ChatGPT Chatbot อัจฉริยะ จะมาทดแทนบางอาชีพได้จริงหรือไม่?

ChatGPT Chatbot อัจฉริยะ จะมาทดแทนบางอาชีพได้จริงหรือไม่?

ChatGPT Chatbot อัจฉริยะที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ มีหลายคนเริ่มเกิดความกังวลว่า ในอนาคตอาจจะมาทดแทน search engines อย่าง Google ได้ และจะสามารถเข้ามาทดแทนในบางอาชีพเช่นกัน แท้จริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ต้องติดตาม

ในปี 2023 นี้ ถือว่าเป็นปีที่เขย่าวงการ Tech เป็นอย่างมาก หลังจาก Microsoft ได้ประกาศว่า จะนำ "ChatGPT" ซึ่งเป็นแชทบอตอัจฉริยะขึ้นมาอยู่ใน "Bing" ซึ่งเป็น search engines ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของโลก โดย ChatGPT มีความแตกต่างกับ search engines แบบดั้งเดิม ที่ไม่ใช่แค่การหาเว็บไซต์ หารูปภาพ หาข่าว หาวิดีโอ แบบทั่วๆ ไป แต่เป็นการตอบคำถามในรูปแบบ Dialogue ผู้ใช้งานอยากจะทราบอะไร เพียงแค่พิมพ์คำถามลงไป ChatGPT ก็จะสามารถตอบกลับมาในรูปแบบบทสนทนา เสมือนกับว่าได้พูดคุยอยู่กับผู้ชำนาญในด้านนั้นๆ โดยตรง ซึ่ง ChatGPT ใช้ AI ในการเรียนรู้แบบ Reinforcement Learning เป็นแนวทางการเรียนรู้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับการเรียนรู้ของมนุษย์นั่นคือ เป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก และพยายามค้นหาแนวทางรับมือกับปัญหาหนึ่งๆ ให้ดีที่สุด ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ จนหลายคนเริ่มจะเกิดความกังวลแล้วว่า ChatGPT จะมาทดแทน search engines อย่าง Google หรือจะสามารถเข้ามาทดแทนบางอาชีพในอนาคตได้หรือไม่ 

ความต่าง ChatGPT กับ Google Search

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ChatGPT กับ Google นั้นคือ คำว่า "Ready-to-use answers" ซึ่งคนทั่วไปคงคุ้นเคยกับการเสิร์ช Google แล้วจะได้คำตอบมากมาย โดยเรียงลำดับจากความสัมพันธ์ที่มากไปหาน้อย และผู้ใช้จะต้องคลิกที่ลิงก์เพื่อหาคำตอบด้วยตนเองอีกทีหนึ่ง แต่สำหรับ ChatGPT ถูกออกแบบมาให้เป็น "Ready-to-use answer" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คำถาม และดึงคำตอบจากฐานข้อมูล เรียบเรียงให้เสร็จสรรพจนเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การจัดทริปการเดินทาง, การตอบโจทย์ทางคณิตศาสตร์, การให้ช่วยริเริ่มไอเดียใหม่ๆ กระทั่งการให้ช่วยแก้บักส์ในซอฟต์แวร์ หรือแก้โค้ดในการเขียนโปรแกรมก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้าหากต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การที่ ChatGPT จะมาแทนที่ Google Search ได้ในทันทีอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มพัฒนาและต้องให้เวลา AI ในการเรียนรู้และสะสมฐานข้อมูลไปอีกค่อนข้างมาก โดยการเทรน AI ด้วยโมเดลนี้ต้องใช้ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และยังคงมีข้อผิดพลาดในการตอบคำถาม รวมถึงปัจจุบันข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ยังคงเป็นข้อมูลสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2021 ดังนั้น ข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2021 อาจจะไม่สามารถหาคำตอบให้กับผู้ใช้งานได้ ไม่เหมือนกับ Google Search ที่มีข้อมูลอัปเดตแบบ Real-time

นอกจากนี้ ChatGPT ยังใช้พลังงานในการประมวลผลสูง โดยการตอบคำถามของ ChatGPT 1 คำถาม อาจใช้พลังงานเท่ากับการเสิร์ช Google ถึง 10 ครั้ง ซึ่งมันอาจจะตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้งานจำนวนไม่กี่ล้านคนต่อวัน แต่การจะทำให้เกิดการใช้งานในคนหมู่มากหลักหลายพันล้านต่อวัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอีกหนึ่งข้อจำกัดของมันก็คือ ความยากในการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตอบคำถาม กล่าวคือ ผู้ใช้อาจได้รับคำตอบที่ดีแต่จะไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของคำตอบได้ ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือน้อยลง ซึ่งสุดท้ายผู้ใช้ก็ต้องเอาคำตอบมาตรวจสอบกับ Google อีกครั้งอยู่ดี

ChatGPT Chatbot AI อัฉริยะ จะมาทดแทนบางอาชีพได้จริงหรือไม่?

ถึงแม้ว่า AI จะถูกคาดว่าจะมาทดแทนบางอาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสายการเงิน สื่อ นักกฎหมาย และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ผลการสำรวจของ Bloomberg จากคนทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ในคำถามที่ว่า "คิดว่า AI จะทดแทนอาชีพภายใน 3 ปี ข้างหน้าหรือไม่?" คำตอบของคนส่วนใหญ่มองว่า อาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญสูง อย่างเช่น นักวิจัย นักกลยุทธ์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ เป็นกลุ่มที่มั่นใจมากที่สุดว่า AI จะไม่ทดแทนงานของตัวเองในอีก 3 ปี ข้างหน้า และจำนวน 2 ใน 3 จากกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินค่อนข้างมั่นใจว่า AI จะไม่สามารถทดแทนงานตัวเองได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างที่ทำอาชีพเกี่ยวกับงานขาย ค่อนข้างกังวลว่าจะถูกทดแทนด้วย AI มากที่สุด

ChatGPT Chatbot อัจฉริยะ จะมาทดแทนบางอาชีพได้จริงหรือไม่?

ภาพผลสำรวจจาก Bloomberg ที่แสดงถึงมุมมองการเข้ามาแทนที่ของ AI จากคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ

อีกหนึ่งคำถามที่อยู่ในแบบสำรวจคือ "ใช้ AI ช่วยในการทำงานหรือไม่" คำตอบก็ค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกับคำถามแรก โดยพบว่า อาชีพกลุ่มที่ใช้ความชำนาญสูง อย่างเช่น นักวิจัย นักกลยุทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงนักลงทุนรายย่อย ส่วนมากไม่ได้ใช้ AI ในการทำงาน มีเพียง 12% เท่านั้นที่ใช้อยู่ และมีเพียง 27% ที่กำลังมีแผนที่จะใช้มัน

ChatGPT Chatbot อัจฉริยะ จะมาทดแทนบางอาชีพได้จริงหรือไม่?

ภาพผลสำรวจจาก Bloomberg ที่แสดงถึงการใช้ AI เข้ามาช่วยในการทำงานในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

จากผลสำรวจดังกล่าว คงพอจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่าการที่ AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของคน ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นไวอย่างที่คิด แต่ก็ขึ้นอยู่กับทักษะและลักษณะงานของแต่ละสาขาอาชีพด้วยว่า AI จะพัฒนาจนสามารถทดแทนมนุษย์ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากใครได้ทดลองใช้ ChatGPT แล้ว ก็พอจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า ทำไมอาชีพ "นักขาย" ถึงมีความกังวลมากที่สุด อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมันเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตหากมีการพัฒนาไปมากกว่านี้ อาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง หรือต้องใช้ความชำนาญ ก็อาจมีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วย ChatGPT ได้เช่นกัน

จากการที่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าในอนาคต ChatGPT จะสามารถเข้ามาทำงานแทนคนได้ในบางอาชีพ หรือเข้าทดแทน Search Engines ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เทรนของการใช้ Chatbot อัจฉริยะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีหลายบริษัทให้ความสนใจและหันมาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น Google ที่พัฒนา Chatbot ของตัวเอง ที่มีชื่อว่า "Bard" รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ฝั่งจีนอย่าง Baidu ที่ก็มีข่าวว่าจะเปิดตัว Chatbot ในเดือนมีนาคมเช่นกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตหากเทคโนโลยีดังกล่าวมีความล้ำหน้ามากขึ้น ก็อาจเข้ามาดิสรัปกลุ่ม Search Engines หรือหลายสาขาอาชีพได้ จึงเป็นอีกพัฒนาการสำคัญที่ต้องจับตามองในอนาคต

ที่มา : Bloomberg, openai.com ,oberlo.com & uxplanet.org

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0-2633-6000 กด 4, 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds