หุ้น GOOGLร่วง 7% แม้เพิ่งปล่อย‘Bard’ แชทบอท น้องใหม่คู่แข่ง ‘ChatGPT’

หุ้น GOOGLร่วง 7% แม้เพิ่งปล่อย‘Bard’ แชทบอท    น้องใหม่คู่แข่ง  ‘ChatGPT’

หุ้นของแอลฟาเบต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิลร่วง 7.68%หลังปล่อย ‘บาร์ด’ แชทบอท น้องใหม่ หวังแข่ง ‘แชทจีพีที’ กูรูชี้นักลงทุนเทใจให้หุ้นไมโครซอฟท์ ซึ่งจ่อลงทุนในบริษัท โอเพนเอไอ ผู้ผลิต ‘แชทจีพีที’ ด้านโซเชียลวิจารณ์บาร์ด และแชทจีพีทียังมีข้อมูลผิดอยู่

Key Points:

  • หุ้นของแอลฟาเบต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิลร่วง 7.68% หลังปล่อย ‘บาร์ด’ แชทบอทน้องใหม่ หวังแข่งกับ ‘แชทจีพีที’
  • นักวิเคราะห์ชี้นักลงทุนเทใจให้หุ้นของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนบริษัท ‘โอเพนเอไอ’ ผู้ผลิต ‘แชทจีพีที’ มากกว่า
  • หนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนไววางใจไมโครซอฟท์มากกว่ากูเกิลคือไมโครซอฟท์มีมาร์เก็ตแชร์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดเอไอ แต่กูเกิลรั้งอันดับ 5
  • ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ชี้ระบบแชทบอททั้งสองยังนำเสนอข้อมูลผิด จากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถืออยู่

เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) หุ้นของแอลฟาเบต อิงก์ หรือ GOOGL บริษัทแม่ของกูเกิล ปิดตลาดย่อลงมากกว่า 7% หลังจากที่บริษัทฯ เพิ่งจะเปิดตัว ‘บาร์ด’ แชทบอทจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพียง 1  วันให้หลังการเปิดตัวระบบเอไอที่จะใช้กับ‘บิง’ และ ‘เอ็ดจ์ เบราว์เซอร์’ เสิร์ชเอนจินของไมโครซอฟท์ 

โดยซุนดาร์ พิชัย ประธานบริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ของบริษัทแอลฟาเบต อิงก์ กล่าวในงานเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าวว่า บาร์ดมีความสามารถมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบอก ‘คุณ’ และ ‘โทษ’ ของการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือช่วยวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ  รวมถึงการอัปเดตแอปพลิเคชันผลิตพันธ์ในเครือกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ หรือกูเกิลเลนส์ 

ทั้งนี้ บาร์ดใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ‘โมเดล LaMDA’ หรือ Language Model for Dialogue Applications ซึ่งเป็นเอไอที่บริษัท ออกแบบให้สามารถพูดคุยกับมนุษย์ผ่านการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งกูเกิลจะทดลองใช้แชทบอทนี้กับกลุ่มทดลองในวงจำกัด ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า สาเหตุหลักที่เมื่อวานนี้หุ้นของแอลฟาเบต อิงก์ปรับตัวลดลงมากกว่า 7% รวมทั้ง ณ วันนี้เวลา 10.45 น. ยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องถึง 8.27 ดอลลาร์ (ประมาณ 272.91 บาท) หรือ 7.68% มาอยู่ที่ 99.37 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,279.21 บาท) เป็นเพราะนักลงทุนเชื่อมันว่าระบบปัญประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ที่เปิดตัวไปก่อนหน้าอาจเติบโตสดใสมากกว่า เพราะระบบของไมโครซอฟท์เป็นระบบที่พัฒนาโดยบริษัทโอเพนเอไอ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาเดียวกันกลับ ‘แชทจีพีที’ ที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในขณะนี้

หุ้น GOOGLร่วง 7% แม้เพิ่งปล่อย‘Bard’ แชทบอท    น้องใหม่คู่แข่ง  ‘ChatGPT’ ​​​​​​แผนภูมิแสดงส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทต่างๆ ในธุรกิจเอไอ

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือเพราะเหตุใดนักลงทุนจึงมีแนวโน้มชื่นชอบระบบปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์มากกว่า แม้ว่าประชาชนจำนวนหนึ่งต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้งระบบฯ ของไมโครซอฟท์ ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโอเพนเอไอ และบาร์ดของกูเกิลต่างมีปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นเดียวกัน 

คำตอบคือ อาจเป็นเพราะตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ของทั้งสองที่แตกต่างกัน กล่าวคือในปี 2564 ไมโครซอฟท์มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเอไอมากถึง 8.8% หรือ 1,252 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.1316 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากพาลันเทียร์ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลสัญชาติอเมริกัน ในขณะที่กูเกิลยังมีมาร์เก็ตแชร์รั้งอันดับ 5 อยู่ที่ 3.8% หรือ 536 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.7688 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น

ประกอบกับ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังรายงานว่า ไมโครซอฟท์มีแผนลงทุนกับบริษัทโอเพนเอไอเป็นจำนวนเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) หากเป็นความจริง ไมโครซอฟท์จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโอเพนเอไอในอัตรา 49% 

ทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นของกูเกิล โดยเว็บไซต์อินเวสติงดอทคอม ให้ข้อมูลว่า เมื่อวานนี้หุ้นของบริษัทไมโครซอฟท์ หรือ MSFT ปิดตลาดบวก 1.34 ดอลลาร์ (ประมาณ 44.22 บาท) หรือ 0.50% มาอยู่ที่ 268.07 (ประมาณ 8,846.31 บาท)

อย่างไรก็ตาม วันนี้หุ้นดังกล่าว ณ เวลา 11.00 ปรับตัวลดลง 0.83 ดอลลาร์ (ประมาณ 27.39 ดอลลาร์) หรือ 0.31% มาอยู่ที่ 266.73 ดอลลาร์ (ประมาณ 8,802.09) ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องจับตาปัจจัยประกอบต่างๆ อย่างระมัดระวัง

ด้าน นักวิเคราะห์จากเอเวอร์คอร์ ธนาคารเพื่อการลงทุนชาติอเมริกัน กล่าวว่า นักลงทุนอาจกังวล และรีบตัดสินหน้าหุ้นดังกล่าวเร็วจนเกินไป กูเกิลพัฒนาบาร์ดมาหลายปี อาจจำเป็นต้องให้เวลาระบบดังกล่าวเพอร์ฟอร์มก่อน

“อย่างน้อยๆ ผมมองว่าบาร์ดก็ยังเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับระบบที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโอเพนเอไอที่คาดว่าไมโครซอฟท์ให้การสนับสนุน”

แชทจีพีที และบาร์ด 

หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แชทจีพีทีเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเนื่องจากสามารถตอบคำถามในเชิงสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่าคำตอบดังกล่าวรวบรวมมาจากเว็บไซต์มากมาย รวมถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการมาถึงของทั้งแชทจีพีที และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ทำให้ แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน  สองผู้ก่อตั้งบริษัทกูเกิล ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในด้านเสิร์ชเอนจินมาอย่างยาวนานต้องประกาศ ‘สัญญาณแดง’ ภายในองค์กรเพื่อรับมือกับการเข้ามาดังกล่าว จนกระทั่งมีแชทบอทอย่างบาร์ดออกมา 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์แหล่งข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีระบุว่า แม้ปัญญาประดิษฐ์เวอร์ชันล่าสุดของไมโครซอฟท์จะสร้างแรงกดดันให้กูเกิลมหาศาล ทว่าไมโครซอฟซ์ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการสร้างความแตกต่างให้ระบบดังกล่าว 

เบรนต์ ธิลล์ นักวิเคราะห์จากเจฟเฟอรีส์ ธนาคารเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า การพัฒนาระบบเสิร์ชเอนจินของไมโครซอฟท์จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลกลับเข้ามาที่บริษัทอย่างมากในระยะยาว

“แต่ไมโครซอฟท์จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นในการดึงผู้ใช้งานกลับเข้ามาที่บิงอีกครั้ง เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่คนมักใช้งานกูเกิลในการเสิร์ชข้อมูลต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า ในอดีตยังไม่มี ‘เจนเนอเรทีฟ เอไอ’ ใดที่ประชาชนให้ความสนใจมากเท่าแชทจีพีที จนกระทั่งเป็นที่พูดถึงในการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

หุ้น GOOGLร่วง 7% แม้เพิ่งปล่อย‘Bard’ แชทบอท    น้องใหม่คู่แข่ง  ‘ChatGPT’

กราฟแสดงการเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้งานเว็บไซต์โอเพนเอไอและแชทจีพีที

 

จากสถิติพบว่า ภายใน 5 วันแรกของการเปิดตัว มีประชาชนทั่วโลกลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานแชทจีพีทีมากถึง 1 ล้านคน และ 2 เดือนหลังจากนั้น แชทจีพีทีมีผู้ใช้งานแบบแอคทีฟถึง 100 ล้านคน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูบีเอส ขนานนามว่าเป็นแชทบอทที่เติบโตเร็วมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วน ติ๊กต็อกยังใช้เวลาเกือบ 9 เดือนจึงจะมีผู้ใช้งานมากถึง 100 ล้านคน และอินสตาแกรมใช้เวลาเกือบครึ่งปี ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาระบบเอไอของกูเกิลต้องจับตาดูให้ดี

“ติ๊กต็อกยังใช้เวลาเกือบ 9 เดือนจึงจะมีผู้ใช้งานมากถึง 100 ล้านคน และอินสตาแกรมใช้เวลาเกือบครึ่งปี แต่แชทจีพีทีใช้เวลาเพียง 5 วัน”

นักวิเคราะห์มองว่าหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แชทบอทดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้งานได้ฟรี ประกอบกับความสามารถที่หลากหลายตั้งแต่ทำการบ้านให้เด็กนักเรียนไปจนถึงให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วทั้งแชทบอทของไมโครซอฟท์ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทผู้พัฒนาแชทจีพีที และแชทบอทน้องใหม่อย่างบาร์ดก็ยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ดังนั้นนักลงทุนก็ยังจำเป็นต้องจับตาการปรับปรุงระบบของทั้งสองบริษัท พร้อมกับจับตาการเติบโตของบาร์ด แชทบอทน้องใหม่ของกูเกิลว่าจะเติบโตในอัตราเดียวกับแชทจีพีทีและเว็บไซต์โอเพนเอไอหรือไม่