กูรูมองบวก ธปท. คุม 'ลีสซิ่ง' ช่วยคัดกรองตัวจริง-ดอกเบี้ยยืดหยุ่น

กูรูมองบวก ธปท. คุม 'ลีสซิ่ง' ช่วยคัดกรองตัวจริง-ดอกเบี้ยยืดหยุ่น

ธุรกิจเช่าซื้อ หรือ ลีสซิ่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนสำหรับประชาชนที่จะนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่ผู้ประกอบการมีอยู่มากมายหลายบริษัท ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ หลัง ครม. ไฟเขียวให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หลังพบว่ามีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 12.4% ของหนี้ครัวเรือนไทย

ประกอบกับที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับการให้บริการ ทั้งถูกหลอก ไม่ได้รับความไม่ธรรม คิดดอกเบี้ยสูงทะลุฟ้า แต่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ครม. จึงเห็นควรให้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างมาตรฐานให้กับธุรกิจ

ส่วนประเด็นที่ถูกพูดถึงกันเยอะ คือ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าหลังแบงก์ชาติเข้ามาดูแล น่าจะเห็นดอกเบี้ยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้ตายตัวเหมือนในปัจจุบัน โดยจะพิิจารณาจากความเสี่ยงของลูกค้าเป็นรายบุคคล 

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลาง หลัง ธปท. มีเป้าหมายที่จะเข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล (เกณฑ์ Market Conduct) ขณะที่เกณฑ์เพดานสินเชื่อเช่าซื้อจะยังถูกกำหนดโดย สคบ. เช่นเดิม จนกว่าจะมีการแก้ไขกฏหมายต่อไป

โดยฝ่ายวิจัยมองว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง SAWAD และ MTC จะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว เพราะมีความคุ้นเคยและได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว (ภายใต้ธุรกิจจำนำทะเบียนและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์)

ขณะที่ผลกระทบหลักๆ จะเกิดกับผู้ประกอบการรายเล็กทั้งในแง่ของการปรับรูปแบบการดำเนินงานและต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้น น่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเริ่มทยอยออกจากตลาด และทำให้เกิด Industry Consolidation เร็วขึ้น

ฝ่ายวิจัยมองว่าหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ในภาพรวมยังอ่อนไหวต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้แนวโน้มหนี้เสียและการตั้งสำรองยังสูง บวกกับต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มปรับขึ้น จึงให้น้ำหนักลงทุน “น้อยกว่าตลาด” มองว่าหุ้นในกลุ่มที่ยังมีความน่าสนใจคือ SAWAD จากการเร่งขยายพอร์ตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ให้ผลตอบแทนสูง หนุนผลดำเนินงานโตต่อเนื่อง

กูรูมองบวก ธปท. คุม \'ลีสซิ่ง\' ช่วยคัดกรองตัวจริง-ดอกเบี้ยยืดหยุ่น

ด้านบล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองบวกเล็กน้อยต่อผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อย่าง MTC, SAWAD, TK, NCAP, S11, MICRO จากการที่ ธปท. จะเข้ามาควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐาน หนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมในกลุ่มผู้ประกอบการจากกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

และ loan yield ที่เดิมกำหนดห้ามเกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสที่จะปรับขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, NPL และค่าใช้จ่ายสำรองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการปรับเปลี่ยน loan yield จะต้องอาศัยระยะเวลา เนื่องจากพึ่งมีประกาศการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อเมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และ ธปท. จะต้องรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการกับผลกระทบจากการบังคับใช้ loan yield ใหม่ที่ผ่านมาก่อน เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในอนาคต จึงเชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลบวกต่อการดำเนินงานในปี 2566 อย่างมีนัย

ขณะที่การขยายระยะอายุสนับสนุนการให้สินเชื่อผู้ประกอบการจะส่งผลบวกต่อกลุ่มไฟแนนซ์เล็กน้อย เนื่องจากสินเชื่อฟื้นฟูจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และ SMEs ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้หลักของกลุ่ม รวมทั้งสัดส่วนการให้สินเชื่อฟื้นฟูของกลุ่มสถาบันการเงินที่ต่ำ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มไฟแนนซ์ “เท่ากับตลาด” โดยมี Top pick เป็น SAWAD