กองทุนจุก ‘ซิลเวอร์เกท’ ด้าน บลจ.แอสเซท พลัส ยันกระทบน้อย ลงทุนแค่อ้อม

กองทุนจุก ‘ซิลเวอร์เกท’  ด้าน บลจ.แอสเซท พลัส ยันกระทบน้อย ลงทุนแค่อ้อม

บลจ.แอสเซท พลัส ยืนยันผลกระทบน้อยกรณีแบงก์ Silvergate ปิดกิจการ เหตุไม่ได้ลงทุนโดยตรง แต่เป็นการลงทุนผ่านกองทุนแม่ ปัจจุบันถือสัดส่วนแค่ 3% แต่ยอมรับช่วงที่ผ่านมาโดนผลกระทบหนักจากวิกฤติตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ฉุด NAV ร่วงแตะ 3.9 บาท จาก 10 บาท 

เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อ Silvergate Capital Corp หรือ SI ธนาคารที่ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซีจากสหรัฐ ประกาศแผนยุติการดำเนินกิจการ หลังจากที่ลูกค้ารายใหญ่อย่าง FTX เผชิญกับการล้มละลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยคำประกาศดังกล่าวส่งผลให้หุ้นของ Silvergate ร่วงลงกว่า 41% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการ  

ธนาคาร Silvergate ออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าวว่า “การยุติการดําเนินงานโดยสมัครใจครั้งนี้เป็นหนทางที่ดีที่สุด” โดยธนาคารมียอดขาดทุนสะสมในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนเร่งถอนเงินฝากออกจากบัญชีมากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์

ประเด็นที่น่าติดตามคือ ช่วงปีที่ผ่านมามีกองทุนไทยบางแห่งไปลงทุนทางอ้อมในหุ้นของธนาคาร Silvergate ด้วย หนึ่งในนั้น คือ กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ดิจิทัล บล็อกเชน(ASP-DIGIBLOC) อย่างไรก็ตามผู้ดูแลกองทุนดังกล่าว ยืนยันว่าผลกระทบจากการปิดตัวของธนาคาร Silvergate ไม่ได้มากนัก 

นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ.แอสเซทพลัส กล่าวว่า กองทุนไม่ได้เข้าไปลงทุนโดยตรงในหุ้น Silvergate แต่เป็นการลงทุนผ่านกองทุนแม่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกองทุน ETF ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในธนาคาร Silvergate ไม่ถึง 3% และกองทุนแม่มีการทบทวนนโยบายลงทุนเพื่อปรับสัดส่วนในทุกๆ 6 เดือน ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม นายคมสัน ยอมรับว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเปลี่ยนไปมาก ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องบางตัวมีผลการดำเนินงานลดลงมากหรือบางตัวก็หายไปจากตลาด แต่ขณะเดียวกันนโยบายการลงทุนของกองทุนอีกส่วนหนึ่งยังเน้นลงทุนในกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นเทรนด์ที่ดีในภาคธุรกิจจึงยังคงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต 

ส่วนมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ(AUM) ของกองทุนดังกล่าวปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 100 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเริ่มจัดตั้งกองทุนที่มีมูลค่าราว 200-300 ล้านบาท 

สาเหตุมาจากการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุน(NAV) ที่ลดลง เหลือ 3.90 บาท จากช่วงเริ่มจัดตั้งกองทุนที่ 10 บาท  และอีกส่วนหนึ่งผู้ถือหน่วยมีการถอนเงินออกจากกองทุนด้วย ภายใต้สภาพแวดล้อมของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี มีปัจจัยลบรุมเร้า

ทั้งปัจจัยโดยตรงในตลาดคริปโทฯเกิดปัญหาการหลอกลวงและฉ้อโกง จึงส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และปัจจัยของตลาดรวม หลังจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงภาพรวมปรับตัวลดลง

"จะเห็นว่า ราคาบิตคอนย์ปรับลดลงจากจุดสูงสุดที่ 60,000 ดอลลาร์ และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนลงไปต่ำกว่าระดับ 20,000 ดอลลาร์ แม้ปัจจุบันเริ่มกลับมายืนเหนือ 20,000 ดอลลาร์ แต่ยังไม่สามารถผ่านระดับ 23,000- 24,000 ดอลลาร์ไปได้ และยังมีความผันผวนอยู่ แต่เชื่อว่าดาวน์ไซด์ไม่มากแล้ว"

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์