เทียบฟอร์ม 3 CEO ยักษ์ใหญ่ นิคมอุตสาหกรรม ผลงานปี 65 แข็งแกร่งแค่ไหน?

เทียบฟอร์ม 3 CEO ยักษ์ใหญ่ นิคมอุตสาหกรรม ผลงานปี 65 แข็งแกร่งแค่ไหน?

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์คงหนีไม่พ้น WHA , AMATA และ ROJNA ปี 2565 ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ทำผลงานออกมาค่อนข้างดี หรือดีเกินคาด โดยเฉพาะ WHA ฟันกำไรแซงหน้าคู่แข่งไปแล้วกว่า 4,045.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2%

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งมักจะเติบโตสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศ โดย 'บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย' (บจ.) ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่น่าสนใจที่สุด คือ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ,บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA และ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจ" จะไปยลผลงานของ CEO ของแต่ละบริษัท ผ่านผลประกอบการในปี 2565 ว่า บริษัทไหนสามารถทำกำไรได้มากน้อยขนาดไหนกันบ้าง 

(ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 9 มี.ค.66)

เทียบฟอร์ม 3 CEO ยักษ์ใหญ่ นิคมอุตสาหกรรม ผลงานปี 65 แข็งแกร่งแค่ไหน?

1.บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group 

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 62,477.77 ล้านบาท

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท WHA Group

ผลการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น 15,567.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% และ 4,045.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2% ตามลำดับ โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 15,566.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุบสถิติกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 8,997.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% และมีกำไรสุทธิ 2,841.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.6% หากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 8,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% และกำไรปกติ 2,754.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และรายได้จากการขายทรัพย์สินสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR จำนวน 208,149 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่ารวม 5,397 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.1672 บาท โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0669 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.1003 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยกำหนดเริ่มขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ การเติบโตของผลการดำเนินงานในปี 2565 ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล โซลูชัน ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามได้เป็นอย่างดี  

โดยนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาส่วนขยายนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 106 ไร่ และยอด MOU รวม 430 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ ในจังหวัดหลักๆ ของเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 1,280 ไร่ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และยังมีนิคมฯ อีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาก่อสร้าง ได้แก่  นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ และ เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 จำนวน 2,400 ไร่ ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จำนวน 570 ไร่ และการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 400 ไร่

ทั้งนี้ WHA Group ถือเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มีพื้นที่นิคมฯ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งหมด 71,000 ไร่ โดยมีพื้นที่พร้อมขายกว่า 4,000 ไร่ และอยู่ระหว่างการเจรจาขายที่ดินให้กับลูกค้าอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่รวมกว่า 3,000-4,000 ไร่ โดยกลุ่มหลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ ผ่านงบลงทุนจำนวน 6.85 หมื่นล้านบาท ใน 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ภายใน 5 ปี (ปี 2566-2570) ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์) จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคน้ำ-ไฟฟ้า (WHAUP) จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาท และธุรกิจดิจิทัล (ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล) จำนวน 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี ไว้ที่ระดับ 100,000 ล้านบาท 

ล่าสุด WHA Group ได้รับการรับรองจาก S&P Global ให้เป็น 1 ใน 3 ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากประเทศไทย ที่ได้รับการประกาศรายชื่อด้านความยั่งยืนในรายงาน Sustainability Yearbook Member ประจำปี 2023 และยังถูกยกให้เป็น Industry Mover ของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้าร่วมประเมินจากทั่วโลก 

และ CEO หญิงแกร่ง แห่ง WHA Group ยังได้รับมอบรางวัลอันทรงเกียรติ อาทิ  Thailand Top CEO of The Year 2022 ประเภทอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ รางวัล IEEE PES Women in Power Award 2022 ในฐานะผู้บริหารหญิงที่มีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน จากผลงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการนำพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย  



2. บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 25,185.00 ล้านบาท 

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

ผลการดำเนินงาน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,341.35 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,402.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% ส่วนรายได้รวมปี 2565 มีจำนวน 8,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 2,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.2% เนื่องจากบริษัทมีการโอนที่ดินในปี 65 จำนวน 616 ไร่ มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 62% สูงกว่าปี 2564 ที่ 46% เนื่องจากมีการโอนที่ดินในไทยโดยเฉพาะจากพื้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูงมากกว่าปี 64

 ขณะที่รายได้ค่าบริการสาธารณูปโภค 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.7% เนื่องจากลูกค้าในนิคมฯมีการใช้บริการสาธารณูปโภคเพิ่มมากขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติ จ่ายปันผลเป็นเงินสด อัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.40 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 3 พ.ค. 2566 วันที่จ่ายปันผล 19 พ.ค. 2566

โดยบริษัทตั้งเป้าปี 2566 เติบโตมากกว่า 100% จากยอดขายที่ดินรวมไว้ 2,500 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายในนิคมเวียดนามประมาณ 600 - 700 ไร่ และยอดขายที่ดินในประเทศไทย ประมาณ 1,800 - 1,900 ไร่ เทียบจากปี 2565 ที่ 693 ไร่ ผลมาจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขณะที่นักลงทุนจีนย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย - จีนมีพื้นที่พร้อมขายแล้ว  ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมียอดขาย 500 ไร่ 

ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายที่รอโอน (Backlog) จำนวน 6,600 ล้านบาท ซึ่งคาดจะโอนได้ภายในปีนี้ 60%  ซึ่งหากยอดขายของบริษัทเป็นไปตามเป้า และยอดโอนเป็นไปตามแผนก็จะทำให้ผลการดำเนินงานปีนี้ของบริษัททำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ)ได้ โดยวางงบลงทุนปีนี้บริษัทตั้งไว้  4,000-5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้พัฒนาพื้นที่ 3,000-4,000 ล้านบาท และที่เหลือใช้ที่ดินเพิ่ม



3.บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA 

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 12,728.91 ล้านบาท 

นาย จิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ

บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ROJNA รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2565 มีกำไรสุทธิ 1,139 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,937 ล้านบาท รายได้รวมปี 2565 ที่ 17,350.30 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ที่ 12,723.32 ล้านบาท นอกจากนี้ เตรียมจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.30 บาทต่อหุ้น ดยกำหนดเริ่มขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566

โดยรายได้มาจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น  อันเนื่องมาจากมีลูกค้าถีึงกำไนชำระเงินงวดสุดท้ายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในโครงการ ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ที่คลี่คลาย ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น 

รวมถึงรายได้ค่าไฟเพิ่มขึ้นด้วย จากการที่ลูกค้าเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้า ประกอบกับบริษัทย่อยเปิดดำเนินการโครงการโซลาร์ลูปบนหลังคาโรงงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รายได้ค่าบริการและค่าเช่า เป็นรายได้จากการขายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม บริการบำบัดน้ำเสียและค่าบริการส่วนกลางลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 

นอกจากนี้ต้นทุนการขายอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มตามรายได้จากการขายที่ดี และตุ้นทุนขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาค่าก๊าซซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก  ขณะที่ต้นทุนบริการและค่าเช่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและต้นทุนในการจัดจำหน่าย คิดเป็น 4% ของรายได้จากการประกอบธุรกิจ 

ทั้งนี้ ROJNA จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทโครงการเขต/สวนอุตสาหกรรม พร้อมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อขาย ซึ่งดำเนินการโดยภาคเอกชน และได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยโครงการแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2537 บริษัทฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียน และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2538