ธปท.ระดมถก‘นักวิเคราะห์’ นัดหารือ 8 มี.ค.นี้ จับตาประเด็นเศรษฐกิจ-ค่าเงิน

ธปท.ระดมถก‘นักวิเคราะห์’ นัดหารือ 8 มี.ค.นี้ จับตาประเด็นเศรษฐกิจ-ค่าเงิน

"แบงก์ชาติ” ระดมนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัย-มหาวิทยาลัย หารือประเด็นนโยบายการเงิน เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ขณะคนในวงการเตรียมขอให้ดูแลค่าเงินมากขึ้น หลังผันผวนหนัก ทำผู้ประกอบการบริหารจัดการยาก วอนกลับมาประชุมกนง. 8 ครั้งเหมือนดิม แนะควรสื่อสารกับตลาดมากขึ้น 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยสายนโยบายการเงิน ได้เชิญนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินและจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน รวมไปถึงประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลอดจนกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับการสื่อสารของ ธปท. ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 8 มี.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินรายหนึ่ง กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่จะนำไปหารือร่วมกับ ธปท. ในการประชุมครั้งนี้ คือ เรื่องค่าเงินบาท เพราะช่วงหลายเดือนมานี้เงินบาทผันผวนสูงมาก จะเห็นว่าเงินบาทแกว่งตัวแรงทั้งในฝั่งอ่อนค่าและแข็งค่า  โดยมักจะเคลื่อนไหวนำเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งฝั่งนำเข้าและส่งออก ดังนั้นจึงอยากขอให้ ธปท. ดูแลความผันผวนของค่าเงินไม่ให้มีสูงมากจนเกินไป

 

ค่าเงินบาท

"มองว่า จริงๆ แล้วทั้งผู้ดูแลและผู้ร่วมเล่นในตลาดการเงิน สามารถช่วยกันทำ Market Maker เพื่อสร้างความลึกของตลาดให้มีสภาพคล่องรายวันมากเพียงพอ และรองรับเมื่อธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นทั้งขาซื้อและขาขาย ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทรายวันได้ ทำให้ค่าเงินบาทไม่เปลี่ยนไปมาก หรือผันผวนจนเกินกว่าระดับปัจจุบันที่เป็นอยู่ในตอนนี้"

ด้านแหล่งข่าวจากห้องค้าเงิน  กล่าวว่า อยากเห็น ธปท. ออกมาสื่อสารกับสาธารณชนมากขึ้น ซึ่งการสื่อสารของทาง ธปท. อาจต้องดูความเหมาะสมว่า หากสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สื่อสารออกมานั้นสร้างความผันผวนต่อตลาดเงิน  มองว่าในช่วงเวลานั้น ธปท.ก็ต้องเข้ามาสื่อสารเช่นกัน เพื่อไม่ให้มีสุญญากาศเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผู้เล่นในตลาดจะคาดการณ์ไปเอง นำไปสู่ความผันผวนในตลาดเงินที่มากยิ่งขึ้น  

 

 

นอกจากนี้ เชื่อว่าตลาดเงินอยากให้ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน)กลับมาประชุมกันปีละ 8 ครั้งเหมือนในอดีต จากปัจจุบันที่ประชุมกันเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น ซึ่งมองว่าน้อยไป  โดยเฉพาะในช่วงนี้ เฟด มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอยู่บ่อยครั้ง และแต่ละครั้งสร้างผลกระทบต่อตลาดค่อนข้างมาก

“บทบาทหน้าที่ของ กนง. ในยุคที่ตลาดมีความผันผวน เงินดอลลาร์แกว่งตัวแรง จากการสื่อสารของ เฟด ประเด็นนี้มองว่า การที่ กนง. ลดการประชุมลงเหลือ 6 ครั้ง จากเดิม 8 ครั้ง ยิ่งทำให้การสื่อสารเกินสุญญากาศมากขึ้นด้วยหรือไม่ คิดว่าเรื่องนี้ควรต้องกลับมาพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องความผันผวนของค่าเงินที่มากขึ้น ในฝั่งของผู้ประกอบการเองก็ควรต้องมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเองด้วย ไม่ควรรอเพิ่งพิงทางฝั่ง ธปท. เพียงอย่างเดียว 

สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ จะเห็นความผันผวนที่สูงมาก โดยเมื่อเดือนพ.ย.2565 เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปีที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะแข็งค่าอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์เมื่อเดือนม.ค.2566 หรือแข็งค่าขึ้นราว 15% ภายในเวลาแค่ 2 เดือน กระทั่งในเดือนก.พ.2566 เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็วอีกครั้งสู่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นราว 8% ภายในเดือนเดียว