มรสุมตลาดหุ้น

เวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือนของปี 2566 แล้ว  แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้แม้ว่าหลายคนจะมีความหวังว่าปีนี้ตลาดน่าจะให้ผลตอบแทนบ้างหลังจากที่นิ่งมานานเกือบ 10 ปี  และปีที่แล้วดัชนีก็แทบจะไม่ขยับเลย

นอกจากนั้น หลังจากที่มีการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่  “ผิดคาด” และ “น่าผิดหวัง” ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนที่ 1.4% และทั้งปี 2565 ที่ 2.6% จากตัวเลขที่คาดไว้ 3.2% ตลาดก็ “ช็อก”

แต่ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นตกหนักกว่าก็คือการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียนเมื่อสัปดาห์ก่อนที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากมีผลประกอบการไตรมาส4 ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ล่าสุดคือเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.2566 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ติดลบไปแล้วประมาณ 2% นับจากต้นปี  ซึ่งก็อาจจะดูว่าไม่ได้มากมายอะไร 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของโลกรวมถึงไทยก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเอื้ออำนวย  หลายคนคิดว่าปีนี้อาจจะไม่ดีอย่างที่คิด  ผมจึงอยากทบทวนว่าปีนี้ตลาดหุ้นไทยอาจจะต้องเจอ “มรสุม” อะไรบ้างที่อาจจะทำให้หุ้น “เลวร้าย” ไปอีก 1 ปี

 เรื่องแรกก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างดีจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น  “เท่าตัว” และอาจจะถึง 30 ล้านคน โดยคาดว่า GDP จะโตถึงประมาณ 3.8%  แต่ตัวเลข 2-3 เดือนล่าสุดของการส่งออกของไทยที่ปรับลดลงไปมากระดับเกิน 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนได้ทำให้เกิดความกังวลว่ามันจะลดการเติบโตที่มาจากการท่องเที่ยวไปมาก  และอาจจะทำให้ GDP เติบโตลดลงเหลือเพียง 2.8% ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาพ  “แย่”  ไปอีก 1 ปี และแน่นอนว่าไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้น

เรื่องที่สองก็คือ  การลดลงของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน  นี่ก็เป็นผลตามมาจากการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจ  แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มพลังงานที่อาจจะลดลง เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลงเมื่อเศรษฐกิจโลกซบเซาหรือถดถอยลง  มีการคาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดในปี 2566 จะลดลงจากประมาณ 100 บาทต่อหุ้นเหลือประมาณ 90 บาทต้นๆ และนี่ก็จะทำให้ปัจจัยสำคัญที่มักจะช่วยขับเคลื่อนดัชนีหุ้นนั้นหายไป

เรื่องที่สาม คืออัตราดอกเบี้ยที่อาจจะไม่ลดลงโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐที่เริ่มมีการพูดถึงฉากทัศน์ที่เรียกว่า  “No Landing” คือภาพที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยลงแบบน้อย ๆ  และทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจนอยู่ในระดับเหมาะสม  หรือที่เรียกว่า “Soft Landing” นั้น 

อาจจะไม่เกิดขึ้น  ซึ่งทำให้ธนาคารกลางหรือเฟดไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไปมากในปีที่แล้วได้  และอัตราดอกเบี้ยที่สูง “ค้าง” อยู่ที่กว่า 5% ต่อปี  ย่อมไม่ส่งเสริมให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้  และก็เช่นเดียวกัน  อัตราดอกเบี้ยไทยก็ลดลงไม่ได้และอาจจะต้องเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อลดการไหลออกของเงินดอลลาร์

เรื่องที่สี่ ที่น่าห่วงมากสำหรับผมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สามก็คือ  “Fund Flow” หรือการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดหุ้นของชาวต่างประเทศ  ซึ่งในปี 2565 นั้น  เรามีเงินต่างประเทศไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยสุทธิถึง 200,000 ล้านบาท 

แต่ในตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. 2566  ถึงวันที่ 25 นักลงทุนต่างประเทศกลับขายหุ้นสุทธิถึง ประมาณ 38,000 ล้านบาท  และถ้ารวมเดือนมกราคม 2566 ที่นักลงทุนต่างชาติยังซื้อหุ้นสุทธิอยู่ประมาณ 18,000 ล้านบาท เงินลงทุนจากต่างประเทศก็ยังติดลบประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาทในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ถ้านักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นสุทธต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  จนถึงสิ้นปี  ตัวเลขการขายหุ้นสุทธิทั้งปีก็อาจจะสูงเกิน 1 แสนล้านบาท  ซึ่งก็อาจจะทำให้ดัชนีหุ้นลดลงไปได้มาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ขนาดปีที่แล้วที่ต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิถึง 2 แสนล้านบาท  หุ้นไทยก็ยังไม่ไปไหน  ถ้าขายสุทธิเป็นแสนล้านบาท  อะไรจะเกิดขึ้น?

เรื่องที่ห้าที่อาจจะมีผลกระทบทั้งทางด้านดีและร้ายได้แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่าน่าจะเป็นผลดีเพราะ  “ประวัติศาสตร์” บอกว่ามันมักจะดีก็คือ  การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย  ที่มักจะ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพราะมีการใช้จ่ายเงินในช่วงการหาเสียง  และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงประมาณ 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้งที่ประมาณ 4% โดยเฉลี่ย

แต่สิ่งที่อาจจะกลายเป็นร้ายได้นั้นก็คือ  ถ้าหลังจากการเลือกตั้งแล้วแต่การจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหา  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  พรรคการเมืองที่ “ชนะเลือกตั้ง” และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนอาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาลเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คนโหวตเลือกนายกประกอบด้วยสภาผู้แทนและวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ผลก็คือ  อาจจะเกิด “โกลาหล” และเกิด “วิกฤติทางการเมือง” ที่กระทบกับดัชนีตลาดหุ้นได้

สุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือความเชื่อของผมเองที่มองว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะการเก็งกำไรสูงมานานและมีหุ้นที่  “อยู่ใน Corner”  จำนวนมาก รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงเกินพื้นฐานไปมาก  รวมแล้วอาจจะสูงถึง 5 แสน-ล้านๆ บาท  ในกรณีที่ตลาดหุ้นซบเซา  เช่นเกิดภาวะวิกฤติตลาดหุ้นโลก  ซึ่งทำให้การเก็งกำไรหายไป  ซึ่งอาจจะทำให้  “Corner แตก”  อย่างเป็นระบบ  นี่ก็อาจจะทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาได้มากถึง 4-5% โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ  ได้

ทั้งหมดนั้น  ก็เป็นเพียงการประเมินถึงปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อดัชนีหุ้นร้ายแรงที่เราควรจับตามอง  แต่เหตุการณ์จริงนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้  หรืออาจจะเกิดขึ้นบางเรื่องหรือบางส่วนและผลกระทบก็อาจจะไม่แรงอย่างที่คิด  ไม่มีใครจะบอกได้  แต่ทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทางด้านลบมากกว่าด้านบวก

อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ไม่คิดที่จะขายหุ้นทิ้ง  เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ผมไม่ได้ซื้อกองทุนรวมที่จะแย่ถ้าตลาดไม่ดี  ผมซื้อหุ้นรายตัวในลักษณะถือยาวคล้ายเป็นเจ้าของธุรกิจที่ผมมั่นใจว่า  บริษัทจะต้องอยู่ได้และมีกำไรและจ่ายปันผลได้แม้ว่าจะประสบกับปัญหาและอุปสรรค  และผมก็ยังเชื่ออีกว่า  เรื่องที่ดีหรือร้ายที่เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” นั้น  ไม่ช้ามันก็จะผ่านไป  ไม่ต้องสนใจมาก