5 CEO หญิงแกร่ง คุมบังเหียนหุ้น มาร์เก็ตแคปเกินแสนล้านบาท 

5 CEO หญิงแกร่ง คุมบังเหียนหุ้น มาร์เก็ตแคปเกินแสนล้านบาท 

8 มีนาคม ของทุกปี วันสตรีสากล (International Women’s Day) ทั่วโลกให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน 5 ซีอีโอผู้หญิงเก่ง มีความรู้ ความสามารถผลักดันบริหารองคกรชั้นนำระดับประเทศในตลาดหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเกิน 1 แสนล้านบาทขึ้นไป

ปัจจุบันผู้หญิงเก่ง มีความรู้ ความสามารถนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเสร็จได้ไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งถือว่าหมดยุคผู้หญิงเป็น “ช้างเท้าหลัง” ในแบบฉบับเดิมๆ และในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ที่มีความหมาย ในฐานะ วันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจซีอีโอหญิง ที่ทั้งเก่งและแกร่ง 5 คน มีศักยภาพและมีความสามารถไม่แพ้ใคร ร่วมผลักดันบริหารองคกรชั้นนำระดับประเทศ และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเกิน 1 แสนล้านบาทขึ้นไป

(ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 3 มีนาคม 2566)

5 CEO หญิงแกร่ง คุมบังเหียนหุ้น มาร์เก็ตแคปเกินแสนล้านบาท 

1.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS มาร์เก็ตแคป 444,976.05 ล้านบาท

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ (หมอปุย) ประธานกรรมการบริหาร และตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 

หมอปุย เป็นทายาทคนที่ 4 ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ดูแลธุรกิจโรงพยาบาล ปัจจุบันเครือข่าย BDMS ประกอบด้วย 6 กลุ่มโรงพยบาลหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล และอีกหนึ่งคลินิก BDMS Wellness Clinic โดย BDMS เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทสไทยและอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 51 แห่ง และอีก 2 แห่งในกัมพูชา

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมาวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย หมอปุย ติดอันดับ 6 จากอันดับ 21 เมื่อปี 2564

หมอปุย จบแพทยศาสตรบัณฑิต/คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายทรัพยากรบุคคล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหารโรงพยาบาลกรุงเทพมาหลายปี  

สำหรับบริษัทผลการดำเนินงาน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 12,606.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,936.07 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 92,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,254 ล้านบาท หรือ 23% เนื่องจากรายได้ค่ารักษาพยาบาล 88,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,993 ล้านบาท หรือ 24% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยทั้งชาวไทย 14% และชาวต่างชาติ 69% ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของผู้ป่วยชาวไทยต่อผู้ป่วยชาวต่างชาติเปลี่ยนแปลงจาก 82% ต่อ 18% ในปี 64 เป็น 76% ต่อ 24% ในปี 2565 นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติ จ่ายปันผลเป็นเงินสด อัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.30 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) 8 มี.ค.2566 วันที่จ่ายปันผล 24 เม.ย.2566



2.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มาร์เก็ตแคป 330,521.20 ล้านบาท 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร / กรรมการ

เมื่อปี 2530 ได้สมัครเข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย โดยได้เริ่มงานที่ฝ่าย พัฒนาธุรกิจ ปี 2542 เขยิบขึ้นเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายสำนักบริหาร ปี 2545 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายยุทธศาตร์องค์การ ปี 2548 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ปี 2553 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ปี 2557 เป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ปี 2559 เป็นกรรมการผู้จัดการ และเมษายน 2563 ถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

ประวัติการศึกษา จบปริญญาตรี (บริหารธุรกิจ-การตลาด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้าน  MBA Finance and Investment University of Texas at Austin, USA  ซึ่งเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทย 

ในปีที่ผ่านมา ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย รับมอบรางวัลซีอีโอแห่งปีภาคธุรกิจการเงิน (Best CEO in the Financial and Banking Industry) เวที Bangkok Post CEO of the Year 2021 จากความสำเร็จในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนของธนาคารกสิกรไทย

สำหรับปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%

นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติจ่ายปันผลจากกำไรสะสม หุ้นละ 3.50 บาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 18 เม.ย. 2566 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) วันที่ 17 เม.ย. 2566 ซึ่งจะจ่ายปันผลวันที่ 3 พ.ค. 2566



3.บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มาร์เก็ตแคป 297,330.00 ล้านบาท 

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร / กรรมการ

ทายาทแห่งอาณาจักร “เซ็นทรัลพัฒนา” ที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้ก้าวสู่ตำแหน่ง CEO เป็นบุตรสาวของ “คุณเตียง และ คุณวิภา จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ โดยเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล สีลม ในปี พ.ศ. 2541 เธอได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จนกระทั่งในปี 2548 ได้ทำงานที่เซ็นทรัลพัฒนา ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และช่วยบริหารธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัลเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2565 ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน ปรีชา เอกคุณากูล ซึ่งจะครบกำหนดเกษียณอายุงานจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว 

ด้านการศึกษาจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) และปริญญาโท บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด สหรัฐฯ 

สำหรับผลดำเนินงานปี 2565 มีกำไรสุทธิ 10,759.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,148.45 ล้านบาท รายได้รวม 37,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อน ผลประกอบการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ ฟื้นตัวดีต่อเนื่องกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 1.15 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 8 มี.ค.2566 ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 17 พ.ค.2566



4.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) หรือ AWC มาร์เก็ตแคป 185,604.47 ล้านบาท

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ 

ทายาทคนที่ 2 ของ เจ้าสัวเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี โดยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารอาณาจักร AWC อย่างเต็มตัว ในปี 2562  นำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 

จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ดิน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การวางผังเมืองจาก London School of Economics and Political Science (LSE) ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยศิลปากร

วัลลภามีประสบการณ์ทั้งในด้านการบริหาร การวางแผนการวิเคราะห์ธุรกิจ และการกำหนดกลยุทธ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนและการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์ เมอริลลินช์ (เอเชีย-แปซิฟิก) (Merrill Lynch (Asia Pacific) Limited) องค์กรระดับโลกที่ประเทศฮ่องกง ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การเงิน จากนั้นได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่มทีซีซี ในตำแหน่งระดับผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ วัลลภา ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 หรือ TOP20 นักธุรกิจหญิงผู้ทรงอิทธิพล ประจำปี 2021 (Asia’s Power Businesswoman2021) จากการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอร์บส์ เอเชีย (Forbes Asia)

สำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,981 ล้านบาท เติบโต +280% จากปีก่อน และมีรายได้รวม 14,522 เพิ่มขึ้น +68.1% จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะโรงแรมที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในครึ่งหลังปี 65

โดยบริษัทฯ มี EBITDA เท่ากับ 7,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +83.2%  EBITDA margin เท่ากับ 53.1% สูงขึ้นจากปีก่อนที่ 48.7%

โดยธุรกิจโรงแรม มีรายได้เท่ากับ 6,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 242% เป็นผลจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ระดับ 49% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 19.6% ซึ่งอัตราการเข้าพักโรงแรมเติบโตในทุก ๆ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มรีสอร์ทระดับลักซ์ซูรี โรงแรมในรุงเทพมหานคร และกลุ่มประชุมสัมนา ปัจุบันมีโรงแรมเปิดดำเนินการ 20 แห่ง รวม 5,458 ห้อง ขณะที่ในปี้นี้ 2566 บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดโรงแรม 2 แห่ง ได้แก่อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า มีรายได้เท่ากับ 7,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +15.3% สาเหตุมาจากการใช้บริการในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น และส่วนลดค่าเช่ามีสัดส่วนที่ลดลง นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายปันผลเป็นเงินสดอัตรา 0.032 บาทต่อหุ้น กำหนดผู้ได้รับสิทธิวันที่ 10 พ.ค. 2566 (ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 9 พ.ค. 66) และจ่ายวันที่ 24 พ.ค. 2566



5.บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH มาร์เก็ตแคป 166,926.01 ล้านบาท 

นาง ลินดา ลีสหะปัญญา กรรมการผู้จัดการ

เข้ามาบริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มากกว่า 10 ปี โดยความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างผู้บริหาร คือ เป็นน้องสาวของคู่สมรสของนายชัย โสภณพนิช (เป็นลูกชายนายชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ)

จบปริญญาโทสาขาการเงิน University of Illinois สหรัฐอเมริกา และประกาศนียบัตรหลักสูตร Director Certification Program รุ่น 78/2006 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปี 2565 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 20,908 ล้านบาท เทียบจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 12,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.9% และมีกำไรสุทธิ 4,938 ล้านบาท เทียบจากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1,216 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 306.2% และคิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 6.21 บาท/หุ้น เทียบจากปี 2564 ที่มีกำไร 1.53 บาท/หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 306.1%

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันสตรีสากล” ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากวันที่ 8 มีนาคม 1857 แรงงานหญิงประมาณราว 15,000 คน ที่ทำงานในโรงงานทอผ้า ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พากันลุกฮือและเดินขบวน ต่อต้านความไม่เป็นธรรมในชั่วโมงการทำงาน และค่าจ้างรวมไปถึงสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จนกระทั่งมาจนถึงปัจจุบันหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในวันนี้สามารถให้ผู้หญิงหยุดทำงานได้