้ได้นำ BAYC ของตัวเองมาใช้เป็นตัวนำเดินเรื่องใน Music Video ดังกล่าว โดยเมื่อวิดีโอนี้ถูกปล่อยออกไปก็พบว่าภาพลักษณ์ของโปรเจกต์ BAYC ก็ดูดีมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะ IP ได้ถูกนำไปโดยศิลปินอันดับต้น ๆ ของโลก

สรุปก็คือ Use Case ทั้ง 3 อย่างนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจ และใหม่สำหรับโลกธุรกิจก็คือ มันทำให้เกิดการใช้ IP ร่วมกัน ซึ่ง IP ตรงนี้ก็คือลิงของ BAYC ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่อกลางของแบรนด์ที่ใช้สื่อสารต่อไปยังการรับรู้ของลูกค้า จึงหมายความว่า ถ้าแบรนด์ของ BAYC ยิ่งดูดีมากขึ้นเท่าไหร่ แบรนด์ที่นำ IP ของ BAYC ไปใช้ก็ดูดีมากขึ้นเท่านั้น

อย่างที่ ศิลปินดังระดับโลกนำหน้าลิงไปใช้ใน MV จึงมีนัยยะทางอ้อมว่า ร้าน Bored and Hungry และ Old Navy ก็ได้อานิสงส์จากการที่แบรนด์ดิ้งของ IP นี้ออกสู่สายตาของชาวโลกมากขึ้น และหมายความว่าถ้าในอนาคตยิ่งมีแบรนด์นำ IP ของ BAYC นี้ไปใช้ ก็หมายความว่าแบรนด์ดิ้งธุรกิจที่นำ BAYC มาใช้ตั้งแต่แรกเหมือนร้าน Bored and Hungry ก็จะเหมือนมีแบรนด์ต่าง ๆ ในอนาคตคอยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นกลับมาให้แบรนด์ได้ไม่สิ้นสุด