หุ้น CPALL-CPF เผชิญแรงขายหนัก หลัง GDP โตต่ำคาด นักลงทุนขายลดเสี่ยง

หุ้น CPALL-CPF เผชิญแรงขายหนัก หลัง GDP โตต่ำคาด นักลงทุนขายลดเสี่ยง

GDP ไตรมาส 4/65 โตต่ำกว่าคาด ส่งผลให้หุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มเกษตร ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มซีพี วันนี้ CPF -1.31% ขณะที่ CPALL -2.64% นักลงทุนเริ่มเทขายอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา 

หลังจากตัวเลข GDP ไตรมาส 4/65 ประกาศออกมาขยายตัวที่ 1.4% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ 3.5% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มเกษตร ปรับตัวลดลง 

โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มซีพี วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) เมื่อเวลา 15.09 น. หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ราคาอยู่ที่ระดับ 22.60 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ -1.31% ขณะที่ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ราคาอยู่ที่ระดับ 64.50 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ -2.64% ซึ่งนักลงทุนเทขายอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับ CPALL ที่ราคาปรับลดลงตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) เกิดจากความผิดหวังของนักลงทุนที่มีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 4/66 ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการบริโภค รวมถึงภาครัฐไม่ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในไตรมาส  2/66 มีแค่ ไตรมาส 1/66 เท่านั้นที่มีโครงการช้อปดีมีคืน จึงทำให้คาดว่าในช่วงไตรมาส 2/66 การเติบโตของกำไรจะลดลงไปอีกหรือไม่ จึงทำให้กลุ่มค้าปลีกปรับตัวลดลง 

อย่างไรก็ตาม ยังมองเป็นผลกระทบระยะสั้น เพราะราคาหุ้นไต่ระดับมาค่อนข้างมากจากก่อนหน้านี้ ที่ปรับขึ้นมาบริเวณ 50 กว่าบาท ขึ้นไปถึง 70 กว่าบาท ถือว่าปรับขึ้นมาเยอะแล้ว บวกกับช่วงนี้เริ่มมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/65 และนักลงทุนเห็นว่า GDP ไตรมาส 4/65 ออกมาค่อนข้างไม่สวย และคาดว่ากลุ่มค้าปลีกงบจะออกมาดีหรือไม่ ส่งผลให้นักลงทุนขายออกมาเพื่อปรับลดความเสี่ยง ก่อนที่จะประกาศงบ น่าจะเป็นเรื่องนี้ที่เป็นปัจจัยหลัก 

โดยนักวิเคราะห์คาดว่า งบ CPALL น่าจะออกมาดี กำไรจะโตทั้งไตรมาส 4/65 และทั้งปี 2565 ที่ 3,873 ล้านบาท ขณะที่ CPF คาดว่าจะกำไรจะเติบโตได้ 4,472 ล้านบาท พลิกขึ้นมาจากการขาดทุนจากปีก่อนหน้า 4,000 กว่าล้านบาท พลิกกลับมาเป็นกำไร ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/65 มีการชะลอตัวลงอยู่ที่ 5,135 ล้านบาท 

แต่ต้องยอมรับว่า ผลประกอบการ CPF อาจจะไม่ได้น่าสนใจมากนัก จะไปสอดรับกับกลุ่มสินค้าเกษตรที่ช่วงนี้ก็ปรับตัวอ่อนลงมา หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ CPF น่าจะคาดหวังเรื่องของผลประกอบการค่อนข้างยาก จึงทำให้ไม่น่าสนใจ 

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า CPF กำไรไตรมาส 4/65 แม้จะอ่อนตัวลงมา แต่เป็นการอ่อนตัวตามฤดูกาลไม่ได้มีปัจจัยที่มีนัยสำคัญเข้ามากดดัน หากย้อนดูช่วงไตรมาส 3/65 จะเห็นว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก แต่พอเข้าไตรมาส 4/65 มีการปรับตัวลดลงบวกกับราคาสัตว์บกในประเทศมีการอ่อนตัวลงมาบ้างประมาณ 1-3% แต่ถือว่าไม่ได้มาก ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศราคาสัตว์บก เช่น เวียดนาม  กัมพูชา รัสเซีย มีการอ่อนตัวลงมาค่อนข้างเยอะ 

ส่วนกำไรปีนี้ คาดว่าน่าจะมีการเติบโตได้ เนื่องจากธุรกิจฟาร์มสัตว์บกในไทย ยังคงได้รับผลบวกปริมาณการเลี้ยงหมูอยู่ในระดับต่ำ จากการเกิดโรคระบาด ASF กว่าที่จะเห็นซัพพลายฟื้นคืนกลับมาอาจจะเป็นช่วงประมาณไตรมาส 4/66 ของปีนี้ ทำให้ซัพพลายเกิดการฟื้นตัวไม่ทัน เพราะฉะนั้นราคาหมูในประเทศก็ยังคงมีระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องอยู่ในปี 2566 นี้ ทั้งนี้ CPF ยังคงแนะนำให้ซื้ออยู่ เพราะราคาของหุ้นในปัจจุบันถือว่า อยู่ในระดับต่ำ 

ขณะที่ CPALL ยังคงไม่มีประเด็นหลัก เนื่องจากในไตรมาส 4/66 ยังคงมีกำไรของการเติบโตอยู่ จากการที่เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมีการเปิดเมือง ทั้งเรื่องปริมาณคนที่มาใช้บริการยังถือว่า อยู่ในอัตราที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้ซื้อในช่วงนี้ เนื่องจากอัพไซด์เหลือไม่เยอะไม่ถึง 10% ต้องรอให้ราคาอ่อนตัวลงมาก่อน และถึงค่อยเข้าซื้อได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์