‘จอร์จ โซรอส’ แทงสวนซื้อหุ้น Silvergate แม้มีข่าวเอี่ยว FTX

‘จอร์จ โซรอส’ แทงสวนซื้อหุ้น Silvergate แม้มีข่าวเอี่ยว FTX

บริษัท Family Office ของจอร์จ โซรอส นักลงทุนมือฉมังชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นซิลเวอร์เกท ธนาคารด้านสกุลเงินดิจิทัล เข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์  จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่ากว่า 57.42 ล้านบาท แม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐชี้อาจมีเอี่ยวกรณี FTX ล้มละลาย

Key Points 

  • บริษัท Family Office ของจอร์จ โซรอส เข้าซื้อหุ้นธนาคารซิลเวอร์เกทแม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนเพราะอาจมีเอี่ยวกรณี  FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ล้มละลาย
  • บริษัทฯ ซื้อหุ้นภายใต้สัญญาแบบ Put Options จำนวน 100,000 หุ้น เข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 57.42 ล้านบาท
  • ย้อนรอยช่วงเวลาก่อน FTX ประกาศล้มละลายจากช่วงต้นถึงสิ้นปี 2565 

Family Office หรือ FO บริษัทรับดูแลสินทรัพย์ของครอบครัวที่ร่ำรวยเพื่อสร้างการเติบโตของจอร์จ โซรอส เจ้าพ่อนักลงทุนระดับตำนาน เปิดเผยว่า กำลังลงทุนเพื่อเดิมพันในธนาคารซิลเวอร์เกท แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น หรือ SI ธนาคารที่เน้นในการให้บริการด้านคริปโตเคอเรนซี ด้วยการซื้อหุ้นบริษัทธนาคารดังกล่าวเข้าพอร์ตโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์  แม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนเพราะเชื่อว่าให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทุจริตของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ซึ่งเป็นที่นิยมมากเป็นอันดับสองรองจาก Binance 

หนังสือชี้ชวนการลงทุนของโซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (ก.ล.ต.) ระบุว่า กองทุนฯ​ ซื้อหุ้นของธนาคารดังกล่าวจำนวน 100,000 หุ้น ภายใต้สัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการขายสินทรัพย์อ้างอิง ณ ราคาที่กำหนด หรือ Put Options คิดเป็นมูลค่า 1.74 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 57.42 ล้านบาท) ในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา  

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ให้ข้อมูลไว้ในบทความ ‘ลักษณะและคุณสมบัติของ Options’ บนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า นักลงทุนที่ซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ใดภายใต้สัญญาแบบ Put Options คือนักลงทุนที่คาดว่าราคาสินทรัพย์เหล่านั้นจะปรับตัวลดลงในอนาคต (Bullish) ดังนั้นหากนักลงทุนสามารถซื้อสิทธิ์ขายสินทรัพย์ดังกล่าวในราคาสูงไว้ได้ ก็มีโอกาสที่จะแสวงหาผลกำไรในอนาคต

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบิสซิเนสอินไซด์เดอร์ ระบุว่า ท่าทีการซื้อหุ้นแบบสวนกระแสข่าวของโซรอสครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนค่อนข้างสูญเสียความเชื่อมั่นต่อหน้าหุ้นดังกล่าว ท่ามกลางเหตุการณ์ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนผู้บริหารธนาคารซิลเวอร์เกทว่าเพราะเชื่อว่าอาจมีเอี่ยวกับการทุจริตของ FTX และ Alameda Research บริษัทการลงทุนเชิงปริมาณซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FTX 

ทั้งกองทุนฯ ยังเข้าซื้อหุ้นบริษัทเทสล่า มอเตอร์ หรือ Tesla ในไตรมาสที่ 4 จำนวน 42,000 หุ้น เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเดิม 47% มาอยู่ที่ 132,000 หุ้นด้วย

ย้อนไทม์ไลน์การล่มสลายของ FTX

  • ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 FTX ประกาศเพิ่มทุน 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท) โดยมี SoftBank กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติของญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมทุน ส่งผลให้มูลค่ารวมของ FTX อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.056 ล้านล้านบาท) 
  • เดือนพ.ค. 2565 Terra แพลตฟอร์มให้บริการทางการเงินแบบไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized Finance) และเจ้าของ Luna หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลล่มสลายเพราะไม่สามารถตรึงค่าเงินเหรียญ UST อยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อเหรียญได้ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เอง นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าส่งผลทำให้บริษัท Alameda Research ขาดทุนตามไปด้วย 
  • วันที่ 22 ก.ค. 2565 FTX ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อ Voyager Digital หนึ่งในโบรกเกอร์คริปโตฯ 
  • 19 ส.ค. 2565 มีรายงานว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่หมุนในบริษัท Alamenda Research คือ FTT ซึ่งเป็นเหรียญของ FTX
  • 6 พ.ย. 2565 ฉางเผิง จ้าว มหาเศรษฐีชาวจีนเจ้าของ Binance ประกาศว่าจะขายเหรียญ FTT ที่ถืออยู่ทั้งหมด โดยคาดว่าเป็นผลจากการรายงานเมื่อวันที่ 19 ส.ค. แม้ FTX ออกมาปฏิเสธภายหลังว่าบริษัทฯ​ อยู่ในสภาวะปกติ
  • 8 พ.ย. 2565 มูลค่าเหรียญ FTT ดิ่งลง 72% จนนักลงทุนแห่ถอนเงินออกจาก FTX ประกอบกับภาพรวมตลาดคริปโตฯ ต่างได้รับผลกระทบไปด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวนักลงทุนจำนวนมากต่างกังวลว่า FTX และ Alamenda Research อาจเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนสภาพคล่อง
  • 9 พ.ย. 2565 Binance ประกาศกลับลำไม่ให้ความช่วยเหลือ FTX หลังเพิ่งจะรับตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและประเมินทรัพย์สิน หรือ Due Diligence เพียง 1 วัน นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า Binance อาจพบความผิดปกติบางอย่างของบริษัทฯ จึงตัดสินใจไม่ให้ความช่วยเหลือ 
  • 10 พ.ย. 2565 FTX ระงับการถอนเงินและการสมัครสมาชิกใหม่ และในวันเดียวกันมีรายงานว่า FTX นำเงินของลูกค้าจำนวนมากไปให้Alamenda Research กู้เพื่อลงทุน
  • 11 พ.ย. 2565 FTX ประกาศยื่นล้มละลายและ แซม แบงก์แมน ฟรายด์ ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด