ธปท.ปัด ‘บาท’ ผันผวน ฉุดเศรษฐกิจไทย!!!

ธปท. ระบุ ทิศทางค่าเงินบาทในเดือนมกราคม 2566 มาจากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยภาพรวมเฉลี่ยปรับแข็งค่าจากมุมมองของตลาดที่มีต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่มีทิศทางดีขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชญาวดี ชัยอนันต์ ระบุ ทิศทางค่าเงินบาทในเดือนมกราคม 2566 มาจากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยภาพรวมเฉลี่ยปรับแข็งค่าจากมุมมองของตลาดที่มีต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่มีทิศทางดีขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับมุมมองต่อภาคการฟื้นตัวของถภาคการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาพรวมค่าเงินบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยมาจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงตามคาด ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ต่อนโยบายการเงินของเฟดว่าจะยังคงเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า และเงินบาทปรับอ่อนค่า ซึ่งปัจจัยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาทั้งจากภายในและภายนอก

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวน ธปท.ได้เข้าไปดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไป แต่ปัจจัยของความผันผวนมาจากทั้งปัจจัยภายนอกที่เกิดจากการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหากดูค่าเงินบาทที่มีความผันผวนตอนนี้ยังไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันหรือกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยธปท.ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด

เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่อง

ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนม.ค.-ก.พ. เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ธปท.นำมาพิจารณาปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้ สำหรับจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ออกมาก็ถือว่าต่ำกว่าประมาณการ อยู่ที่ 1.5% ทำให้ในเดือนมี.ค.นี้ ธปท.จะมีการนำปัจจัยดังกล่าว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง 

สำหรับเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. ติดลบ 3.4% และนำเข้าขยายตัว 9.1% อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่เป็นแรงกดดันที่สำคัญ โดยมองว่า ไตรมาส 3-4 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ด้านการลงทุน ปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า เดือน ม.ค. ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.14 ล้านคน จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.24 ล้านคน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนม.ค.-กลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักท่องเที่ยว มาเลเซีย และยุโรปปรับเพิ่มขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.02% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.04% ทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

ด้านแนวโน้มในเดือนก.พ. 66 และระยะต่อไปมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ก.พ. มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระยะต่อไป จะต้องติดตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อการส่งออก ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น